พระพุทธกวัก ถ้าเรียกเป็นแบบทางการก็ได้คือ พระพุทธรูปปางประทานเอหิภิกขุ แต่เรามักเรียกตามภาษาชาวบ้านตามที่เห็นว่า พระพุทธกวัก ซึ่งมีพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางประทานเอหิภิกขุ ดังนี้
- พระพุทธรูปปางประทานเอหิภิกขุนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ
- พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา
- พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้ง ฝ่าพระหัตถ์ตรงออกไป งอนิ้วพระหัตถ์ลงหน่อย เป็นกิริยาทรงกวักจนบางแห่งเรียกตามพุทธลักษณะนี้ว่า พระพุทธกวัก
ตำนานพุทธรูปปางประทานเอหิภิกขุ หรือพระพุทธกวัก
เมื่อโกณฑัญญะหนึ่งในปัญจวัคคีย์ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ได้เกิดธรรมจักษุแจ่มแจ้งในธรรมขึ้นแล้ว สิ้นความสงสัยแล้ว ดำรงมั่นอยู่ในอริยคุณชั้นเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันแล้ว ท่านจึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาจึงได้ทรงอนุญาตให้ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมวินัยนี้ ด้วยทรงเปล่งพระวาจาว่า “เอหิ ภิกขุ” เป็นอาทิ ซึ่งมีใจความว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” ด้วยการตรัสพระวาจาเพียงเท่านี้ท่านโกณฑัญญะนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นอันอุปสมบทแล้ว
การอุปสมบทด้วยวิธีการอย่างนี้ เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” มีสมเด็จพระบรมศาสดาทรงเป็นพระอุปัชฌายะโดยตรง และเป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงทำ ทรงเป็นพระอุปัชฌายะองค์แรก มีพระโกณฑัญญะเป็นพระภิกษุรูปแรก
พระพุทธจริยาที่พระองค์ผู้เป็นพระบรมศาสดาได้ทรงเป็นพระอุปัชฌายะในการประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พระโกณฑัญญะ จัดเป็นนิมิตหมายมงคลอันดีของพระสาวกผู้ที่ได้รับซึ่งมีแต่ความเจริญงอกงามในพระศาสนา ถือว่าเป็นโชคลาภอย่างยิ่งของท่านที่ได้รับพระวาจาและได้ทัสสนาพุทธจริยาเช่นนี้ ต่อมาจึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมา เรียกว่า “ปางประทานเอหิภิกขุ” แต่เราถือเอาพุทธลักษณะที่เห็นเป็นเหมือนว่ากวัก มาเรียกกันว่าพระพุทธกวัก และสื่อโชคลาภใหม่ตามแต่ใจปรารถนาของบุคคลที่ต้องการลาภผลทางสังคมโลกอยู่ว่า หากใครได้บูชาพระพุทธกวักนี้ เหมือนพระพุทธองค์กวักให้มารับโชคลาภมาให้เรา
พุทธคุณ พระพุทธกวัก
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น การที่พระพุทธองค์ได้กวักเรียกใครเข้ามาด้วยพระดำรัสเอหิภิกขุ ถือว่าเป็นโชคลาภของผู้นั้น เมื่อมีการสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือพระพิมพ์ขึ้นมาเรียกตามพุทธลักษณะที่เห็น จึงมักเรียกกันว่าพระพุทธกวัก หรือเชื่อว่าหากได้บูชาแล้ว เป็นสิริมงคลยิ่งนัก นำมาซึ่งลาภผล เป็นต้นว่า
- โชคลาภ วาสนา
- เมตตามหานิยม
- เงินทองไหลมา
- เลื่อนยศตำแหน่ง
- หายโรคภัย สุขภาพแข็งแรง
- เดินทางปลอดภัย
- ค้าขายดี มีลูกค้าเนื่องแน่น
- เป็นสง่าราศี แก่ผู้บูชา
- มีความร่มเย็นเป็นสุข
- แคล้วคลาดปลอดภัย
พระพุทธกวักที่ได้รับความนิยม
- พระพุทธกวักหลวงปู่ทาบ
- พระพุทธกวักหลวงพ่อทาบ
- พระพุทธกวักหลวงปู่บุญ
- พระพุทธกวักหลวงปู่นาค
- พระพุทธกวักหลวงพ่อกวย
- พระพุทธกวักหลวงพ่อแฉ่ง
- พระพุทธกวักหลวงพ่อทบ
- พระพุทธกวักหลวงพ่อเดิม
- พระพุทธกวักหลวงพ่อเต๋
- พระพุทธกวักหลวงพ่อสร้อย
- พระพุทธกวักหลวงพ่อขันธ์
- พระพุทธกวักหลวงพ่อเจ็ก
- พระพุทธกวักหลวงพ่อปลอด
- พระพุทธกวักหลวงปู่จันทร์
- พระพุทธกวักแม่ชีบุญเรือน
มวลสารที่นิยมนำมาสร้างพระพุทธกวัก
- พระพุทธกวักเนื้อไม้แกะ
- พระพุทธกวักเนื้อผง
- พระพุทธกวักเนื้อดิน
- พระพุทธกวักเนื้อว่าน
- พระพุทธกวักเนื้อทองสำริด
- พระพุทธกวักเนื้อทองคำ
- พระพุทธกวักเนื้อเงิน
- พระพุทธกวักเนื้อทองแดง
- พระพุทธกวักเนื้อชิน
- พระพุทธกวักเนื้อตะกั่ว
คาถาบูชาพระพุทธกวัก
กำลังรวบรวมครับ แต่เจอในเว็บพลังจิตว่าดังนี้
มาตาวะ ปาริโต สันเต มานะพัตเถ ปะระมัตธิโน
นามิโต เทวะสังเฆหิ มานะฆาตัง นะมามิ นะมัสสามิ
จากข้างบน ผมไม่แน่ใจไวยากรณ์ น่าจะเป็นบทว่า
มาตาวะ ปาลิโต สัตเต
มานะถัทเธ ปะมัททิโต
มานิโต เทวะสังเฆหิ
มานะฆาฏัง นะมามิหัง
คำแปล
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงถนอมสัตว์ทั้งหลาย ดังมารดาถนอมบุตร พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงกำหราบเสียได้ซึ่งคนกระด้างเย่อหยิ่ง พระพุทธเจ้าพระองค์ใดอันหมู่เทวดานับถือแล้ว ข้าฯขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้กำจัดมานะได้
แต่ผมแนะนำว่าสวดบูชา พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ด้วยบทความ อิติปิ โส…………….. สวากขาโต………… สุปฏิปันโน……………ดีแล้วครับ หรือไม่งั้นก็สวดพระธรรมจักรไปเลย เพราะเป็นพระสูตรต้นกำเนิดพระพุทธรูปปางนี้ครับ