พระเครื่อง คือพระพิมพ์ขนาดเล็กเหมาะแก่การพกติดตัวหรือแขวนไว้ที่หน้ารถ พระเครื่องมีทั้งที่เป็นพิมพ์พระพุทธเจ้า เช่น พระสมเด็จ พระนางพญา พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอ พระรอด พิมพ์พระสาวกในสมัยพุทธกาล เช่น พระสีวลี พระสังกัจจายน์ พระสงฆ์ในยุคปัจจุบัน เช่น เหรียญหลวงปู่ศุข เหรียญหลวงปู่ฝั้น พระเครื่องมีการสร้างด้วยเนื้อต่าง ๆ มีทั้งพระเนื้อทองคำ พระเนื้อดิน พระเนื้อชิน พระเนื้อผง
เหตุผลในการสร้างพระเครื่อง
- สร้างพระเครื่องเป็นพุทธบูชา
การสร้างพระเครื่องเพื่อเป็นพุทธบูชามีมานานนับพันปีแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว มีการนำสิ่งของที่พระพุทธเจ้าเคยใช้มีบาตร จีวรเป็นต้น มาบรรจุในพระเจดีย์เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึง เพื่อสักการะบูชา เรียกว่า บริโภคเจดีย์ แต่กลุ่มคนหรือสถานที่ที่ไม่สามารถหาสิ่งของเหล่านั้นได้มาบรรจุเป็นบริโภคเจดีย์ได้ จึงมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ จนถึงขนาดเล็กที่เรียกว่าพระเครื่องเพื่อเป็นพุทธบูชาและไว้สักการะบูชาเป็นอุทเทสิกเจดีย์ - สร้างพระเครื่องเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
ข้อนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อที่ 1 คือนอกจากสร้างพระพุทธรูป สร้างพระเครื่องเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังถือว่าการสร้างพระเครื่องเพื่อบรรจุไว้ในพระเจดีย์นั้นเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาจากรุ่นสู่รุ่นในลักษณะของอุทเทสิกเจดีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้สักการะบูชาและหวงแหนรักษาไว้ต่อไป - สร้างพระเครื่องเพื่อหวังพุทธคุณ
มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็กหรือที่เรียกว่าพระเครื่องมาแต่สมัยโบราณ (โบราณหมายถึงก่อนที่เราเกิดมาหลายร้อยปีหรือพันปี) เพื่อหวังในพุทธคุณด้านคุ้มครองป้องกันอันตราย นำความเป็นสิริมงคลมาให้ เช่น สร้างพระรอดเพื่อบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย สร้างพระกรุบ้านกร่างเพื่อแคล้วคลาดปลอดภัย - สร้างพระเครื่องเพื่อเป็นที่ระลึก
เป็นการสร้างพระเครื่องในวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น สร้างวาระครบ 100 ปี ของการสร้างวัด สร้างในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของพระเถระ เช่น เหรียญ 100 ปี หลวงปู่มั่น สร้างในวาระครบ 100 ปีแห่งการมรณภาพ เช่น พระชุด 100 ปี วัดระฆังโฆสิตาราม สร้างในวาระพระเกจิมีอายุครบ 72 ปี เช่น พระนาคปรกใบมะขามหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ รุ่นแซยิด 72 ปี 2537 - สร้างพระเครื่องเพื่อความสามัคคี
คนที่มีความเชื่อความศรัทธาในลักษณะเดียวกันทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งย่อมพลังความสมัคคีขึ้น การสร้างพระเครื่องเพื่อบรรจุในพระเจดีย์เป็นพุทธบูชาก็เหมือนกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มชนนั้น ๆ เกิดพลังในในการดำเนินชีวิต เกิดพลังใจในการต่อสู้ต่อไป - สร้างพระเครื่องเพื่อแจกจ่ายเป็นทาน
การสร้างพระเครื่องเพื่อแจกจ่ายเป็นทานนี้ พระเกจิยุคเก่าหลายรูปท่านทำกัน เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม สร้างพระสมเด็จแจก เจอใครก็แจก แจกเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้กลายเป็นจักรพรรดิ์แห่งพระเครื่องมีราคาค่านิยมเป็นล้านแล้ว หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยา สร้างพระพิมพ์ประทับสัตว์แจกจ่ายญาติโยม วันไหนที่ท่านจะแจกพระ ท่านจะประกาศล่วงหน้า เตรียมกับข้าวไว้เลี้ยงคนที่มารับแจกพระด้วย - สร้างพระเครื่องเพื่อสร้างวัด
จุดเริ่มต้นก็อยู่ว่า เมื่อเสนาสนะภายในวัดทรุดโทรมลง ทางวัดมีความประสงค์จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ไม่มีงบประมาณ ครั้นจะขอเรี่ยไรก็ดูกะไรอยู่ จึงมีการสร้างวัตถุมงคลแจกจ่ายให้ผู้ร่วมบริจาคทำบุญ ซึ่งก็อยู่ 2 ลักษณะ คือ
1. แจกจ่ายฟรี รับไปฟรี แล้วแต่ใครจะร่วมทำบุญ คือแจกไปก่อน ใครจะบริจาคหรือไม่บริจาคก็ตามศรัทธา
2. ให้แก่ผู้ร่วมบริจาคโดยไม่เจาะจงจำนวนราคาทรัพย์ หมายความว่าต้องมีการบริจาคทรัพย์ทำบุญก่อนน้อยมากไม่สำคัญ แล้วจึงได้พระเครื่องไป
3. ให้แก่ผู้บริจาคตามจำนวนทรัพย์ ข้อนี้มีการเจาะจงเข้าไป เช่น บริจาค 10,000 บาท ได้พระเนื้อทองคำ บริจาค 5,000 บาท ได้พระเนื้อเงิน บริจาค 100 บาท ได้พระเนื้อผง
7 เหตุผล ทำไมต้องมีการสร้างพระเครื่องที่ผมได้นั่งคิดและเขียนเองในวันนี้ น่าจะเป็นแนวทางแห่งการศึกษาได้ แต่ทุกวันนี้ ยอมรับว่ามีการสร้างพระเครื่องมากกว่า 7 เหตุผลที่ผมให้มานี้ เช่น สร้างพระเครื่องออกมาขายโดยเฉพาะเจาะจงทั้งที่มีพุทธาภิเษกและไม่ได้ทำพิธี อย่างที่เราเห็นทั่วไปในตลาดท่าพระจันทร์ ตลาดข้างวัดราชนัดดา ตามร้านค้าในบริเวณเสาชิงช้า และบนอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์ต่าง ๆ มีให้สั่งจองอยู่บ่อย ๆ นอกจากนั้นยังมีการสร้างพระเครื่องเลียนแบบพระที่มีราคาค่านิยมสูงที่วงการเรียกว่า พระเก๊ อีกด้วย