ผมเป็นคนที่สนใจความหมายของศัพท์เดิม โดยเฉพาะภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาในพระพุทธศาสนา หรือภาษาบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก และคนไทยนำมาใช้เป็นภาษาไทย แต่หลายคำเมื่อถูกนำมาใช้ในภาษาไทยความหมายเปลี่ยนไป ฉะนั้น เราต้องศึกษาความหมายในภาษาเดิมประกอบบด้วย
คำว่า “มารศาสนา” เราอาจจะได้ยินบ่อย แต่จะมีสักกี่คนจะเข้าใจความเป็นมาของคำว่า “มารศาสนา” แต่จะมีสักคนจะเข้าใจความหมายและความเป็นมาของคำว่า “มารศาสนา”
เรามาศึกษาคำว่า “มารศาสนา” ที่อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัยได้วิเคราะห์ศัพท์ไว้
มารศาสนา
อ่านว่า มาน-สาด-สะ-หฺนา
คำบาลีที่เอามาใช้อย่างคำไทย
(๑) “มาร”
บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ม-(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”
: มรฺ + ณ = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้
(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย
สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาร, มาร– : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”
(๒) “ศาสนา”
บาลีเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ส-(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)
: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”
คำว่า “สาสน” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) คำสอน หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา” (teaching)
(2) คำสั่ง ในทางปกครองบังคับบัญชา (order to rule, govern)
(3) ข่าว คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” หรือ “สาสน์” (message)
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ศาสน-, ศาสนา : (คำนาม) ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คําสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน).”
มาร + ศาสนา = มารศาสนา เป็นคำประสมแบบไทย แปลว่า “คนที่ทำความชั่วร้ายกับศาสนา” หมายถึงคนที่ทำทุจริตผิดศีลธรรมกับวัดหรือกับพระสงฆ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัดหรือพระสงฆ์ หรือทำความเสื่อมศรัทธาในลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจเป็นคนภายนอกเข้าไปทำ หรืออาจเป็นคนภายในวัดหรือภายในหมู่สงฆ์เป็นผู้ทำขึ้นเองก็ได้
ใน พจน.54 มีคำที่มีความหมายคล้ายๆ กันคำหนึ่ง คือ “มารสังคม” หมายถึง ผู้ที่เป็นภัยต่อสังคม
“มารศาสนา” ก็ควรหมายถึง ผู้ที่เป็นภัยต่อศาสนานั่นเอง
: คนที่ทำชั่วกับพระศาสนาได้
: ไม่มีชั่วชนิดไหนที่เขาจะไม่ทำ
————–
(ตามคำขอของ จงสุภาพอ่อนโยน แม้แต่กับคนที่หยาบคาย)
19-2-59
ที่มา : มารศาสนา (บาลีวันละคำ 1,360)
facebook ทองย้อย แสงสินชัย