การสอนเรื่องความมีอยู่ของชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิด ไม่ทำให้คนเพ้อฝันหรือ ?
อาจจะฝันแต่ไม่ใช่เพ้อฝัน กลับเป็นการใฝ่ฝันอย่างความใฝ่ฝันที่คนร้องเพลงกันว่า “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” นั้นเอง ปัญหาเรื่องชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิดนั้น ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นเรื่องของผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย คนอาจจับเอาหลักเพียงพระพุทธภาษิตที่ว่า
อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ ภิยฺโย นนฺทติ สุคติ คโต
ผู้มีบุญอันกระทำแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสองคือบันเทิงอยู่ในโลกนี้
ละไปแล้วย่อมบันเทิง ย่อมบันเทิงด้วยความคิดว่าบุญอันเรากระทำไว้แล้ว ไปสุคติแล้วจะบันเทิงยิ่ง ๆ ขึ้น
จะพบว่าพระพุทธภาษิตนี้แสดงเหตุแห่งความบันเทิงในโลกทั้งสองไว้ว่าได้แก่บุญผล คือความบันเทิงจะเกิดขึ้นในโลกทั้งสองได้ ก็ต้องสร้างเหตุคือบุญไว้ ความสำนึกเช่นนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนผู้ปรารถนาผลดังกล่าว รีบเร่งกระทำเหตุที่ให้เกิดผลเป็นความบันเทิงในโลกทั้งสอง
ความสำเร็จในชีวิตคนจะต้องเริ่มมาจากความใฝ่ฝันเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เสียก่อน แล้วในที่สุดทำให้คนเหล่านั้นเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนใฝ่ฝัน ความเพียรพยายามนั้นจะยุติลง เมื่อตนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เคยใฝ่ฝันไว้
การสอนการเชื่อในเรื่องชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิด จึงเป็นพลังอันมหาศาลที่จะผลักดันวิถีชีวิตของคนให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสุจริตทาง กาย วาจา ใจ ซึ่งอำนวยผลให้คนเห็นได้ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคมอันเป็นส่วนรวม สังคมจะมีสมาชิกที่ยึดมั่นในความถูกต้องตามธรรมมากขึ้น ความเห็นแก่ตัว พวกของตัว พ่อค้าหน้าโลหิตจะน้อยลงได้มากทีเดียว เมื่อผลออกมาได้อย่างนี้ใครจะเรียกว่า เพ้อฝันหรือสร้างวิมานในอากาศจะสำคัญอะไร ?
หากการสอนเรื่องบุญบาป ชาติหน้า เป็นเรื่องเพ้อฝันแล้ว ผู้สอนจะได้อะไรในเรื่องนี้ สอนให้คนบำรุงบำเรอตนเองไม่ดีกว่าหรือ อย่างที่ศาสนาบางศาสนาสอนให้บำรุงบำเรอบุคคลผู้เป็นศาสดาหรือสอนให้ไปบำรุงบำเรอผู้เป็นศาสดาในสวรรค์หรือในดินแดนของศาสดา แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นอย่างนั้น พระพุทธศาสนากลับกล่าวว่าสัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม ทำบุญ ทำดีตามที่ทรงทรงสอนไม่ได้หมายความว่าต้องมารับใช้บุคคลผู้สอน หรือทำชั่วไม่ได้หมายความว่าต้องตกนรกตามที่ผู้สอนสร้างไว้ (ผู้สอนไม่ได้สร้างนรกหรือแช่งให้ตกนรก แต่ผู้ทำกรรมย่อมเป็นไปตามกรรมของผู้ทำเอง)