พระขุนไกร พิมพ์ประภามณฑลสภาพสวยแชมป์ มีอายุการสร้างประมาณ 400 กว่าปี พระขุนไกรพบครั้งแรกขึ้นจากกรุวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี นอกจากนั้นยังมีการพบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
พระขุนไกร มีขนาดองค์พระที่ค่อนข้างใหญ่ มีขนาดความกว้างประมาณ 3.4 เซนติเมตร เป็นพระเนื้อดินเผา มีความแกร่งและหนึกนุ่ม ด้านหน้าเป็นพระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายในเส้นซุ้มขอบมนรอบองค์พระเครื่อง พระพักตร์เรียวยาวลงมารับกับพระศอ (คอ) พระกรรณ (หู) มีความยาวสอบลงมาอยู่ในระดับพระศอ พระพาหา (แขน) ด้านขวาทอดยาวลงมาอย่างอ่อนช้อยงกงาม จับที่พระชานุ (เข่า) ส่วนพระพาหาข้างซ้าย ทิ้งลงมาแล้ววางลงบนพระเพลา (ตัก) พระอังสา (บ่า) ผึ่งผายรับกับพระอุระ พระเกศมองดูมีลักษณะคล้ายสถูปเจดีย์ ในด้านหลังองค์พระมีลักษณะอูมนูนเล็กน้อย
พระขุนไกร วัดพระรูป แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์หลัก ๆ คือ พิมพ์หน้าเล็ก และพิมพ์หน้าใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างกันตรงขนาดของพระพักตร์ เนื้อขององค์พระมีสีแดงคล้ายสีกระเบื้อง มีแดงอ่อน แดงแก่ และแดงปนน้ำตาล ไม่มีสีขาว ดำและเขียว ในเนื้อพระจะมีเม็ดทรายสีดำ ขาวแดงปนอยู่ในเนื้อเป็นจำนวนมาก แต่เป็นทรายที่มีเม็ดขนาดเล็กกว่าเม็ดทรายของพระขุนแผนบ้านกร่างและพระในชุดกิมตึ๋ง
พุทธคุณพระขุนไกร
พระขุนไกรเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์ดีมานาน เป็นที่นิยมสะสมกันมาตั้งแต่เก่าก่อน พุทธคุณเป็นที่โดดเด่นในเรื่องคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัยตามยุคสมัยของพระเครื่องที่ที่สร้างในสมัยสงคราม แต่ก็มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยมเช่นกัน พระเครื่องที่พบในกรุเดียวกันในกรุวัดพระรูปได้แก่ พระขุนแผนไข่ผ่า, พระขุนแผนแตงกวาผ่า และบรรดาพระในชุดกิมตึ๋ง
พระขุนไกร กล่าวกันว่าเป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นโดยพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในสมัยนั้นเพื่อเป็นพุทธบูชาและสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา พระกรุที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีความสวยงามทั้งในด้านศิลป์และศาสตร์ เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยพุทธคุณ จึงเป็นอีกหนึ่งพระเครื่องที่น่ามีบูชา
พระขุนไกร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขุนไกรหรือขุนแผนในวรรณคดี
หมายความว่า พระขุนไกร ไม่ใช่รูปเหมือนของขุนไกรในวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน ผู้สร้างพระพิมพ์นี้ สร้างขึ้นเป็นพระพุทธปฏิมากรคือเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า สร้างเพื่อเป็นพุทธบูชาอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับขุนไกรในวรรณคดีอย่างไร
การเรียกว่าพระขุนไกร เป็นการเรียกขึ้นมาทีหลังของคนบางกลุ่มเพื่อให้สอดคล้องบุคคลในวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน ซึ่งถือกำเนิดในเมืองสุพรรณเช่นกัน และเพื่อให้พระเครื่องมีความน่าสนใจ น่าจดจำ น่าสะสมมาบูชา เพื่อจะขายได้ในราคาที่แพงขึ้น ในส่วนของพุทธคุณก็เช่นกัน พระเครื่องยุคเก่าสร้างในสมัยสงครามย่อมหวังอานิสงส์ความสงบสุขร่มเย็น แคล้วคลาด ป้องกันปลอดภัยเป็นหลัก แต่หากต้องทำศึกสงครามก็ย่อมหวังคงกระพันชาตรี ไม่ได้สร้างพระเครื่องขึ้นมาในด้านชู้สาว หรือพกติดตัวไปในด้านมหาเสน่ห์แต่อย่างใด ว่าไปแล้วคนสมัยก่อนไม่นำพระเครื่องเข้าไปในบ้านด้วยซ้ำ เพราะถือว่าบ้านเป็นสถานที่เต็มไปด้วยกลิ่นราคะ ตัณหา โลภ โกรธ หลง เมื่อมีเหตุจึงอาราธนาติดตัวเวลาเดินทางหรือหวังในด้านป้องกันภัย เมื่อจะกลับเข้าบ้านก็จะนำไปเก็บไว้ที่วัดหรือสร้างสถูปบรรจุไว้ เราจะได้เห็นพระกรุมาจนถึงทุกวันนี้
พระขุนไกรที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เป็นแต่เพียงภาพประกอบบทความเท่านั้น พระยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ความแท้หรือไม่แท้ ฉะนั้น จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงความแท้หรือไม่แท้ได้