บทความนี้ จะรวบรวมไม้มงคลต่าง ๆ ที่นิยมนำมาแกะเป็นวัตถุมงคลทุกชนิด เริ่มตั้งแต่พระพุทธรูปไม้แกะ เทวรูป จนถึงเครื่องรางอื่น ๆ อย่างเช่น ชูชก นกสาริกา
ตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์แรกนั้นสร้างจากไม้จันทร์ ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกาว่า “เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาดาวดึงส์เทวโลกนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งกรุงสาวัตถีทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก พระองค์จึงสั่งให้นายช่างหลวงทำการแกะสลักรูปคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยไม้แก่นจันทน์หอมอย่างดี แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในพระราชนิเวศน์เพื่อทำการสักการบูชา ดังนั้น พระพุทธรูปไม้แก่นจันทร์องค์นี้ จึงนับว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จกลับเทวโลก และได้มาทรงเสด็จเยี่ยมพระเจ้าปเสนทิโกศลในพระราชนิเวศน์ พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์องค์นั้นก็ได้แสดงปาฏิหาร ลอยจากพระแท่น เพื่อให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงห้ามรูปเปรียบพระองค์นั้นไม่ให้ลอยไปที่อื่น นอกจากนั้นยังได้ทรงตรัสถึงอานิสงส์ในการสร้างพระพุทธรูปให้พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงสดับอีกด้วย” เรื่องพระพุทธรูปองค์แรกที่สร้างจากไม้จันทร์หอมนี้นักโบราณคดีอาจจะถือว่าเป็นแค่ตำนาน ยังหาหลักฐานอะไรไม่ได้ เพราะนักโบราณคดีทั้งหลาย เขาจะเชื่อตามหลักฐานที่เขาสืบค้นถึงเท่านั้น เรื่องใดเขาสืบค้นไม่ถึง ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ใช่เรื่องจริง เพียงแต่เขายังไม่เจอหลักฐานในการสืบค้นเท่านั้นเอง
จากพระพุทธรูปไม้จันทร์ สู่ไม้มงคลนามต่าง ๆ
อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น จากพระพุทธรูปไม้จันทร์ ต่อมาได้มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้มงคลนามตามความเชื่อท้องถิ่น แต่คติการสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้หรือด้วยวัสดุใด นั้น ไม่ใช่เป็นการสร้างรูปเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีใครเคยเห็นพระพุทธเจ้า แต่เป็นการสร้างพระพุทธรูปเพื่อสื่อความหมายถึงพระพุทธเจ้า เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า ในการระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเพื่อกราบสักการะบูชา ฉะนั้น การสร้างพระพุทธรูปจึงมีความแตกต่างกันบ้างตามความสามารถแห่งช่าง และตามศิลปะของแต่ละท้องถิ่น เช่น ศิลปะของไทย พม่า ลาว กัมพูชา แม้ของไทยด้วยกันก็ย่อมมีศิลปะที่แตกต่างกันในแต่ละยุคในแต่ละสมัย เชียงแสนเป็นอีกแบบหนึ่ง สุโขทัยเป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น สำหรับการสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้นั้น คนไทยอีสานนิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้มงคล คือไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลที่สื่อถึงความร่มเย็นเป็นสุข สุขภาพแข็งแร็ง หรือเกี่ยวข้องกับ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือเป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติ ไม้ที่นิยมนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูป ได้แก่
- ไม้โพธิ์ เป็นต้นไม้ชั้นสูง เป็นต้นไม้ที่ความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นไม้โพธิบังลังก์ในการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าไม้โพธิ์ คือไม้แห่งการตรัสรู้ธรรม ในสมัยโบราณนั้นจึงนิยมนำกิ่งไม้โพธิ์ที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก หรือนำต้นโพธิ์นิพพาน (ต้นโพธิ์ที่ตายตามอายุขัย) นำมาแกะเป็นพระพุทธรูป นำรากของต้นโพธิ์ที่ชี้ไปทางทิศตะวันออกมาแกะสลักเป็นรูปพระอสีติมหาสาวก
- ไม้คูน หรือภาษากลางเรียกว่าต้นราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่มีดอกสีเหลืองสวยงาม คำว่า คูน ในภาษาท้องถิ่นอีสาน หมายถึงการค้ำคูน ทำให้สูงขึ้น ดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายถึงความเป็นสิริมงคล ความอยู่เย็นเป็นสุข ความอยู่ดีกินดี ไม่ทุกข์ร้อน ชาวบ้านจึงนิยมใช้ส่วนกิ่งคูนและลำต้นคูนนำมาแกะสลักเป็นพระรูปไม้ เพื่อนำมากราบไหว้สักการะบูชา
- ไม้ยอ ต้นยอนั้นมี อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ยอบ้านและยอป่า ยอบ้านเป็นต้นไม้ที่มีใบใหญ่ ผลและใบยอใช้รับประทานได้ คำว่า ยอ หมายถึง การยกย่อ หรือการยกย่องสรรเสริญนั่นเอง การนำต้นยอมาทำพระพุทธรูปไม้ ก็ด้วยหวังอานิสงส์ความเป็นมงคลแห่งชื่อไม้นี้ สื่อให้คนนิยมชมชอบ ยกย่องสรรเสริญเยินยอ ซึ่งก็ใช้ได้ทั้งไม้ยอบ้านและไม้ยอป่า
- ไม้จันทร์ (แก่นจันทร์) ไม้จันทร์นั้นมีตำนานเกี่ยวข้องกับสร้างพระพุทธรูปมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรียกว่า ตำนานพระแก่นจันทร์ เป็นตำนานที่เก่าแก่ เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์แรกถูกสร้างขึ้นมาด้วยไม้แก่นจันทร์แดง และยังได้สร้างขึ้นในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์อยู่ และในตำนานนั้นยังได้กล่าวว่าพระพุทธองค์ยังได้ทรงอนุโมทนาด้วย ถึงแม้ว่าตำนานการสร้างพระพุทธรูปแก่นจันทร์นี้จะขัดกับหลักฐานทางศิลปกรรมหรือโบราณคดีก็ตาม แต่ตำนานพระพุทธรูปแก่นจันทร์นี้ก็ยังคงเป็นที่เชื่อถือสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน และยังมีความเชื่อว่าไม้แก่นจันทร์หอมเป็นไม้มงคล นำมาซึ่งความสงบสุขร่มเย็น เป็นเมตตามหานิยมแก่คนทั่วไป จึงได้นำมาสร้างพระพุทธรูปสืบต่อมา
- ไม้พยุง ต้นพยุงเป็นไม้ชื่อมงคล เพราะคำว่า พยุง มีความหมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การนำไม้พยุงมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป จึงเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความช่วยเหลือเกื้อกูลจากคนอื่นให้มั่งมีศรีสุข เจริญด้วยลาภยศ สรรเสริญ หรือสิ่งที่น่าพอใจเป็นต้น
- ไม้ขนุน คำว่า ขนุน มีเสียงคล้ายกับความว่าหนุน ซึ่งหมายถึงการหนุนให้สูงขึ้น ดีขึ้น เด่นขึ้น ไม่ให้ตกต่ำ หรือหมายถึงการได้รับความเกื้อหนุนจุนเจือ จึงนิยมนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูป เพื่อหวังอานิสงส์ตามความหมายข้างต้น
- ไม้กระโดน คำว่า โดน ในภาษาอีสานนั้นแปลว่า นาน การที่ชาวบ้านนำไม้กระโดนมาแกะพุทธรูปนั้น เชื่อว่าจะให้ผู้แกะหรือผู้ทำการสักการะบูชามีอายุที่ยืนนาน ตามความหมายของชื่อไม้
- ไม้มะขาม ไม้มะขามเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านที่แข็งแรง ไม้มะขามที่มีอายุนาน แก่นจะมีสีดำ แต่ก็ไม่ได้มีแก่นสีดำทุกต้น ไม้มะขามต้นไหนที่มีแก่นสีดำชาวบ้านนิยมนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป เชื่อว่าจะทำให้มีอายุยืนยาว และมีรูปร่างแข็งแรง เป็นที่น่าเกรงขามแก่คนทั่วไป
- ไม้สัก ไม้สักที่นิยมนำแกะเป็นพระพุทธรูป จะเป็นไม้สักทอง ซึ่งเป็นไม้ที่มีคุณค่าราคาแพง ที่นำมาแกะเป็นพระพุทธรูป หวังอานิสงส์ตามชื่อ คือนำมาซึ่งทอง หรือสิ่งที่น่ายินดี นั่นหมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เจริญด้วยยศ สุข สรรเสริญ เป็นต้น
- ไม้ตะเคียน ตะเคียนเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ตะเคียนที่นิยมนำมาแกะเป็นพระพุทธรูปนั้น คือไม้ตะเคียนทอง หวังอานิสงส์เช่นเดียวกับไม้สักทอง และยังมีความเชื่อว่า ไม้ตะเคียนเป็นไม้อาถรรพ์ เป็นที่สิงสถิตหรือเคยเป็นที่สิงสถิตของรุกขเทวดามาก่อน จึงเป็นไม้แห่งความเป็นมงคลด้วยประการหนึ่ง