Menu
พระคุ้มครอง
  • Home
  • ทำบุญ
  • ธรรมะ
  • คาถา
  • นิทาน
  • ตำนาน
  • เรื่องผี
  • นำโชค
  • ทายนิสัย
  • เรียกจิต
  • พระเครื่อง
  • เครื่องราง
  • ประเพณี
  • นานาสาระ
  • เกี่ยวกับเว็บไซต์
พระคุ้มครอง

การให้ทาน เป็นหนึ่งในมงคลอันสูงสุด

Posted on 1 ตุลาคม 20221 ตุลาคม 2022 by พระเครื่อง พระคุ้มครอง
การให้ทาน
การให้ทาน

การให้ทาน เป็นหนึ่งในมงคลอันสูงสุด

การ​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​มงคล​อัน​ประเสริฐ ถาม​ว่า​เหตุ​ไร​บุคคล​จึง​คิด​ให้​ทาน แก้​ว่า​เพราะ​สาเหตุ ๒ ประการ​คือ

๑. มี​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ​ความเห็น​ชอบ

๒. มี​ความ​ไม่​โลภ

คำ​ว่า​มี​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ หมาย​ถึง​มี​ปัญญา​พิจารณา​เห็น​บาป​บุญ­คุณ​โทษ ประโยชน์​และ​ไม่​ใช่​ประโยชน์​ใน​เบื้องหน้า เห็น​ว่า​การ​ให้​ทาน​รักษา​ศีล​ภาวนา​ย่อม​ได้​บุญ​กุศล​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​สุข เห็น​ว่า​การ​ละเมิด​ศีล​เป็น​บาป​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ทุกข์ ดังนี้​ชื่อ​ว่า​มี​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ เมื่อ​บุคคล​อาศัย​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ​และ​ความ​ไม่​โลภ​คิด​จะ​บริจาค​ทาน ทาน​นั้น​ย่อม​จะ​มี​ผล​มาก ถ้า​มี​คำ​ถาม​ว่า​ทาน​จะ​มี​ผล​มาก​นั้น​ต้อง​ประกอบ​ด้วย​สิ่ง​ไร​บ้าง ก็​ตอบ​ว่า​สำหรับ​ผู้​บริจาค​ทาน​ต้อง​ประกอบ​ด้วย เจตนา​สัมปทา หมาย​ถึง​ผู้​บริจาค​ทาน​มี​จิต​ศรัทธา เลื่อมใส​ใน​การ​ให้​ทาน​ไม่​เสียดาย​วัตถุ​ข้าวของ​ใน ๓ กาล​คือ

เจตนาในการให้ทาน ทั้ง ๓ กาล

๑. บุ​พพเจตนา คือ​ก่อน​ให้​ทาน​ก็​มี​ความ​ศรัทธา​เลื่อมใส​เตรียม​พร้อม​เตรียม​ตัว​เตรียม​การ​ที่​จะ​ให้​ทาน​ด้วย​ความ​เบิก­บาน​หรรษา

๒. มุ​ญ​จน​เจตนา คือ​ขณะ​ให้​ก็​ร่าเริง​ปิติ​ศรัทธา​ไม่​เสียดาย​สิ่งของ​สยิ้ว​นิ่ว​หน้า

๓. อปรา​ปรเจตนา ครั้น​เมื่อ​ให้​ทาน​ผ่าน​ไป​แล้ว​เมื่อ​ย้อน​นึก​ถึง​การ​ให้​ทาน​ครั้ง​นั้น​เมื่อใด​ก็​เกิด​ปิติ​ชื่นชม​โสมนัส​ไม่​รู้สึก​เสียดาย

เมื่อ​เจตนา​พร้อม​ทั้ง ๓ กาล​คือ​ก่อน​ให้​ขณะ​ให้หลัง​ให้ ท่าน​เรียก​ว่า เจตนา​สัมปทา คือ​ถึง​พร้อม​ด้วย​เจตนา สำหรับ​วัตถุ​ที่​นำ​มา​บริจาค​ต้อง​เป็น​วัตถุ​ที่​ได้​มา​โดย​บริสุทธิ์ ไม่​ผิด​ศีล​ผิด​ธรรม​ได้​มา ชื่อ​ว่า​วัตถุ​สัมปทา ฉะนั้น​ถ้า​ฝ่าย​ทายก​คือ​ผู้​ให้ ถึง​พร้อม​ด้วย​องค์ ๒ ดัง​กล่าว​มา​ข้าง​ต้น​คือ​เจตนา​สัมปทา​และ​วัตถุ​สัมปทา ย่อม​ทำให้​ทาน​มี​ผล​มาก​มี​อานิสงส์​มาก ยิ่ง​ถ้า​ผู้​รับ​เป็น​พระ​อรหันต์​เพิ่ง​ออก​จาก​สมาบัติ​ย่อม​จะ​มี​ผล​ทันตา​เห็น​ภายใน​เจ็ด​วัน​หรือ​ภายใน​ชาติ​นี้ สำหรับ​การ​ให้​ทาน​ถ้า​แบ่ง​ตาม​ผู้​รับ​แบ่ง​ได้​เป็น ๒ คือ

ทาน ๒ ประเภท แบ่งตามผู้รับ

๑. ปา­ฏิ­ปุค­ค­ลิ­ก­ทาน คือ​การ​ให้​ทาน​ที่​เจาะจง​ตัวผู้​รับ​ตาม​ความ​ชอบใจ​ของ​ผู้​ให้​ทาน

๒. สังฆทาน คือ​การ​ถวาย​ทาน​แก่​หมู่​สงฆ์​ไม่​เจาะจง​ผู้​รับ

ใน​ทาน​ทั้ง ๒ นั้น​สังฆทาน​ย่อม​มี​ผล​อานิสงส์​ยิ่งใหญ่​มาก​กว่า​ปา­ฏิ­ปุ­ค­ลิก­ทาน สำหรับ​ปา­ฏิ­ปุ­ค­ลิก­ทาน​นั้น​ถ้า​จะ​มี​ผล​มาก ผู้​ให้​จะ​ต้อง​ถึง​พร้อม​ด้วย​เจตนา​สัมปทา ทั้ง ๓ กาล ส่วน​ผู้​รับ​ก็​ต้อง​ประกอบ​ด้วย​องค์ ๓ คือ

ผู้รับทาน ประกอบด้วยองค์ ๓ มีอานิสงส์มาก

๑. ปราศจาก​ราคะ หรือ​กำลัง​ปฏิบัติ​เพื่อ​ละ​ราคะ

๒. ปราศจาก​โทสะ หรือ​กำลัง​ปฏิบัติ​เพื่อ​ละ​โทสะ

๓. ปราศจาก​โมหะ หรือ​กำลัง​ปฏิบัติ​เพื่อ​ละ​โมหะ

(ถ้าผู้รับทานไม่ได้ประกอบด้วยองค์ ๓ ก็มีอานิสงส์เช่นกัน แต่เป็นทานที่มีอานิสงส์น้อยกว่า)

สำหรับ​การ​ถวาย​สังฆทาน​ให้​มี​ผล​สมบูรณ์​นั้น ให้​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​ตั้ง​จิต​อุทิศ​ทาน​ว่า​เรา​ถวาย​ทาน​บูชา​แด่​พระ​อริ­ย­เจ้า อย่า​คิด​ว่า​เรา​ถวาย​ทาน​แด่​ภิกษุ​ปุถุชน การ​ถวาย​สังฆทาน​ใน​ปัจจุบัน​สมัย​นี้​มี ๒ แบบ​ คือ

๑. ถวาย​แก่​ภิกษุ​สงฆ์ คือ​อาราธนา​นิมนต์​พระ​ภิกษุ​สงฆ์​มา​รับ​ทาน​ตั้งแต่ ๔ รูป​ขึ้น​ไป ตั้งใจ​ถวาย​เป็น​สังฆทาน

๒. ไป​บอก​ขอ​นิมนต์​พระ​ภิกษุ ๑ รูป ๒ รูป​หรือ ๓ รูป​จาก​คณะ​สงฆ์​ใน​อาวาส​ใด​อาวาส​หนึ่ง​โดย​ไม่​จำเพาะ​เจาะจง​ว่า​เป็น​พระ​ภิกษุ​รูป​ใด ทาง​คณะ​สงฆ์​ก็​จะ​จัด​พระ​ภิกษุ​ตาม​คิว​ที่​จัด​กัน​ไว้​ใน​อาวาส​มา​ให้​เรา

อนึ่ง​เมื่อ​เรา​ผู้​ให้​ทาน​นั้น​ไป​ขอ​ภิกษุ​มา​รับ​สังฆทาน​แล้ว ทาง​คณะ​สงฆ์​จะ​จัด​ส่ง​พระ​เถระ​มา​ก็​ดี จัด​ส่ง​พระ​ภิกษุ​หนุ่ม​สามเณร​น้อย​ก็​ดี เรา​จง​อย่า​ดีใจ​เสียใจ​ว่า​ได้​ภิกษุ​ที่​เรา​ชอบ​หรือ​ไม่​ชอบ เพราะ​ว่า​ถ้า​เรา​ดีใจ​หรือ​เสียใจ​จะ​ไม่​เป็น​สังฆทาน ให้​ทำ​จิต​เป็นกลาง​ไม่​ดีใจ​เสียใจ แล้ว​ตั้งใจ​อุทิศ​ถวาย​ทาน​บูชา​แด่​พระ​อริ­ย­เจ้า การ​ให้​ทาน​ของ​เรา​ก็​จะ​เป็น​สังฆทาน​สมใจ ด้วย​ว่า​สังฆทาน​นี้​มี​ผล​มาก​มี​อานิสงส์​มาก​กว่า​ทาน​ที่​เจาะจง​ให้​แก่​คน​ที่​เรา​ชอบใจ พระ​พุทธ­องค์​ทรง​ตรัส​แสดง​อานิสงส์​แห่ง​ทาน​เป็น​ลำดับ​ขั้น​ไป​ดังนี้​คือ

อานิสงส์ของการให้ทานมากน้อยตามผู้รับ

บุคคล​ให้​ทาน​แก่​สัตว์​เดียร​ฉาน​ ๑๐๐ ​หน ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่คน​ทุศีล​ ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​คน​ทุศีล ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​คน​มี​ศีล ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​คน​มี​ศีล ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​พระ​โสดาบัน ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​พระ​โสดาบัน ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​พระ​สกิทาคามี ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​พระ​สกิทาคามี ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่พระ​อนาคามี ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​​พระ​อนาคามี ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​พระ​อรหันต์ ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​พระ​อรหันต์ ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่พระ​ปัจ­เจก­พุทธ­เจ้า ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​​พระ​ปัจ­เจก­พุทธ­เจ้า ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่พระ​สัมมา­สัม­พุทธ­เจ้า ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​​พระ​สัมมา­สัม­พุทธ­เจ้า ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ถวาย​สังฆทาน ๑ หน
บุคคล​ถวาย​สังฆทาน ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ถวาย​วิหาร​ทาน ๑ หน (วิหาร​ทาน​คือ​การ​ก่อสร้าง​กุฏิ​วิหาร​ศาลา​อุโบสถ​เสนาสนะ​ที่​อยู่​ที่​อาศัย​ถวาย​แก่​วัดวา​อาราม)
บุคคล​ถวาย​วิหาร​ทาน ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​มี​จิต​ศรัทธา​รับ​พระ​ไตร­สรณาคมน์​คือ​พระ​พุทธ​พระ​ธรรม​พระ​สงฆ์​เป็น​สรณะ​ที่พึ่ง ๑ หน
บุคคล​รับ​พระ​ไตร­สรณาคมน์ ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับการ​สมาทาน​ศีล ๕ ประการ ๑ หน
บุคคล​​สมาทาน​ศีล ๕ ประการ ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับการ​ตั้ง​จิต​แผ่​เมตตา​ไป​ใน​สรรพ­สัตว์​ทั้ง​หลาย​ทั้ง​ปวง​ชั่ว​เวลา​เพียง​รีด​นม​โค ๑ หน
บุคคล​แผ่​เมตตา​ชั่ว​เวลา​รีด​นม​โค ๑ หน หน​ ไม่​เท่ากับ​การ​เจริญ​อนิจ­จ­สัญญา​คือ​การ​ระลึก​ถึง​ความ​ไม่​เที่ยง​ของ​สังขาร​รูปธรรม​นามธรรม ชั่ว​เวลา​เพียง​ไก่​ปรบ​ปีก

ทีนี้​ถ้า​มี​คำ​ถาม​ว่า​ทำไม​สังฆทาน​จึง​มี​ผล​มาก พระ​พุทธ­องค์​ทรง​ตรัส​ว่า​สังฆทาน​ย่อม​เป็น​สาธารณะ​ทั่วไป​แก่​พระ​สงฆ์​ทั้ง​ปวง​มี​พระพุทธเจ้า​เป็น​ต้น มี​พระ​สงฆ์​ที่​บวช​ใหม่​เป็น​ที่สุด สังฆทาน​ย่อม​เกื้อ​หนุน​ให้​พระ​สงฆ์​ได้​มี​โอกาส​เล่าเรียน​ศึกษา​ทรง​ไว้​ซึ่ง​พระ​พุทธ​ศาสนา อัน​จะ​ทำ​ความ​ยั่งยืน​แก่​พระ​พุทธ​ศาสนา​ไป​จน​ถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ฉะนั้น​การ​ถวาย​สังฆทาน​จึง​มี​ผล​มาก เพราะ​เป็น​การ​บำรุง​พระ​พุทธ​ศาสนา​ไป​ใน​ตัว

ทาน​อาจ​แบ่ง​เป็น ๒ อย่าง​คือ อามิส​ทาน​และ​ธรรม­ทาน อามิส​ทานคือ​การ​ให้​วัตถุ​ข้าวของ ส่วนธรรม­ทานคือ​การ​ให้​ธรรมะ

ทาน​อาจ​แบ่ง​เป็น ๓ อย่าง​คือ​ทาส­ทาน สหาย​ทาน และ​สามี​ทาน ทาส­ทานหมาย​ถึง​การ​ให้​ของ​ที่​เลว​กว่า​ของ​ที่​เรา​ใช้สอย สหาย​ทานหมาย​ถึง​การ​ให้​ของ​ที่​เสมอ​กับ​ของ​ที่​เรา​ใช้สอย สามี​ทานหมาย​ถึง​การ​ให้​ของ​ที่​ประณีต​กว่า​ของ​ที่​เรา​ใช้สอย ใน​ทาน​ทั้ง ๓ ประการ​นั้น​สามี​ทาน​มี​อานิสงส์​มาก​ที่สุด ส่วน​ทาส­ทาน​มี​อานิสงส์​น้อย​ที่สุด

การ​ให้​ทาน​นั้น​ถ้า​หาก​ผู้​ให้​เป็น​ผู้​มี​ศีล​ด้วย อานิสงส์​แห่ง​ทาน​ก็​จะ​ยิ่ง​มี​มาก ฉะนั้น​ก่อน​การ​ถวาย​ทาน​จึง​นิยม​อาราธนา​ศีล​ก่อน​ด้วย​เหตุ​ฉะนี้ การ​ให้​ทาน​เป็น​การ​ละ​ความ​โลภ การ​รักษา​ศีล​เป็น​การ​ละ​ความ​โกรธ การ​เจริญ​ภาวนา​เป็น​การ​ละ​ความ​หลง ฉะนั้น​พระพุทธเจ้า​เมื่อ​จะ​แสดง​เส้นทาง​ไป​สู่​ทาง​นิพพาน​ย่อม​จะ​สั่งสอน​ให้​เวไนย​สัตว์​รู้จัก​การ​ให้​ทาน​รักษา​ศีล​เจริญ​ภาวนา ฉะนั้น​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​รักษา​ศีล​เจริญ​ภาวนา จง​ปรารถนา​การ​ดับ​โลภ​โกรธ​หลง​จึง​จะ​ตรง​สู่​ทาง​นิพพาน​อัน​เป็น​แดน​พ้น​ทุกข์ ถ้า​ยัง​มัว​ปรารถนา​มนุษย์­สมบัติ​สวรรค์​สมบัติ​อยู่​แล้ว ก็​จะ​เป็น​การ​เนิ่น​ช้า​พา​ให้​เวียน​ว่าย​เกิด​แก่​เจ็บ​ตาย​อยู่​ใน​วัฏ​ฏ­สงสาร​สิ้น​กาล​นาน​ไม่​มี​กำหนด​ที่​จะ​หมด​ชาติ แต่​ว่า​ผู้​ให้​ทาน​เป็น​นิสัย​ก็​ย่อม​จะ​สามารถ​ได้​ซึ่ง​มนุษย์­สมบัติ​และ​สวรรค์​สมบัติ​ได้​ถ้า​หาก​มี​ความ​ปรารถนา สำหรับ​มนุษย์­สมบัติ​สามารถ​เรียง​ลำดับ​แห่ง​ความ​ไพบูลย์​ของ​ผล​ได้​ดังนี้

๑. จะ​ได้​เป็น​พระเจ้า​จักร​พร​รดิ์​อัน​มี​แก้ว​ทั้ง ๗ ประการ​คือ ช้าง​แก้ว ม้า​แก้ว จักร​แก้ว แก้ว​มณี นาง​แก้ว ขุนพล​แก้ว ขุน​คลัง​แก้ว มี​อาณา­เขต​แผ่​ไป ๔ ทิศ
๒. เป็น​กษัตริย์​มี​สมบัติ​บริบูรณ์ มี​ลาภ​ยศ​ปรากฏ​ไป​ใน​อาณา­เขต
๓. เป็น​เศรษฐี​มี​ทรัพย์​มาก​บริบูรณ์​นับ​ด้วย​โกฏิ
๔. เป็น​กฎุมพี​มี​ทรัพย์​มาก​แต่​ไม่​เท่า​เศรษฐี
๕. เป็น​พลเรือน​มี​ทรัพย์​พอใช้​ไม่​ขาด​มือ

แต่​อย่างไร​ก็​ตาม​ท่าน​กล่าว​ไว้​ว่า ขึ้นชื่อ​ว่า​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​จะ​ไป​สู่​ที่​อดอยาก​ขาดแคลน​นั้น​เป็น​ไม่​มี พระ​ศาสดา​ทรง​ตรัส​ถึง​ผล​แห่ง​ทาน​ไว้​กับ​สิง­ห­เสนาบดี​เป็น​ความ​ว่า

๑. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​ที่​รัก​แก่​คน​ทั้ง​ปวง
๒. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​ที่​คบหา​แก่​คน​ทั้ง​หลาย
๓. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​ที่​สรรเสริญ​แก่​มนุษย์​และ​เทวดา
๔. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​มี​ยศ​ใหญ่​มี​บริวาร​มาก
๕. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​ไม่​กลัว​ไม่​เก้อเขิน​เป็น​ผู้​แกล้ว​กล้า​ใน​ประชุม​ชน

การ​ให้​ทาน​ย่อม​ยัง​สามารถ​แยก​เป็น ๒ ประการ​ได้​อีก​คือ​การ​ให้​ด้วย​สงเคราะห์​และ​การ​ให้​ด้วย​การ​บูชา การ​ให้​ด้วย​การ​สงเคราะห์​นั้น​คือ​ให้​แก่​คน​ยากจน​อนาถา​หา​ที่พึ่ง​ไม่​ได้ ให้​แก่​สัตว์​เดียรัจฉาน​ก็​ชื่อ​ว่า​ให้​ด้วย​สงเคราะห์ การ​ให้​ด้วย​การ​บูชา​คือ​ให้​แก่​บิดา​มารดา​ปู่​ย่า​ตา​ยาย​และ​ครู​อุปัชฌาย์​อาจารย์​ทั้ง​หลาย​ที่​มี​คุณ​แก่​ตน​มา​แต่​ก่อน​ก็​ดี ให้​แก่​ท่าน​ผู้​มี​ศีล​มี​ธรรม ภิกษุ​สามเณร และ​ท่าน​ที่​ตั้ง​อยู่​ใน​ฌาน​สมาบัติ​มรรคผล เหล่า​นี้​ชื่อ​ว่า​ให้​ด้วย​การ​บูชา ใน​ทาน​ทั้ง ๒ นี้​ การ​ให้​ด้วย​การ​บูชา​ย่อม​มี​อานิสงส์​มาก​กว่า​การ​ให้​ด้วย​การ​สงเคราะห์

การ​ให้​ทาน​นั้น​ควร​ให้​โดย​เคารพ​ใน​ทาน อย่า​ให้​โดย​ไม่​เคารพ​ประดุจ​เอา​ไป​ทิ้ง ควร​ให้​ด้วย​มือ​ตน​เอง​ยกเว้น​แต่​สุด​วิสัย​จึง​ค่อย​ฝาก​ผู้​อื่น​ไป​ให้ เวลา​ให้​ทาน​ถ้า​มี​โอกาส​ให้​ชักชวน​คน​อื่น​ให้​ร่วม​ด้วย​อย่า​ให้​ทาน​คน​เดียว เพราะ​ถ้า​ให้​ทาน​คน​เดียว​จะ​ขาด​พวกพ้อง​บริวาร​กลาย​เป็น​คน​เดียวดาย​ไร้​ญาติ ขาด​มิตร ถ้า​เรา​ชักชวน​ให้​ผู้​อื่น​ร่วม​ทำ​ทาน​กับ​เรา​ด้วย อานิสงส์​ย่อม​เกื้อกูล​ให้​เรา​ได้​มี​พวกพ้อง​บริวาร ย่อม​มี​ญาติ มี​มิตร มี​ผู้​รู้ใจ มี​ผู้​คอย​ช่วยเหลือ​เกื้อกูล เวลา​เห็น​ใคร​ให้​ทาน​จง​อย่า​ไป​ขัด​ขวาง ถ้า​ไม่​ได้​ช่วย​ก็​จง​นิ่งเฉย​เสีย อย่า​ไป​พูด​ให้​เขา​เสีย​กำลังใจ ถ้า​มี​ส่วน​ช่วย​เขา​ได้​ยิ่ง​ดี ถ้า​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​กล่าว​สรรเสริญ​ชมเชย​ให้​กำลังใจ​ด้วย​วาจา ถ้า​ไม่​มี​โอกาส​กล่าว​วาจา​ให้​อนุโมทนา​พลอย​ยินดี​ด้วย​ใจ เวลา​ให้​ทาน​จง​อย่า​ให้​เพื่อ​เอา​หน้า​เอา​ชื่อเสียง ให้​ตั้ง​จิต​ศรัทธา​ใฝ่​บุญ​กุศล​แล้ว​จึง​ให้​ทาน จง​อย่า​ให้​เพื่อ​จะ​ทวง​บุญ­คุณ​ภายหลัง ให้​แล้ว​ให้​เลย​อย่า​หวัง​ให้​ผู้​รับ​ทาน​มา​ตอบแทน​บุญ­คุณ​เรา เมื่อ​เรา​ได้​ให้​ทาน​ด้วย​ของ​สิ่ง​ใด​ไป ให้​ตัดใจ​ขาด​จาก​ของ​สิ่ง​นั้น​ไป​ทันที​ทันใด​ที่​เรา​ให้​ไป​แล้ว อย่า​ตาม​ไป​ดู ตาม​ไป​หวง ตาม​ไป​ห่วง​กังวล​ต่อ​ของ​ที่​เรา​ให้​ไป​แล้ว เมื่อ​เราให้​ของ​สิ่ง​นั้น​ไป​แล้ว​ผู้​รับ​ทาน​จะ​นำ​ของ​สิ่ง​นั้น​ไป​ทำ​อะไร จะ​นำ​ไป​ใช้ หรือ​นำ​ไป​ทิ้ง​ก็​อย่า​ไป​สนใจ เพราะ​เรา​ขาด​จาก​ของ​สิ่ง​นั้น​มา​แล้ว เรา​ได้​บุญ​มา​แล้ว ของ​สิ่ง​นั้น​ไม่​ใช่​ของ​ของ​เรา​ที่​เรา​จะ​ต้อง​ไป​สนใจ​อีก​ต่อ​ไป ถ้า​เรา​ให้​แล้ว​ตาม​ไป​ดู ตาม​ไป​ห่วง ตาม​ไป​หวง​ของ​ที่​เรา​ให้​ไป​แล้ว ชื่อ​ว่า​เรา​ยัง​ไม่​ได้​ให้ ฉะนั้น​ตั้งแต่​ขณะ​วินาที​ที่​ให้​ทาน​ต้อง​ตัดใจ​จาก​ของ​นั้น​ให้​เด็ดขาด

ต่อ​ไป​จะ​กล่าว​พรรณนา​ถึง​ธรรม­ทาน​การ​ให้​ซึ่ง​พระ​ธรรม ตาม​ที่​พระพุทธเจ้า​ได้​ตรัส​ไว้​ว่า ธรรม­ทาน​ย่อม​ชนะ​เสีย​ซึ่ง​ทาน​ทั้ง​ปวง รส​แห่ง​ธรรม​ย่อม​ชนะ​รส​ทั้ง​ปวง ความ​ยินดี​ใน​ธรรม​ย่อม​ชนะ​ความ​ยินดี​ทั้ง​ปวง ความ​สิ้น​ไป​แห่ง​ตัณหา​ย่อม​ชนะ​ทุกข์​ทั้ง​ปวง ถาม​ว่า​อย่างไร​จึง​ชื่อ​ว่า​ธรรม­ทาน ก็​บุคคล​ใด​เป็น​ผู้​รู้​ธรรม​คำ​สั่งสอน​ของ​พระพุทธเจ้า แล้ว​นำ​มา​ชี้แจง​ให้​ผู้​อื่น​ได้​รับรู้ เพื่อ​จะ​ได้​ละเว้น​จาก​บาป​บำเพ็ญ​กุศล ได้​ยก​ตน​ให้​พ้น​จาก​ทาง​เสื่อม​ทั้ง​ปวง หรือ​ไป​เชื้อเชิญ​ผู้​รู้​ซึ่ง​ธรรม​มา​แสดง​ชี้แจง​ซึ่ง​ธรรม​ให้​ผู้​อื่น​ฟัง เพื่อ​จะ​ให้​ได้​เกิด​ความ​สลด​สังเวช​ใน​สังขาร เกิด​ความ​เลื่อมใส​ใน​คุณ​ของ​พระ​รัตนตรัย หรือ​ว่า​ได้​จัด​สร้าง​หนังสือ​พระ​สูตร​พระ​วินัย พระ​ธรรม พระ​กรรมฐาน แจกจ่าย​ให้​แก่​สัป­บุรุษ​ทั้ง​หลาย​และ​ภิกษุ​สามเณร​ได้​เล่าเรียน​ศึกษา​ให้​สืบ​พระ​ศาสนา​ให้​เจริญ​ต่อ​ไป​ก็​เรียก​ว่า​ธรรม­ทาน มี​อานิสงส์​ใหญ่​กว่า​อามิส​ทาน​เช่น​การ​ให้​วัตถุ​ต่าง ๆ ธรรม­ทาน​จะ​มี​อานิสงส์​ให้​สติปัญญา​แกล้ว​กล้า​เหมือน​พระ​สา­รี­บุตร ท่าน​กล่าว​ว่า​ใน​อดีต­ชาติ​อดีต­กาล​ครั้ง​ศาสนา​ของ​พระพุทธเจ้า​องค์​ก่อน พระ​สา­รี­บุตร​ได้​เกิด​เป็น​กฎุมพี​มี​ศรัทธา​เลื่อมใส​ได้​สร้าง​พระ​ไตร­ปิฎก​ไว้​ใน​พระ​พุทธ​ศาสนา ครั้น​เมื่อ​แตก​กาย​ทำลาย​ขันธ์​ก็​ได้​ไป​บังเกิด​ใน​เท­ว­โลก​สิ้น​กาล​นาน เมื่อ​มา​เกิด​ใน​ศาสนา​นี้​ได้​ออก​บวช​มี​นาม​ว่า​พระ​สา­รี­บุตร มี​สติปัญญา​เฉลียว​ฉลาด​แกล้ว​กล้า​กว่า​พระ​สาวก​ทั้ง​ปวง ก็​ด้วย​อานิสงส์​แห่ง​การ​สร้าง​คัมภีร์​พระ​ธรรม​ไว้​ให้​เป็น​ทาน​ใน​พระ​พุทธ​ศาสนา เพราะ​ฉะนั้น​อุบาสก​อุบาสิกา​อยาก​จะ​ให้​ตน​เป็น​ผู้​มี​ปัญญา จง​สร้าง​หนังสือ​ธรรมะ​แจกจ่าย​เป็น​ทาน​เถิด จะ​เป็น​กุศล​อัน​ประเสริฐ​ทั้ง​ใน​โลก​นี้​และ​โลก​หน้า อนึ่ง​ธรรม­ทาน​ที่​เป็น​โลกิยะ​คือ​แสดง​ธรรม​ชี้​ทาง​มนุษย์​ทาง​สวรรค์​และ​ทาง​พรหม­โลก​เป็น​ที่สุด​ย่อม​มี​ผล​อานิสงส์​น้อย เพราะ​เป็น​ธรรม​นำ​สัตว์​ให้​เวียน​ว่าย​เกิด​แก่​เจ็บ​ตาย​อยู่​ใน​วัฏ​ฏ­สงสาร​ไม่​ให้​สัตว์​ถึง​ซึ่ง​พระ​นิพพาน​ดับ​กอง​ทุกข์​ได้ ส่วน​การ​ให้​ธรรม­ทาน​ที่​เป็น​ทาง​โล­กุต­ต­ระ คือ​แสดง​พระ​ไตรลักษณ์​ญาณ​ปัญญา​พิจารณา​สังขาร​รูปธรรม​นามธรรม​ให้​เห็น​เป็น​อนิจจัง ทุก​ขัง อนัตตา หรือ​แสดง​อริยสัจ​ทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้​เห็น​แจ้ง​ประจักษ์​ด้วย​ปัญญา​อัน​จะ​นำ​ไป​สู่​ทาง​นิพพาน ธรรม­ทาน​อย่าง​นี้​จะ​มี​อานิสงส์​มาก ส่วน​บุคคล​ผู้​แสดง​ธรรม​ควร​ประกอบ​ด้วย​องค์ ๕ คือ

๑. ควร​แสดง​ธรรม​ไป​โดย​ลำดับ​ไม่​ตัด​ลัด​ให้​ขาด​ความ
๒. อ้าง​เหตุผล​แนะนำ​ให้​ผู้​ฟัง​เข้าใจ
๓. ตั้ง​จิต​เมตตา​ปรารถนา​ให้​เป็น​ประโยชน์​แก่​ผู้​ฟัง
๔. ไม่​แสดง​ธรรม​เพราะ​เห็นแก่​ลาภ
๕. ไม่​แสดง​ธรรม​กระทบ​ตน​และ​ผู้​อื่น หมาย​ถึง​ไม่​ยก​ตน​เสียดสี​ผู้​อื่น

เมื่อ​แสดง​ธรรม​ดังนี้ ย่อม​เป็น​ธรรม­ทาน​อัน​ประเสริฐ​แท้ ช่วย​ให้​ผู้​ฟัง​ธรรม​ได้​รับ​อานิสงส์ ๕ ประการ​คือ

๑. ผู้​ฟัง​ย่อม​ได้​ฟัง​สิ่ง​ที่​ยัง​ไม่​เคย​ฟัง
๒. สิ่ง​ใด​เคย​ฟัง​แล้ว​แต่​ยัง​ไม่​เข้าใจ​ชัด​ย่อม​เข้าใจ​สิ่ง​นั้น​ชัด
๓. บรรเทา​ความ​สงสัย​เสีย​ได้
๔. ทำ​ความเห็น​ให้​ถูกต้อง​ได้
๕. จิต​ของ​ผู้​ฟัง​ย่อม​ผ่องใส

สำหรับ​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​เป็น​นิจ ควร​จะ​รู้จัก​วิธีการ​เจริญ​จา­คา­นุส­สติ​ด้วย จา­คา­นุส­สติ​เป็น​กรรมฐาน​กอง​หนึ่ง แปล​ว่า​การ​ระลึก​ถึง​การ​ให้​ทาน​เป็น​อารมณ์ บุคคล​ที่​จะ​เจริญ​จา­คา­นุส­สติ​ให้​ระลึก​ถึง​การ​ให้​ทาน​ของ​ตน​เอง จะ​เป็น​การ​ให้​ทาน​ใน​วัน​นี้ ใน​วัน​ก่อน ๆ หรือ​การ​ให้​ทาน​ครั้ง​ที่​เรา​ประทับใจ​มาก ๆ ก็​ได้ แล้ว​ท่อง​ใน​ใจ​หรือ​จะ​ออก​เสียง​ก็​ได้​ว่า​ดังนี้ “ใน​เมื่อ​ประชาชน​ทั้ง​หลาย​ถูก​มลทิน​คือ​ความ​ตระหนี่​ครอบงำ​อยู่ แต่​เรา​เป็น​ผู้​ปราศจาก​มลทิน​คือ​ความ​ตระหนี่ เป็น​ผู้​มี​การ​เสียสละ​อย่าง​เด็ดขาด เตรียม​พร้อม​ที่​จะ​ให้​อยู่​เสมอ ยินดี​ใน​การ​บริจาค เป็น​ผู้​ควร​ใน​การ​ขอ เป็น​ผู้​ยินดี​ใน​ทาน​และ​การ​แบ่งปัน​นั้น นับ​ว่า​เป็น​ลาภ​ของ​เรา​หนอ เรา​ได้​ดี​แล้ว​หนอ” การ​เจริญ​จา­คา­นุส­สติ​นี้​มี​ผล​มาก​มี​อานิสงส์​มาก คือ​จะ​ช่วย​เพิ่มพูน​บุญ​กุศล​จาก​การ​ให้​ทาน​ของ​เรา​ให้​เพิ่ม​ทวีคูณ​เป็น​ร้อย​เท่า​พัน​เท่า ช่วย​ให้​จิตใจ​ผู้​บริจาค​ทาน​ผ่องใส น้อม​ไป​ใน​การ​บำเพ็ญ​ทาน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​ไป​อีก ทำให้​เป็น​คน​มี​อัธยาศัย​ไม่​โลภ มี​จิต​เมตตา​อยู่​สม่ำเสมอ​โดย​ปกติ แกล้ว​กล้า​กล้า​หาญ​ใน​ชุมชน มาก​ด้วย​ปีติ​และ​ปราโมช จิต​เป็น​สมาธิ​ง่าย​ฟุ้งซ่าน​ยาก นอกจาก​นั้น​จา­คา­นุส­สติ​จะ​ช่วย​ให้​ผู้​เจริญ​บรรลุ​มรรคผล​นิพพาน​ได้​ง่าย​มาก เป็น​ปัจจัย​แก่​พระ​นิพพาน ตราบ​ที่​ไม่​ถึง​พระ​นิพพาน​ก็​มี​สุคติ​เป็น​ที่​ไป

อนึ่ง​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน จง​อย่า​ให้​ทาน​เจือ​ด้วย​ตัณหา​ความ​อยาก​ใน​ภพ คือ​อย่า​ปรารถนา​การ​เกิด​ใน​มนุษย์ สวรรค์ และ​ชั้น​พรหม ควร​จะ​อธิษฐาน​ตัด​ลัด​ออก​จาก​การ​เวียน​ว่าย​ตาย​เกิด​ไป​สู่​พระ​นิพพาน ฉะนั้น​ทุก​ครั้ง​ที่​ทำ​ทาน​ให้​อธิษฐาน​ว่า “ผล​ทาน​อัน​นี้​ที่​ข้าพเจ้า​ได้​น้อม​ถวาย ขอ​ให้​เป็น​ปัจจัย​แก่​มรรคผล​นิพพาน ใน​อนาคตกาล​อัน​ใกล้​นี้​เทอญ” ดัง​แสดง​มา​ด้วย​กถา​ที่​ว่า การ​ให้​ทาน​เป็น​มงคล​อัน​ประเสริฐ ก็​จบ​ลง​เพียง​นี้


ที่มา : หนังสือ พุทธมงคลอานิสงส์ โดย หลวงพ่อ​ชุม​พล พลปญฺโญ

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....
  • การให้ทาน
  • ทาน
  • อานิสงส์
  • สวัสดียามเช้า พระคุ้มครอง

    • คลิป VIDEO
    • คอมพิวเตอร์
    • คาถา
    • ดาวน์โหลด
    • ตำนาน
    • ธรรมะคุ้มครอง
    • นานาสาระ
    • นิทาน
    • นิสัยใจคอ
    • บ้านและสวน
    • ประเพณี
    • พระสายกรรมฐาน
    • พระเครื่อง
    • ภาษาวัด ภาษาไทย
    • ยาสมุนไพรโบราณ
    • วัดธรรมยุตในต่างประเทศ
    • ส่งคำอวยพร
    • สังฆทาน
    • สิ่งนำโชค
    • สุขภาพ
    • อาชีพและครอบครัว
    • เครื่องราง
    • เรียกจิต
    • เรื่องผี
    • แนะนำหนังสือ
    • แบ่งปัน
    • ไม้ประดับ ไม้มงคล

    บทความล่าสุด

    • พระบูชา พระพุทธโสธร ปี 2509 เนื้อสามกษัตริย์ สวยที่สุด

      พระบูชา พระพุทธโสธร ปี 2509 เนื้อสามกษัตริย์ สวยที่สุด

    • ถวายหมวกไหมพรมพระ หน้าหนาว

      ถวายหมวกไหมพรมพระ หน้าหนาว

    • การห่มผ้าพระธาตุคืออะไร ได้บุญอย่างไร

      การห่มผ้าพระธาตุคืออะไร ได้บุญอย่างไร

    • ถวายชักโครก หมดทุกข์โศกโรคภัย

      ถวายชักโครก หมดทุกข์โศกโรคภัย

    • ถวายป้ายวัด ป้ายบอกทาง อานิสงส์ไม่หลงทาง ทำอะไรก็สำเร็จ เหมือนมีผู้ชี้นำ

      ถวายป้ายวัด ป้ายบอกทาง อานิสงส์ไม่หลงทาง ทำอะไรก็สำเร็จ เหมือนมีผู้ชี้นำ

    บทความนิยมสุด

    บทความแนะนำ

    • ปล่อยปลาหน้าเขียง
    • พระคาถา หัวใจ ๑๐๘
    • 10 อันดับพระปิดตายอดนิยม
    • ที่สุดของพระเครื่อง เรื่องต้องรู้
    • การเรียกจิตคนรักให้กลับมามีจริงไหม

    รวมคาถา

    • รวมวิธีเรียกจิต
    • รวมคาถาเสกสีผึ้ง
    • รวมคาถาบูชาขุนแผน
    • รวมคาถาบูชาปลัดขิก
    • รวมคาถาหลวงพ่อกวย

    เว็บไซต์แนะนำ

    • สื่อการสอน
    • ยามอุบากอง
    • ปฏิทินวันพระ
    • ส่งภาพสวัสดียามเช้า
    • ดาวน์โหลดแบบเอกสาร
    เนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์นี้ เป็นความเชื่อที่สืบทอดกัน เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะบุคคล : นักเขียนหรือทางเว็บไซต์เป็นแค่ผู้เสนอความรู้เหล่านั้นมาเผยแพร่ต่อ นักเขียนหรือทางเว็บไซต์จะไม่รับผิดชอบหากท่านนำไปใช้แล้ว ไม่เป็นไปตามความประสงค์ โปรดใช้วิจารณญาณ ภาพวัตถุมงคลที่นำมาประกอบบทความนี้ เป็นแต่เพียงภาพประกอบบทความเท่านั้น ยังไม่สามารถยืนยันความแท้หรือไม่แท้ของวัตถุมงคลนั้น ๆ ได้ เว็บไซต์นี้ไม่ได้ขายพระเครื่อง หากท่านสนใจบูชาพระเครื่องชมได้ที่เว็บไซต์ prakumkrong.99wat.com สงวนลิขสิทธิ์ Copyright www.prakumkrong.com