แก้กรรมได้อย่างไร คำแนะนำในการแก้กรรม
คำแนะนำในการแก้กรรมนี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้ท่านไปทำกรรมชั่วแล้วให้มาแก้กรรม หรือล้างกรรมทีหลัง แต่แนะนำสำหรับผู้ที่ทำกรรมไม่ดีมาด้วยความประมาท พลั้งเผลอ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยกตัวอย่างท่านองคุลิมาล เมื่อก่อนทำด้วยความประมาท ด้วยความไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นบาปกรรม
วิธีแก้กรรมที่ดีที่สุด
ก็คือในเบื้องต้นทำความเห็นให้ถูกต้อง หรือเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะเมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว ย่อมกำจัดความเห็นผิดทั้งหลายได้ มีกัมมสัทธา เชื่อในเรื่องกรรม วิปากสัทธา เชื่อในการให้ผลของกรรม กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่มีกรรมเป็นของตน แล้วกลับมาบำเพ็ญความดี หรือบุญตามหลักที่ควรเป็น คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ในการทำความดีนี้ ถึงจะมุ่งหวังการแก้กรรมเป็นเหตุ แต่ก็ไม่ควรกังวลว่าแก้ได้หรือไม่ได้ พึงทำใจอยู่เสมอว่า เรามีการกระทำเป็นของตน อนึ่ง การให้ผลของกรรม เป็นเรื่องอจินไตย ใคร ๆ ไม่ควรคิดมาก ไม่ควรกังวลมาก ให้ทำดีที่สุด เมื่อทำดีมากๆ แล้ว กรรมไม่ดีต่าง ๆ ก็อาจจะไม่มีโอกาสให้ผล หรือตามไม่ทัน หรือกลายเป็นอโหสิกรรมไป ต่อไปนี้ จะนำวิธีแก้กรรม ที่ท่านผู้ที่ผ่านการศึกษาได้เสนอแนะไว้ เห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะเกี่ยวข้องกับการทำความดีทั้งนั้น
แนวทางสำหรับการแก้ไขวิบากกรรมให้เบาบางลงไป
คำแนะนำในการแก้กรรม
สำหรับท่านที่ผิดพลาดไปแล้ว ก็อยากขอแนะนำหนทางแก้ไข วิบากกรรม เหล่านั้นให้บรรเทาลงไปหรือหมดไปในที่สุด ใช้ได้กับ กรรม ทุกประเภท มีข้อแนะนำดังนี้
1.ทำบุญอุทิศส่วนกุศล
ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่กำลังติดตามให้ผลเราอยู่ทุกรูปแบบ เพื่อให้ดวงวิญญาณนั้นเห็นว่า เรามีความตั้งใจจริงและสำนึกในผลกรรมที่ได้กระทำลงไป เช่น การทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ถวายพระพุทธรูป ถวายผ้าไตร ไถ่ชีวิตสัตว์ ฯล แล้วตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ในตัวของเราเท่านั้น แต่ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่านี่เป็นเพียงทานกุศล เป็นกุศลเบื้องต้นที่ยังหยาบอยู่ซึ่งอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการไถ่โทษฑัณฑ์ที่ได้กระทำผิดไว้กับเจ้ากรรมนายเวรตนนั้นก็ได้
2. การบวชพราหมณ์หรือการบวชพระ
การถือศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ตามเพศภาวะ ส่วนจะเป็นการบวชกี่วันย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เมื่อบวชแล้วควรสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้า-เย็น เจริญสมาธิภาวนาให้มาก เพราะเป็นกุศลที่ละเอียดสูงกว่าการให้ทานข้างต้น เพราะการบวชชีพราหมณ์หรือการถือศีล 8 เป็นระดับของบุญที่สูงกว่าการให้ทาน นอกจากจะมีโอกาสทำวัตรเช้าเย็น ก็ยังได้นั่งสมาธิแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่เป็นทิพย์ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรอีกด้วย หรือ ถ้าเป็นกรรมหนักและเป็นผู้ชายก็อาจบวชพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรก็ยิ่งดีมาก
3. เจริญสมาธิภาวนา
แม้เราจะไม่มีเวลาไปบวชถือศีลที่วัดก็ตาม เราก็ควรจะทำบ้านให้เป็นวัด ด้วยการสวดมนต์และเจริญสมาธิภาวนาให้เป็นนิจ เพราะบุญจากการเจริญสมาธิภาวนา เป็นกุศลที่ละเอียดมากและสูงที่สุด ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของทุกดวงจิตดวงวิญญาณ เพราะผู้มีกายทิพย์หรือกายละเอียดย่อมอยากได้บุญที่ละเอียดเช่นกัน
อีกประการหนึ่ง จะเป็นการคลายขันธ์หรือปรับปรุงธาตุขันธ์ให้ผ่อนคลายระงับ เบญจขันธ์อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กรรมเล็ก กรรมน้อย จะถูกขับผ่อนคลายออกจากขันธ์ได้บางส่วน ทำให้ดีขึ้นและเกิดปิติสุขตามมา พยายามให้จิตแน่วแน่มั่นคง จนจิตดิ่งวูบจนเกิดความสงบและสุขในใจ แล้วแผ่เมตตาให้ดวงจิตดวงวิญญาณนั้นมาอนุโมทนา และให้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน
องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กล่าวว่า หากเราทำจิตให้นิ่งสงบได้เพียงช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ย่อมสามารถปิดอบายภูมิได้ คือ ทำความดีหนีความชั่ว ดังนั้นแม้ไม่อาจจะไปบวชชีพราหมณ์ได้ ก็อยู่ปฏิบัติเอาเองที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ทำจริงเท่านั้น (ข้อที่ว่าปิดอบายภูมิได้นั้น หมายถึงชั่วขณะที่จิตสงบนิ่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าปิดได้ตลอดกาล หมายความว่าถ้าตายในขณะที่จิตสงบเป็นกุศล ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้ไปสู่สุคติ หรือมีสุคติเป็นที่หวัง ที่ปิดอบายภูมิได้เด็ดขาด คือพระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้น)
4. การขออโหสิกรรม หรือ การให้อภัยทาน
ในบรรดาทานทั้งหลายอันประกอบด้วย วัตถุทาน ธรรมทานและอภัยทาน ถือว่าอภัยทานเป็นทานในระดับปรมัตถทานบารมี หากมีการให้อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน กรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ หลุดพ้นจากบ่วงกรรมนั้นทันที ดังนั้นหากเจ้ากรรมนายเวรใดปรากฏตนต่อหน้าในขณะนั้น ก็พึงประกาศขออโหสิกรรมกันทันที หากแม้ว่าอีกฝ่ายไม่ยอม กรรมนั้นก็ย่อมดำเนินการส่งผลต่อไป สุดแท้แต่ลักษณะแห่งกรรมที่กระทำกันมา
ดังนั้น ทุกครั้งที่ทำบุญแล้วให้กรวดน้ำแผ่เมตตา ระบุถึงเจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ในตัวข้าพเจ้า หรือ ที่ติดตามข้าพเจ้า ให้มาอนุโมทนาในส่วนบุญส่วนกุศลที่ข้าพเจ้าอุทิศให้นี้ และกรรมอันใดที่ได้กระทำไปโดย เจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอให้เป็นอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะอุทิศให้แก่เขาจริง ๆ และด้วยความสำนึกผิด
5.ขอร้องไกล่เกลี่ย
เมื่อทำทุกอย่างที่แนะนำแล้ว เหตุการณ์รอบ ๆ ตัว หรือ สุขภาพการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น ก็ต้องหาคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยให้ ดังนั้น ?พระสงฆ์?ผู้ทรงศีล จึงเป็นทางออกที่ดี เพราะท่านเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และมีศีล 227 ย่อมมีวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เพราะเราเป็นจำเลย แต่วิญญาณที่อาฆาตเป็นโจทก์
ดังนั้นถึงแม้เราจะพยามสร้างบุญสร้างกุศลทุกรูปแบบแล้ว เจ้ากรรมนายเวรอาจจะยังไม่ยอมก็ได้ เพราะความโกรธยังมีอยู่จึงไม่ยอมฟังเสียงร้องขอของเรา จึงจำเป็นต้องอาศัยคนกลางที่เป็นที่เคารพนับถือหรือเกรงใจกันไกล่เกลี่ยให้ โดยอาศัยจิตสำนึกในบาปบุญที่ได้กระทำมา และสร้างกุศลอยู่เสมอเป็นสำคัญ ประกอบด้วยพระสงฆ์ที่มีบุญฤทธิ์และเมตตาจิตที่แผ่เมตตาโปรดสัตว์ผู้ทุกข์ยากทั้งหลาย ให้เกิดปัญญาดวงตาเห็นธรรม จนยอมละวางและให้อโหสิกรรมต่อกัน
ท่านทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้ คงจะมีคำถามมากมายว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เจ้ากรรมนายเวรยอมอโหสิกรรมให้ ถ้าท่านอยากทราบคำตอบสุดท้ายตรงนี้ ก็ต้องติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ทุกตัวอักษร แล้วท่านจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่ท่านสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง แล้วจะเข้าใจเรื่องราวของ ?กรรม? ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจทำให้ท่านเกิดความรู้สึกกลัว ?กรรม? กว่าที่เคยกลัวมาว่า ?เจ้ากรรมนายเวร? ไม่ใช่แค่คำพูดที่ไว้หลอกคนให้กลัว แต่เป็นเรื่องจริง ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับคำอธิบายให้ชัดเจนจากที่ไหนมาก่อนเท่านั้น
เจ้ากรรมนายเวร ก็คือ ดวงจิตดวงวิญญาณที่มีความอาฆาตพยาบาทกันมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะมากหรือน้อยก็ย่อมขึ้นอยู่กับ บุพกรรม ของแต่ละคน บางดวงจิตดวงวิญญาณหากมาจุติเป็นมนุษย์เหมือนกัน ก็จะคอยจองล้างจองพลาญ หาทางทำลายเราในทุกโอกาสทุกสถานที่ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ต่างกรรมต่างวาระ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเราแปรเปลี่ยนไป หมุนเวียนกันไป ดีบ้างแย่บ้าง สุดแท้แต่กรรมดีหรือกรรมชั่วจะส่งผล
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เราจึงควรสั่งสมบุญไว้ หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เอาบุญเป็นตัวนำ เพื่อถ่วงดุลความชั่วให้ส่งผลช้าหรือไม่สามารถให้ผลได้ทัน เพราะน้ำหนักบุญมากกว่าน้ำหนักบาปนั่นเอง