สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร จะขาดอาหารเสียไม่ได้ เมื่อมีอาหารจึงสามารถดำรงร่างกายไว้ไดั เมื่อดำรงร่างกายไว่ได้ก็สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าความดีหรือความชั่ว อาหารจึงเป็นเครื่องที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ผู้มีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส่ ความสุข มีพละกำลัง
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ที่จำเป็นในการดำรงชีพ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ฉะนั้น สิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นอยู่ด้วยอาหาร มีชีวิตที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เพราะอาหาร แม้แต่พระสงฆ์เองก็ยังต้องดำรงขันธ์อยู่ด้วยอาหาร

ความหมายของภัตตาหาร
ก่อนที่จะสู่เนื้อหาต่อไป เรามาทำความเข้าใจคำว่า ภัตตาหาร หรือ อาหารก่อน เพราะบทความนี้ บางที่ก็ใช้คำว่า ภัตตาหาร บางทีก็ใช้คำว่า อาหาร
ภัตตะ ในภาษาบาลี หมายถึงของที่กินได้ เครื่องคำจุนชีวิต
อาหาร ในภาษาบาลี หมายถึงการกลืนกินลงไปทางปากทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้
ว่าไปแล้วความหมายก็เหมือนกัน หรือไปในแนวทางเดียวกัน แต่ถ้าใช้คำว่า ภัตตาหาร เป็นที่แน่ชัดว่า หมายถึงอาหารสำหรับพระอย่างแน่นอน แต่ถ้าใช้คำว่า อาหาร อาจจะหมายถึงอาหารสำหรับพระก็ได้ อาหารสำหรับคนทั่วไปก็ได้
อีกอย่าง คำว่า ภัตตาหาร หรืออาหารสำหรับถวายพระนี้ หมายถึงทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และผักผลไม้ต่าง ๆ ด้วย
ทำไมต้องถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
การถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง เหตุว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงตั้งมั่นอยู่ได้นั่น ก็ต้องอาศัยบริษัท ๔ คือ พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นกำลังสำคัญ
ในส่วนของอุบาสก อุบาสิกานั้น เป็นผู้ครองเรือนอยู่ ย่อมมีกิจธุระมากอันเนื่องด้วยการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ในส่วนของพระภิกษุสามเณรนั้น เป็นผู้สละแล้วซึ่งบ้านเรือน บิดามารดา ญาติพี่น้อง แล้วเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาโดยตรง ก็ย่อมที่จะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาได้มากกว่า ตามสติปัญญาของตนเอง เมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว ก็นำมาแนะนำเหล่าอุบาสก อุบาสิกา
แต่พระภิกษุสามเณรนั้นจะดำรงอยู่ในสมณเพศ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาได้นั้นก็ต้องอาศัย อุบาสก อุบาสิกา เช่นกัน เพื่อคอยอุปถัมภ์ค้ำชูบำรุงด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรค เพราะว่าพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนานั้นไม่สามารถจะประกอบอาชีพหรือทำไร่ไถ่นาเลี้ยงชีวิตเหมือนอย่างชาวบ้านได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัย อุบาสก อุบาสิกาในการเลี้ยงชีพ
เหตุผลประการหนึ่งในการถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณร บางคนย่อมหวังผลตอบแทนจึงต้องถวายภัตตาหาร โดยมีจิตตั้งมั่นว่าหากเราละโลกนี้ไปแล้ว จะได้มีกินมีใช้ไม่ลำบาก ได้อุบัติขึ้นในที่ดี ๆ
บางคนก็ถวายโดยคิดว่านี่เป็นการกระทำสิ่งที่ดี เป็นการเสียสละความสุขส่วนตนให้แก่ผู้อื่น หรือสังคม
บางคนก็คิดว่าพ่อแม่ ปู่ ยา ตา ยาย ของเราได้เคยทำกันมาแล้ว เราไม่ควรละทิ้งประเพณีของวงศ์ตระกูลของเรา เราควรอนุรักษ์เอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป
บางคนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณร ด้วยคิดว่าท่านไม่สามารถหุงหาอาหารอย่างฆราวาสเราได้ จึงต้องถวายท่าน
แต่ก็มีบางคนถวายภัตตาหารเพื่อเป็นสิ่งในการเสริมสร้างเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองหรือวงศ์ตระกูลของตนเองก็มี
บางคนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณร โดยคิดว่า เมื่อเราได้ถวายแล้ว จิตใจของเราจะผ่องใส เกิดปีติโสมนัสยินดีในสิ่งที่ตนได้กระทำ
และบางคนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณร เพื่อส่งเสริมคุณภาพของจิต แต่งจิตให้ดีขึ้น ให้งามขึ้น เหตุเพราะกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของตนได้
หลักการเลือกภัตตาหารถวายพระ หรือความบริสุทธิ์แห่งภัตตาาหารสำหรับถวายพระ
๑. ปัจจัยที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบภัตตาหารนั้น ต้องได้มาโดยความบริสุทธิ์ จากสัมมาอาชีพ
๒. ภัตตาหารที่จะนำมาถวายพระนั้นจะต้องเป็นสิ่งของบริสุทธิ์ ไม่ใช่ได้มาจากการเบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่น เช่น การฆ่าสัตว์แล้วทำเป็นภัตตาหารมาถวาย
๓. ภัตตาหารที่นำมาถวายพระนั้น จะต้องมีคุณภาพดี และนำเอาส่วนที่ดีที่สุดในบรรดาอาหารที่มีอยู่ ถ้าเป็นข้าวก็เป็นข้าวปากหม้อ ถ้าเป็นแกงก็เป็นแกงที่ตักถ้วยแรกจากหม้อ เป็นต้น
๔. ภัตตาหารนั้นต้องเป็นของสมควรแก่สมณบริโภค ไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร เช่น ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็ต้องปรุงให้สุกด้วยไฟก่อน แม้จะเป็นน้ำพริก ปลาร้า นำมาประกอบส้มตำ ก็ต้องทำ ปลาร้า ปูดองให้สุกก่อน โดยการนำไปต้มให้สุกแล้วค่อยมาทำน้ำพริกหรือส้มตำ ต้องไม่ใช่เนื้อต้องห้าม ๑๐ ประการ ได้แก่ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง
เจตนาของผู้ถวายภัตตาหาร
ในการถวายภัตตาหารหรือสิ่งใด ๆ ก็ตาม เพื่อที่จะมีผลานิสงส์มาก ผู้ถวายต้องบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ คือ
๑. บุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนที่จะถวาย ผู้ถวายต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ มีศรัทธาเลื่อมใส มีความตั้งใจที่จะตระเตรียมสิ่งนั้นเพื่อถวายจริง ๆ
๒. มุญจนเจตนา ความตั้งใจในขณะถวาย ผู้ถวายจะต้องมีจิตใจเลื่อมใส ศรัทธา มีจิตคิดเสียสละจริง ๆ
๓. อปราปรเจตนา ความตั้งใจหลังจากการถวายแล้ว เมื่อหวลระลึกนึกถึงขึ้นมาครั้งใด ก็มีจิตใจปลื้มปีติยินดีในบุญกุศลนั่น ๆ ไม่เสียดาย ไม่เสียใจที่ได้ถวายสิ่งนั้น หรือแก่พระรูปนั้น วัดนั้นไป
เราควรถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในโอกาสใด
- สามารถถวายภัตตาหารได้ในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่พระออกรับบิณฑบาตในตอนเช้า หรือจะนำไปถวายที่วัดในเวลาเช้า หรือเพลก็ได้
- ถวายภัตตาหาร เนื่องในวันเกิดของตน และบุคคลเป็นที่รัก เช่น คุณพ่อ คุณแม่ เป็นต้น
- ถวายภัตตาหาร เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- ถวายภัตตาหาร เนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนาหรือประเพณี เช่น วันขึ้นปีใหม่
- ถวายภัตตาหารในโอกาสต่าง ๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
- ถวายภัตตาหาร เพื่อเป็นการทำบุญในคราวที่ต้องเดินทางไกลไปต่างประเทศ เป็นต้น
- ถวายภัตตาหาร เพื่อเป็นการทำบุญ สะเดาะเคราะห์ ในคราวที่เราดวงไม่ดี ดวงตกต่ำ

สถานที่ในการถวายภัตตาหารพระสงฆ์
- หน้าบ้าน เวลาพระออกบิณฑบาตในตอนเช้า อาจจะไม่ต้องกล่าวคำถวายก็ได้
- ที่วัด เราสามารถติดต่อถวายภัตตาหารได้ที่วัด
- ที่บ้าน เราสามารถนิมนต์พระมารับภัตตาหารได้ที่บ้าน
- ถวายภัตตาหารในที่ทำงาน ซึ่งเราสามารถนิมนต์พระมารับภัตตาหารในที่ทำงาน บริษัท ออฟฟิศ สำนักงาน หรือโรงเรียนได้
- ที่โรงพยาบาลสงฆ์ เราสามารถติดต่อถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุอาพาธได้ที่โรงพยาบาลสงฆ์
- ที่ร้านอาหาร เราสามารถนิมนต์พระมาฉันภัตตาหารได้ที่ร้านอาหาร แต่ต้องดูสถานที่ด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่
- หรือแม้จะโทรสั่งอาหารผ่านโทรศัพท์ ผ่านแอปอย่าง Lineman เพื่อให้นำอาหารไปส่งถวายที่วัด ก็เป็นการถวายภัตตาหารไดัเช่นกัน
คำถวายภัตตาหาร (ทำบุญวันเกืด หรือทำบุญทั่วไป)
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฎิคคัณหาตุ อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ จงรับภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
คำถวายภัตตาหาร เพื่ออุทิศให้ผู้ตาย
อิมานิ มะยัง ภันเต มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง กาละกะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย มะตะกะภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้
แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ จงรับ มะตะกะภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น และ……………..(ชื่อผู้ตาย) ผู้ทำกาละล่วงลับไปแล้วด้วย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
คำอธิษฐานก่อนถวายภัตตาหาร
สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ
อานิสงส์ของการถวายภัตตาหาร
อานิสง์ของการถวายภัตตาหารที่ให้ผลในปัจจุบัน ๔ ประการ ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแก่เสนาบดี ชื่อ สีหะ ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
๑.ผู้ถวายทานย่อมเป็นที่เคารพนับถือของคนดีทั้งหลาย
๒.คนดีย่อมพอใจที่จะคบหาสมาคมด้วย
๓.ย่อมได้รับการสรรเสริญจากคนดีว่า เป็นผู้มีความเสียสละปราศจากความตระหนี่
๔.จะเข้าไปสู่ที่ประชุมหรือชุมชนใดๆก็ไม่ประหม่า หวาดกลัว เป็นคนกล้าหาญดุจราชสีห์
และย่อมเข้าถึงฐานะ ๖ ประการนี้ ได้แก่
๑.ความเป็นผู้มีผิวพรรณดี
๒.ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะน่าฟัง
๓.ความเป็นผู้มีทรวดทรงสมส่วน
๔.ความเป็นผู้มีรูปสวยกล่าวคือสรีระทั้งสิ้นงาม
๕.ความเป็นใหญ่โดยความเป็นอธิบดี
๖.เป็นผู้มีบริวารมาก