หลายท่านได้อ่านหัวข้อของบทความ และได้เห็นข้อความในภาพแล้วอาจจะตกใจ ก็ฉันถวายอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายของฉันก็พาถวายแบบนี้ เพื่อนของฉันก็ถวายกันอย่างนี้ ไปที่ร้านสังฆภัณฑ์ (ร้านสังฆภัณฑ์ไม่ใช่ร้านสังฆทาน) เขาก็จัดแบบนี้ให้ฉัน อีกทั้งที่ถังเขาก็ยังเขียนอีกว่า “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” (ถังสังฆทาน หรือ ชุดสังฆทาน ถ้าจะอธิบายให้ถูกต้อง เขาหมายถึงถังหรือชุดสำหรับนำไปถวายเป็นสังฆทาน (ถวายเป็นของสงฆ์ ถวายแบบไม่เจาะจงผู้รับหรือผู้ใช้) แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวถังสีเหลืองนี้เป็นตัวสังฆทาน) ไปที่วัดก็มีเป็นสิบ ๆ วางให้บูชาเพื่อถวายสังฆทาน
บางคนคิดเป็นอกุศลไปเลยก็มี พระต้องการอะไรอีก อยากได้ของดี ๆ หรืออย่างไร (ไม่มีใครอยากได้ของไม่ดีนะ แต่ไม่ใช่ประเด็นในตอนนี้)
ใจเย็น ๆ ก่อน เรามารู้จักความหมายของคำว่าสังฆทาน เสียก่อน
การถวายทาน (อ่านอีกครั้ง การถวายทาน) มี 2 ประเภท คือ
1. การให้หรือการถวายเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน
2. การให้หรือการถวายโดยให้หรือถวาย โดยผู้ให้หรือผู้ถวาย มีความตั้งใจถวายหรือให้เป็นสาธารณะไม่เจาะจงผู้ใด ไม่ว่าผู้รับจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณร ซึ่งเป็นการถวายอุทิศให้แก่สงฆ์จริง ๆ เรียกว่า สังฆทาน
ฉะนั้น คำว่า “สังฆทาน” จึงเป็นชื่อเรียกประเภทของการถวายทาน ไม่ใช่ชื่อวัตถุสิ่งของที่จะนำมาถวาย ไม่ใช่ชื่อของถังสีเหลือง ๆ เอามาใช้เป็นชื่อสิ่งของไม่ได้
ส่วนสิ่งของที่จะนำมาถวายนั้น เรียกว่า “ทานวัตถุ” คือวัตถุสิ่งของที่ควรแก่การให้ ควรแก่การนำมาเป็นทาน ในพระสูตร ท่านจัดเป็น 10 ประเภท ได้แก่
1. อนฺนํ = ข้าว คือ ข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวสุก กับแกง ของหวาน ผลไม้ ถ้วย ชาม จาน ช้อน หม้อข้าว ทัพพี เครื่องครัว ตู้กับข้าว ตู้เก็บอาหาร โรงครัว และสิ่งของที่ใช้ในการทำอาหาร ทำครัว ทุกชนิด
2. ปานํ = น้ำดื่ม คือ น้ำขวด ภาชนะใส่น้ำ แก้วน้ำ เหยือกน้ำ กระติก โอ่ง แท๊งค์น้ำ น้ำหวาน เครื่องดื่ม น้ำผลไม้กระป๋อง หรือแม้กระทั่งขุดสระน้ำ ซื้อเครื่องกรองน้ำ เครื่องสูบน้ำ ต่อน้ำประปาเข้าวัด ถวายค่าน้ำประปา และสิ่งของที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทุกชนิดที่พระดื่มฉันได้
3. วตฺถํ = ผ้า คือ ผ้าไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ตู้ใส่ผ้า ราวตากผ้า เครื่องซักผ้า จักรเย็บผ้า เข็ม ด้าย ผงซักฟอก และสิ่งของที่ใช้ผลิตหรือเก็บรักษาผ้า
4. ยานํ = ยานพาหนะ คือ ร่ม รองเท้า ไฟฉายส่องทาง เรือ รถยนต์ ตั๋วรถยนต์-รถไฟ-เครื่องบิน จัดรถรับส่ง ถวายความสะดวกในการเดินทาง และเครื่องใช้ในการเดินทางทุกชนิด
5. มาลา = ดอกไม้ คือ พวงมาลัยดอกไม้ แจกัน พานพุ่ม โต๊ะบูชา ประดับตกแต่งให้สวยงามน่าเคารพบูชา
6. คนฺธํ = ของหอม คือ ธูป กำยาน น้ำอบไทย (ไม่ใช่เครื่องสำอางค์) ใช้จุดในที่บูชา หรือประพรมให้ชื่นใจ
7. วิเลปนํ = เครื่องลูบไล้ ที่ไม่ใช่เครื่องสำอางค์ คือ แป้งเย็น สบู่ ยาสีฟัน ดินสอพอง ทำให้สบายตัว
8. เสยฺยา = เครื่องนอน คือ เสื่อ ผ้าปูนอน ผ้าปูนั่ง ผ้าเต๊นท์ ผ้าใบกันน้ำค้าง กลด หมอน มุ้ง เตียง ห้องนอน เบาะที่นอน
9. อาวสถํ = ที่พักอาศัย คือ ศาลาริมทาง ที่นั่งใต้ร่มไม้ กุฏิ ศาลา อาคาร ที่อยู่อาศัย, หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง โอสถํ = ยา คือ การช่วยรักษาพยาบาล หายาสามัญมาถวายใส่ตู้ยาไว้ดูแลพระสงฆ์ป่วย สร้างโรงพยาบาลสงฆ์
10. ปทีเปยฺยํ = เครื่องให้แสงสว่าง คือ ตะเกียง น้ำมัน เทียน ไฟฉาย เครื่องปั่นไฟ อุปกรณ์ หลอดไฟ สายไฟ ค่าไฟ ค่าซ่อมบำรุง ค่าแรงช่างไฟ
ในพระวินัยท่านจัดสิ่งของที่ควรแก่การถวายเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ไตรจีวร สบง อังสะ หรือผ้าเช็ดตัว
2. บิณฑบาต ได้แก่ ภัตตาหาร น้ำดื่ม
3. เสนาสนะ ได้แก่ กุฏิ วิหาร ศาลาบำเพ็ญกุศล
4. คิลานเภสัช หรือยารักษาโรค
ขอบคุณ ที่มา สังฆทานเจ้าปัญหา โดย พระราชวิมลโมลี (ดำรง ทิฏฺฐธมฺโม)
https://www1.mcu.ac.th/article/detail/14240