“ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัวปั้นหุ่น วัดศรีษะทอง เบี้ยแก้กันของ วัดนายโรง“ นี่คือคำกล่าวของนักสะสมนิยมเครื่องรางรุ่นเก่าเล่าสืบทอดกันมา จนกลายมาเป็น “เบญจเครื่องราง”
ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก
ปลัดขิกเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่ง ที่คนไทยรู้จักกันมานาน โดยเฉพาะชุมชนต่างจังหวัด อาจจะเป็นเครื่องชิ้นแรกที่รู้จักก็ได้ ปลัดขิกถูกสร้างเป็นสัญลักษณ์ของศิวลึงค์ บางพื้นนที่เรียกปลัดขิกว่าตะกรุดไม้ เพราะปลัดทำจากไม้เป็นส่วนมาก และไม้เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายอีกทั้งทำได้ง่ายกว่าวัสดุอื่นอีก
เสน่ห์ของปลัดขิกคือเป็นการทำด้วยมือชิ้นต่อชิ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อิทธิคุณหรือคนโดยมากใช้คำว่าพุทธคุณของปลัดขิกก็ไม่แพ้เครื่องรางของขลังชนิดอื่น โดยเฉพาะอิทธิคุณในด้านด้านเมตตา ค้าขาย และโชคลาภ นอกจากนั้นปลัดขิกยังมีอิทธิคุณในด้านการป้องกันสิ่งอัปมงคลและคุณไสยทั้งหลายได้ด้วย การพกพาก็ง่าย ไปได้ทุกที่ คาดเอวก็ได้ ทำเป็นพวงกุญแจห้อยสายเข็มขัดก็เท่ห์ไม่น้อย
ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ถือว่าเป็นสุดยอดปลัดขิกเมืองไทย ควบคู่กับปลัดขิกหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี ใครมีของแท้ไว้ครอบครองไม่ต้องหาปลัดขิกสำนักอื่นแล้ว สุดยอดแห่งเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ ค้าขายได้โชคลาภ ตามด้วยคงกระพัน มีความแคล้วคลาดปลอดภัย
หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ท่านสร้างปลัดขิกเพื่อให้ลูกศิษย์ได้พกติดตัว สำหรับป้องกันภัยที่ไม่พึงปรารถนา และเสริมเสน่ห์ เสริมเมตตาแก่ผู้พกพาอาราธนาติดตัว
ปลัดขิกเป็นเครื่องรางดีทางสร้างเสน่ห์เมตตามหานิยมต่อเพศตรงข้าม เล่นตลกโปกฮา ทำให้คนสนใจ กันเขี้ยวงาได้ ใช้ทางอยู่ยงคงกระพันมหาอุดก็เยี่ยม เหตุที่ต้องสร้างปลัดขิกเป็นสัญลักษณ์เครื่องเพศชายนั้น เนื่องชายเป็นสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่ง ความทรหดอดทน เป็นสิ่งให้การสืบต่อของเผ่าพันธุ์ และสืบเนื่องมาจากการบูชาศิวลึงค์ในศาสนาพราหมณ์ ดังนั้น โบราณาจารย์ท่านจึงนำวัสดุที่หาได้ง่ายคือไม้นำมาสร้างเป็นสัญลักษณ์ไว้ แล้วจึงนำมาลงอักขระ “หัวใจโจร” และ “หัวใจมนต์คาถา” บางอย่างลงไป
ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา ท่านลงอักขระหัวใจโจรคือ “กันหะเนนะ” ตัวกันหะใช้ “น” สะกด ยังลงอักขระ “อุมะอุมิ” หรือ “อิติกะริ อิติกะตา” อีกด้วย เฉพาะรอบ ๆ หน้าประธานลงด้วย “อุ” ถ้าจารหวัด ๆ หน่อย ดูคล้ายเลขสามไทย ส่วนมากจะลง 3-5 ตัว
คนโบราณกล่าวว่า ปลัดขิกจะมีอิทธิคุณในด้านใดนั้น ขึ้นอยู่กับอักขระที่จาร คาถาที่ใช้เสก ซึ่งมีทั้งด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ โชคลาภ ค้าขาย ดึงดูดเพศตรงข้ามคงกระพัน แคล้วคลาดจากอันตราย กันสัตว์ร้ายเขี้ยวอสรพิษ เป็นต้น
ประวัติหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก
หลวงพ่อเหลือ นนฺทสาโร หรือ พระครูนันทธีราจารย์ วัดสาวชะโงก นามเดิมว่า “เหลือ รุ่งสะอาด” เป็นชาวฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2405 ณ ต.บางเล่า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา บิดาชื่อว่ารุ่ง รุ่งสะอาด มารดาชื่อว่าเพชร รุ่งสะอาด
ชีวิตในวัยเยาว์ ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยเหลือการงานของบิดามารดาและญาติพี่น้องจนเป็นที่รักใคร่ของครอบครัวและเพื่อนบ้าน เมื่อปีพ.ศ.2428 จึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี พระอาจารย์คง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการขิก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์โต วัดสาวชะโงก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาในทางพระว่า นนฺทสาโร
พระภิกษุเหลือได้ทำการศึกษาอักษรสมัยในยุคนั้น คืออักษรขอม-ภาษาบาลี และศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน จากพระอธิการขิก ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงกในสมัยนั้น จากนั้นท่านจึงเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณอีกหลายท่าน เป็นต้นว่า หลวงพ่อดำ วัดกุฎี จ.ปราจีนบุรี, หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี
หลวงพ่อเหลือท่านเป็นสหธรรมิกกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป เป็นต้นว่า หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ ผู้เก่งในด้านทำน้ำมนต์, หลวงพ่อนก วัดสังกะสี ศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ฯลฯ
หลวงพ่อเหลือ ท่านเป็นพระที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย รักความสงบ มีเมตตาธรรมสูง มุ่งทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างและบูรณะศาสนสถานและศาสนวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดสาวชะโงก และวัดใกล้เคียงในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ท่านพอจะช่วยได้ตั้งแต่ท่านยังเป็นพระลูกวัด จนลุถึงปีพ.ศ.2461 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงกในปีพ.ศ.2474
เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงกแล้ว ท่านปกครองคณะสงฆ์และพัฒนาวัดให้เจริญขึ้นโดยลำดับ ท่านได้สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดสาวชะโงก ชื่อว่าโรงเรียนวัดสาวชะโงก (นันทประชาสรรค์) เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาต่อชาวบ้านต่อไป
หลวงพ่อเหลือท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านคาถาอาคม ท่านมักได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกในงานต่าง ๆ งานใหญ่ระดับประเทศท่านก็ไปมาแล้ว นอกจากนั้นในครั้งสงครามอินโดจีน ท่านก็เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่สร้างผ้ายันต์แดงเพื่อแจกทหารในสงคราม แต่เครื่องรางที่โดดเด่นที่สุดของท่าน คือ ปลัดขิก
เมื่อความชราเข้ามาถึง หลวงพ่อเหลือท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ม.ค.2488 เวลา 04.00 น. นับว่าเป็นการสูญเสียพระเกจิอาจารย์สำคัญอีกรูปหนึ่ง
ตำนานวัดสาวชะโงก
ท่านผู้อ่านคงจะมีความสงสัยว่า เหตุใดวัดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “วัดสาวชะโงก” เรื่องนี้มีตำนานอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ก่อนที่พื้นที่แห่งนี้จะได้สร้างวัด มีขบวนเรือเจ้าบ่าวได้ยกขันหมากมาทางเรือ เพื่อมาสู่ขอเจ้าสาว เมื่อขบวนขันหมากใกล้มาถึงที่ตรงนั้น เจ้าสาวทนความตื่นเต้นไม่ไหวจึงได้ชะโงกหน้าดูขบวนแห่ขันหมาก จึงเป็นเหตุทำให้พลัดตกลงมาจากเรือนเสียชีวิต ด้วยความรักอาลัยที่มีต่อบุตรสาว พ่อแม่นางจึงได้ยกที่ดินผืนนี้สร้างเป็นวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่นาง และเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่นาง จึงเรียกชื่อว่า “วัดสาวชะโงก” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา