การถวายทาน เป็นการทำบุญหรือทำความดีประการหนึ่ง ตามหลักการทำบุญของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ คือ
ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
การถวายทาน มี ๒ ประเภท คือ การให้หรือการถวายเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน ประการหนึ่ง และการให้หรือการถวายโดยให้หรือถวาย โดยผู้ให้หรือผู้ถวาย มีความตั้งใจถวายหรือให้เป็นสาธารณะไม่เจาะจงผู้ใด ไม่ว่าผู้รับจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณร ซึ่งเป็นการถวายอุทิศให้แก่สงฆ์จริง ๆ เรียกว่า สังฆทาน อีกประการหนึ่ง
หลักการเกี่ยวกับการถวายทานแด่พระสงฆ์
๑) หลักสำคัญของการถวายทานแด่พระภิกษุสามเณร ต้องตั้งใจถวายจริง ๆ
๒) จัดเตรียมทานวัตถุที่จะถวายให้เสร็จเรียบร้อย ตามศรัทธาและทันถวาย ถ้าเป็นภัตตาหาร จีวร และคิลานเภสัช ซึ่งเป็นวัตถุยกประเคนได้ต้องประเคน เว้นแต่ถ้าไม่อยู่ในกาลที่จะประเคน ก็เพียงแต่นำไปตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ ดังนั้น ถ้าเป็นการถวายทานที่ถูกต้อง ต้องจัดถวายทานให้ถูกต้องตามกาลนั้น ๆ ถ้าเป็นเครื่องเสนาสนะ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างกับที่และเป็นของใหญ่ใช้ติดที่ก็ต้องเตรียมการตามที่สมควรและถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติ
๓) แจ้งความประสงค์ที่จะถวายทานให้พระภิกษุสงฆ์ทราบ และนัดหมายวัน เวลา และสถานที่ พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ในการที่จะนิมนต์พระสงฆ์รับการถวายทานจำนวนเท่าใด
๔) ถ้ามีความประสงค์จะถวายทานร่วมกับพิธีการอื่น ๆ ก็ต้องเป็นเรื่องของงานพิธีแต่ละอย่างไป เมื่อถึงเวลาจะถวายทานก็ดำเนินการในส่วนของพิธีถวายทาน
๕) สิ่งที่สมควรถวายเป็นทานตามพระวินัย
(๑) เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ไตรจีวร สบง อังสะ หรือผ้าเช็ดตัว
(๒) บิณฑบาต ได้แก่ ภัตตาหาร น้ำดื่ม
(๓) เสนาสนะ ได้แก่กุฏิศาลาบำเพ็ญกุศล
(๔) คิลานเภสัช หรือยารักษาโรค
๖) สิ่งของที่ควรถวายเป็นทานตามที่ปรากฏในพระสูตร
(๑) อันนัง ให้อาหาร
(๒) ปานัง ให้น้ำร้อน-น้ำเย็น น้ำอัฏฐบาน
(๓) วัตถัง ให้ผ้านุ่งห่ม
(๔) ยานัง ให้ยานพาหนะ
(๕) มาลัง ให้ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม
(๖) คันธัง ให้ของหอมต่าง ๆ
(๗) วิเลปะนัง ให้เครื่องทาต่าง ๆ
(๘) เสยยัง ให้ที่นอนหมอนมุ้ง
(๙) วะสะถัง ให้ที่อยู่อาศัย
(๑๐) ทีเปยยัง ให้ประทีป หรือให้แสงสว่าง
การถวายสังฆทาน
การถวายสังฆทาน คือ การถวายทานที่อุทิศแก่สงฆ์ ซึ่งต้องเป็นการตั้งใจถวายแก่สงฆ์จริง ๆ ไม่เห็นแก่หน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือสามเณร เป็นพระสงฆ์เถระหรือพระสงฆ์อันดับ ถ้าเจาะจงจะถวายพระภิกษุรูปใดแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้มีจิตใจไขว้เขวเกิดความยินดียินร้ายไปตามบุคคลที่รับสังฆทานนั้น จะเป็นภิกษุหรือสามเณร จะเป็นรูปเดียวหรือหลายรูปก็ถือว่าเป็นการถวายสังฆทานทั้งสิ้น และถือว่าเป็นผลสำเร็จในการถวายสังฆทานแล้ว เนื่องจากผู้รับสังฆทานที่ถวายถือเป็นการรับในนามสงฆ์ซึ่งสงฆ์จัดมาหรือเป็นผู้มาถึงเฉพาะหน้าในขณะตั้งใจถวายสงฆ์แล้ว ซึ่งการถวายทานที่อุทิศให้เป็นของสงฆ์จริง ๆ นี้ในครั้งพุทธกาลมีแบบแผนในการถวายสังฆทาน ๗ ประการ คือ ๑) ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณีมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๒) ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๓) ถวายแก่หมู่ภิกษุณีมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๔) ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณีไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๕) ถวายแก่หมู่ภิกษุไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๖) ถวายแก่หมู่ภิกษุณีไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗) ร้องขอต่อสงฆ์ให้ส่งใคร ๆ ไปรับแล้วถวายแก่ผู้นั้น
การเตรียมการถวายสังฆทาน
๑) จัดเตรียมทานวัตถุที่ต้องการถวายให้เสร็จเรียบร้อย ตามศรัทธาและทันเวลาถวาย เช่น อาหารคาว อาหารหวาน น้ำดื่ม เครื่องกระป๋อง อาหารแห้ง ของใช้ต่าง ๆ ที่พระสงฆ์ใช้ได้ไม่ผิดพระวินัย (ถ้าอยู่ในกาล คือ เช้า ถึงก่อนเวลาเที่ยงวัน ให้ประเคนได้แต่ถ้าอยู่นอกกาลไม่ต้องประเคน เพียงแต่ตั้งไว้ณ เบื้องหน้าพระภิกษุ และให้ประเคนได้เฉพาะวัตถุที่ประเคนนอกกาลได้เท่านั้น)
๒) จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาพระรัตนตรัย
๓) แจ้งความประสงค์ที่จะถวายทานนั้น ๆ ให้พระสงฆ์ทราบ
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์ที่จะรับสังฆทาน
๕) จัดเตรียมสถานที่ หรือนัดหมายสถานที่ที่จะถวายสังฆทานให้พระสงฆ์ทราบ
แนวทางปฏิบัติในการถวายสังฆทาน
๑) พระสงฆ์มาถึงยังสถานที่จะทำพิธีถวายสังฆทาน (ที่บ้านหรือที่วัด) ตามที่กำหนดและนิมนต์พระสงฆ์ไว้ ๒) นิมนต์พระสงฆ์นั่งยังอาสนสงฆ์ที่จัดเตรียมไว้ตามจำนวนที่จะถวายสังฆทาน ๓) นำเครื่องสังฆทานมาตั้งเรียงไว้ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ ๔) จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง ๕) อาราธนาศีล ดังนี้ “มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ. ทุติยัมปิมะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ. ตะติยัมปิมะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.” ๖) พระสงฆ์ให้ศีล ๗) กล่าวนโม ๓ จบ ดังนี้ “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ. นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ. นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.” จบ ๘) กล่าวคำถวายสังฆทาน (ในกรณีถวายสังฆทานเพื่อความสุขความเจริญของตนเอง) ดังนี้ “อิมานิมะยัง ภันเต, ภัตตานิสะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.” คำแปล “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้, แด่พระสงฆ์, ขอพระสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร, กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ” ๙) คำกล่าวถวายสังฆทาน (ในกรณีเพื่ออุทิศให้ผู้ตาย) ดังนี้ “อิมานิมะยัง ภันเต, มะตะกะภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิมะตะกะภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปฏิคคัณหาตุ, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุ, อาทีนัญจะ, ญาตะกานัง, กาละกะตานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.” คำแปล “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวายภัตตาหารเพื่อผู้ล่วงลับไปแล้ว, พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แก่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, โปรดรับภัตตาหารเพื่อผู้ล่วงลับไปแล้ว, พร้อมกับทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย, แก่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย, มีบิดามารดา เป็นต้น, ตลอดกาลนานเทอญ.” ๑๐) พระสงฆ์รับ “สาธุ” ๑๑) ประเคนวัตถุที่จะถวายสังฆทาน (ถ้านอกกาลคือหลังเที่ยงวันให้ประเคนเฉพาะผ้าไตรหรือเครื่องสังฆทานที่ไม่ใช่อาหาร) ๑๒) พระสงฆ์อนุโมทนา ๑๓) ผู้ถวายสังฆทาน กรวดน้ำ-รับพร ๑๔) เสร็จพิธีถวายสังฆทาน
จากหนังสือ คู่มือการปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม