บทความนี้ผมได้รับแรงบันดาลใจจากการได้อ่านธรรมะโอวาทของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก เกี่ยวกับการทำบุญง่าย ๆ แต่ผมจะนำมาเฉพาะบางส่วน เสริมเข้าไปบ้าง แต่จะไม่ขัดแย้งกับหลวงปู่ และไม่ขัดแย้งกับบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ อันมีมาในพระไตรปิฎก ถ้าขัดแย้งแล้ว ของพระเกจิอาจารย์ไหน ดังแค่ไหน จบอะไรมาก็ตามเป็นอันใช้ไม่ได้ครับ
ทำบุญง่ายตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา
เริ่มแรกตอนเช้า ขณะที่กำลังจะตื่นนอน ขณะที่กำลังรับรู้ความรู้สึกแรก ให้กำหนดความรู้สึกแรกที่ปลายจมูก กำหนดลมหายใจเข้าออก เข้าพุท ออกโธ ทำประมาณสัก 1 นาที ก่อนที่จะลุกขึ้น ทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน จนเกิดความเคยชิน ทำจนเป็นเครื่องอยู่ เมื่อทำเป็นเครื่องอยู่ปกติแล้ว เมื่อจะตื่นตอนเช้าในทุกเช้า ความรู้สึกแรกของเราจะวิ่งไปที่ปลายจมูกเองโดยอัตโนมัตพร้อมกับคำว่า พุทโธ จะทำให้เรามีความรู้สึกสดชื่นกายใจในวันใหม่ ข้อนี้ผมได้ทำมาแล้ว แต่ผมทำช่วงเข้านอนตอนหัวค่ำในขณะที่กำลังจะหลับด้วย จับความรู้สึกที่ลมหายใจเข้าพุท ออกโธ ทำไปเรื่อย ๆจนกว่าจะหลับ เมื่อเราตื่นนอนตอนเช้าความรู้สึกแรกที่เรารู้สึกตัวก็จะยังอยู่ที่ปลายจมูก จะมีความรู้สึกค่อย ๆ เย็นขึ้นเรื่อย ๆ ที่ปลายจมูก จากนั้นความรู้สึกอื่น ๆ ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็จะตามมา ความมีตัวมีตน มีแข้งมีขาก็จะตามมา นี่ก็เป็นการทำบุญแบบง่าย ๆ ทำได้ทุกวัน
ล้างหน้า ให้เป็นเมตตา พุทธานุสติ
ขณะที่เราล้างหน้า ให้ให้ภาวนาด้วยคำว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ หรือถ้าอยากให้เป็นคาถาเกี่ยวกับเมตตาก็ให้ภาวนาว่า พระพุทธังล้างหน้า พระธัมมังล้างทุกข์ พระสังฆังเพิ่มสุข สวัสดีมีชัย อิติปิโสภะคะวา
ก่อนทานข้าว ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า
ก่อนทานข้าวให้นึกถึงพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นพุทธานุสติ ถ้านึกไม่ออกว่าจะนึกยังไง ก็ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็ไม่ผิดครับ
เห็นคนทำบุญให้อนุโมทนา
หาเราทราบว่าคนนั้น คนนี้ทำบุญ แม้จะทราบจากโทรทัศน์ เฟชบุค ไลน์ หรือคนอื่นเล่าให้ฟัง ก็จงอนุโมทนายินดีกับเขาด้วย หรือว่าเราออกไปข้างนอกบ้าน เห็นคนทำบุญตักบาตร ช่วยคนแก่ข้ามถนน ให้เงินขอทาน ให้อาหารสัตว์ ก็จงทำใจอนุโมทนากับเขาด้วย
เห็นพระเณรสวดมนต์ หรือทำกิจวัตร อนุโมทนาบุญ
หากเดินเข้าไปในวัด เห็นพระสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์ หรือทำกิจวัตร ปัดกวาดเช็ดถู ดูแลศาสนสถาน เห็นคนเดินมาถวายสังฆทาน ฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด ก็ให้เราทำใจให้เป็นกุศล อนุโมทนาบุญด้วย
เห็นดอกไม้สวยงาม น้อมใส่ใจนำมาบูชาพระพุทธเจ้า
เราออกไปข้างนอกบ้าน เห็นดอกไม้สวย ๆ งาม ๆ ที่เขาวางขายอยู่ หรือแม้แต่ดอกไม้ที่อยู่บนต้นก็ตาม เราสามารถน้อมนำดอกไม้นั้นเป็นเครื่องบูชาแด่พระรัตนตรัย ด้วยการภาวนาว่า พุทธัสสะ ธัมมัสสะ สังฆัสสะ ปูเชมิ นี่เป็นลักษณะของคนฉลาด หรือคนที่มีใจเป็นบุญกุศล พระท่านถึงได้กล่าวว่า ความดี คนดีทำได้ง่าย เห็นอะไรก็เป็นความดี เป็นบุญกุศลไปหมด แต่ก็ควรแบ่งบุญให้คนขายดอกไม้หรือเจ้าของดอกไม้หรือรุกขเทวดาที่รักษาต้นไม้ด้วย
เห็นโคมไฟ ก็ยังทำใจให้เป็นกุศลได้
เวลาไปไหนมาไหน เห็นไฟข้างทางก็ให้นึกน้อมถวายไฟเหล่านั้นบูชาพระรัตนตรัย โดยระลึกว่า โอม อัคคีไฟฟ้า พุทธบูชา ธัมมะบูชา สังฆบูชา
ได้ยินข่าวคนเสียชีวิต ควรอุทิศบุญให้
หากเราได้ยินได้ฟังข่าวว่าคนนั้นคนนี้เสียชีวิต แม้ทราบข่าวจากโทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต หรือว่าเราเดินผ่านเมรุ สถานที่ที่มีคนเคยตาย (อันที่จริงทุกที่มีคนเคยตายทั้งนั้น) ก็ให้เราอุทิศส่วนบุญไปให้ ด้วยภาษาไทยของเรานี่แหล่ะ ประมาณว่า ขอบุญที่ข้าพเจ้าเคยทำมาจงสำเร็จแก่ท่าน ขอท่านโปรดได้อนุโมทนาบุญด้วยเถิด
ผ่านศาลเจ้า ต้นไม้ใหญ่ อย่าเลยละ
เดินผ่านวัดต่างศาสนากัน ผ่านศาลเจ้า ศาลเล็ก ศาลใหญ่ แม้ศาลหน้าบ้านคนอื่น หรือต้นไม้ใหญ่ ไม่ถึงกับต้องยกมือไหว้หรือจุดธูปเทียน ไปต้องใช้ผ้าเจ็ดสีไปโอบล้อมไว้ แต่ให้ทำใจเป็นกุศล แผ่เมตตาออกไป ภาวนาในใจว่า ขอให้เป็นสุข ๆ พุทโธ โลก อุปปันโน ขอให้ท่านจงรับทราบเถิด พระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก
ก่อนนอน สวดมนต์ไหว้พระ กำหนดลมหายใจจนกว่าจะหลับ
เพื่อให้ครบวงจรในชีวิตประจำวันของเรา ฉะนั้น หลังจากที่เราได้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานทั้งวัน จากการเดินทาง จากการพบปะผู้คน มีทั้งคนดีคนไม่ดี มีทั้งคนที่ทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ นินทาสรรเสริญ็ย่อมมีบ้าง ก่อนเข้านอนควรชำระจิตใจให้สะอาดมากที่สุด สิ่งไหนที่ทิ้งไปรหว่างวันได้ก็ทิ้งไป ทำการลอยบาปลอยความเศร้าหมองทิ้งไปเสีย ด้วยการสวดมนต์ภาวนา ถ้านึกไม่ออกว่าจะสวดมนต์บทไหน ก็ใช้บทที่เราแนะนำนี้ก็ได้ครับ บทสวดมนต์ประจำวัน ขณะที่นอนหลับ ให้กำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก เข้าพุท ออกโธ ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหลับ และเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก่อนที่จะลุกขึ้น ให้กำหนดลมหายใจที่ปลายจมูกก่อนเช่นเดิม เข้าพุท ออกโธ ทำประมาณสัก 1 นาที แล้วจึงลุกขึ้นครับ (ถ้าทำนานเดี่ยวจะหลับต่อ)
นี่เป็นวิธีทำบุญที่คนมีใจเป็นบุญทำได้ง่าย ส่วนมากเน้น พุทธานุสติ เน้นเมตตา เน้นการแผ่บุญ เน้นอนุโมทนาบุญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ขัดต่อการทำบุญในทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด