เป็นที่ทราบกันดีว่า การถวายสังฆทาน คือการถวายแก่สงฆ์ ถวายเป็นส่วนรวม มิใช่ถวายเฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง พระทั้งหมดมีสิทธิ์ได้ใช้สอยร่วมกัน บางครั้งพระสงฆ์จะทำการอปโลกน์เพื่อให้สามเณร ศิษย์วัด และฆราวาสญาติโยมได้ใช้ด้วยกัน ส่วนมากจะเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆที่สามารถหยิบแจกจ่ายกันได้ทันทีเป็นต้นว่าอาหารการกิน ผลไม้ น้ำดื่ม สบู่ ยาสีฟัน ยารักษาโรค รวมทั้งปัจจัยที่เป็นเงินด้วย
บางครั้งจะมีหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น โรงเรียน, ที่ทำการ อบต., สถานีอนามัย ได้จัดงานทำบุญทอดผ้าป่าแล้วนิมนต์พระไปรับ แต่ไม่ได้นำเงินรายได้นั้นเข้าวัดหรอก แต่นำเงินรายได้เข้าโรงเรียนหรือสถานที่นั้น ๆ แต่มีการกล่าวคำถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ….. แต่ไม่ได้นำปัจจัยมาถวายทั้งหมด แบบนี้พระจะทำการอปโลกน์เพื่อให้นำเงินนั้นไปใช้ได้อย่างไม่ผิดต่อสงฆ์ ไม่งั้นจะเป็นอันว่านำของสงฆ์ไปใช้ก็จะเป็นบาปกรรมอีก
ที่นี้มาพูดถึงคำถวายสังฆทาน ในเว็บไซต์พระคุ้มครองได้นำคำถวายสังฆทาน 2 แบบมาใช้ ได้แก่ คำถวายสังฆทานที่ขึ้นด้วยคำว่า อิมานิ มะยัง ภันเต………และคำถวายสังฆทานที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ยัคเฆ ภันเต สังโฆ, ปะฏิชานาตุ….. มีคำถามว่าทั้ง 2 คำนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร ใช้ต่างกันอย่างไร ผมขออธิบายดังนี้ :-
คำถวายสังฆทานขึ้นต้นด้วย “อิมานิ”
คำถวายสังฆทานขึ้นต้นด้วยคำว่า อิมานิ มะยัง ภันเต……… เป็นต้น ใช้กับการถวายสิ่งของที่สามารถยกขึ้นประเคนได้ คนเดียวสามารถยกขึ้นด้วยสองมือประเคนพระได้ เป็นต้นว่า ถวายภัตตาหาร ถวายน้ำดื่ม ถวายยารักษาโรค ถวายผ้าไตรจีวร หรือสิ่งอื่น ๆ ที่สามารถยกขึ้นประเคนได้ด้วยมือ ซึ่งในคำแปลภาษาไทยจะใช้คำว่า …ขอน้อมถวาย…(ซึ่งภัตตาหาร)
คำถวายสังฆทานขึ้นต้นด้วยคำว่า “ยัคเฆ”
คำถวายสังฆทานขึ้นต้นด้วยคำว่า ยัคเฆ ภันเต สังโฆ, ปะฏิชานาตุ….. เป็นต้น ใช้กับการถวายสิ่งของที่อยู่กับที่ เป็นต้นว่า ถวายกุฏิ ถวายศาลา ถวายอุโบสถ ถวายวิหาร ถวายที่ดินสร้างวัด และใช้กับการถวายสิ่งของที่บุคคลคนเดียวไม่สามารถยกขึ้นประเคนได้ด้วยมือทั้งสอง เป็นต้นว่า ถวายรถ ถวายตู้เย็น ถวายช่อฟ้าใบระกา ถวายใบเสมา ถวายลูกนิมิต ถวายพระพุทธรูป ซึ่งจะมีคำแปลในภาษาไทยว่า …ขอมอบถวาย…(ซึ่งโรงอุโบสถ)
การใช้คำถวายสังฆทานมีความต่างกันตามที่กล่าวมานี้ครับ ไม่เกี่ยวกับว่าของนั้นมีมากหรือมีน้อยชิ้น ไม่เกี่ยวกับว่าของนั้นมีราคามากหรือราคาน้อยแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ความผิดอะไรมากมายหากจะกล่าวคำถวายทุกอย่างด้วยคำว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต…..” แม้ใช้คำถวายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถวายด้วยภาษาของตนเพื่อให้สงฆ์รับทราบ หรือยกขึ้นประเคนก็เป็นอันถวายต่อสงฆ์แล้ว เป็นการสำเร็จการถวายตามความหมายของสังฆทานแล้ว ผู้ถวายก็ได้บุญได้อานิสงส์เช่นเดียวกัน