การกรวดน้ำ คือวิธีการอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งพุทธศาสนิกชนโดยมากนิยมปฏิบัติกันในเวลาที่มีการทำบุญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่นว่า บวชนาค ทำบุญวันเกิด งานศพ หรือหลังการทำบุญตักบาตร โดยมีภาชนะ 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งใส่น้ำ นิยมเป็นขวดหรือแก้วน้ำหรืออาจจะเป็นที่สำหรับกรวดน้ำโดยเฉพาะเหมือนดังภาพข้างบน อีกภาชนะหนึ่งใช้สำหรับรองน้ำที่รินไหลลงมา ค่อยรินไหลลงมาพร้อมกับอุทิศบุญไปในใจหรือวาจา ถ้าคนที่เข้าวัดเข้าวาหรือรู้พิธีการหน่อยก็จะมีบทกรวดน้ำเฉพาะ
มีบทสวดน้ำบทหนึ่งที่คนไทยแต่เก่าก่อน คนลาวและคนเขมรชอบใช้มาก ถ้ามีพิธีทำบุญใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทำบุญในโอกาสใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะการทำบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้อง แม้จะเสียชีวิตนานแล้วหรือเพิ่งเสียก็ตาม พวกเขาจะขาดไม่ได้ นั่นคือบทกรวดน้ำ “อิมินา” บทกรวดน้ำบทนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของพวกเขาเป็นอย่างมาก ถ้าพระไม่สวดให้พวกเขาก็ทวงจากพระและขอร้องให้พระสวดให้ ไม่งั้นไม่ลงใจ ซึ่งบทกรวดน้ำ “อิมินา” นั้นมีอยู่ว่า
บทกรวดน้ำ อิมินา (ของเก่า)
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
อาจะริยูปะการา จะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา
สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
พรัหมะมารา จะ อินทา จะ โลกะปาลา จะ เทวะตา
ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง.
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
ขิปปาหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะเฉทะนัง
เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
มารา ละภันตุ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
พุทธาทิปะวะโร นาโถ ธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา.
คำแปล บทกรวดน้ำ อิมินา
ด้วยการทำบุญนี้ ขอให้พระอุปัชฌาย์ผู้มีพระคุณสูงสุด
ขอให้อาจารย์ผู้มีอุปการะ ขอให้มารดาบิดาและญาติทั้งหลาย
ขอให้พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระราชา อีกทั้งท่านผู้มีพระคุณ
ขอให้พระพรหมและหมู่มาร ทั้งพระอินทร์และท้าวโลกบาลทั้งสี่ กับเทวดาทั้งหลายด้วย
ขอให้พระยม และมนุษย์ทั้งหลาย ที่รักใคร่เป็นมิตรสหาย ที่เป็นกลาง ๆ
รวมทั้งพวกที่มีเวรต่อกันด้วยขอให้บรรดาสัตว์ทั้งหลาย
จงมีความสุขทั่วกัน และขอบุญทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้
จงอำนวยความสุขทั้ง ๓ ประการ
ขอให้ท่านทั้งหลายจงบรรลุอมตะนิพพานโดยเร็วเถิด
ด้วยการทำบุญนี้ และด้วยการอุทิศส่วนกุศลนี้
ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุพระนิพพานซึ่งตัดขาด (กิเลส)
ตัณหา และอุปาทาน โดยเร็วและโดยง่ายเถิด กว่าจะลุถึงนิพพาน
บรรดาสิ่งเลวร้ายทั้งหลายเหล่าใดที่มีอยู่ในสันดานของข้าพเจ้า
ขอให้บรรดาสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย เหล่านั้นจงสูญสิ้นไปทุก ๆ ขณะด้วยเถิด
ข้าพเจ้าไปเกิด ในภพใด ๆ ขอให้จิตใจซื่อตรง มีสติปัญญา
มีความเพียรขัดเกลากิเลส และขอให้ศัตรูหมู่มารทั้งหลาย
จงอย่าได้มี โอกาสทำการรบกวนในเวลาข้าพเจ้าทำความเพียรเลย
พระพุทธเจ้า ทรงเป็นนาถะที่พึ่งอันประเสริฐ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันสูงสุด
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เป็นที่พึ่งด้วยพระสงฆ์ก็เป็นที่พึ่งอันสูงสุด ของข้าพเจ้า
ด้วยอานุภาพอันเยี่ยมยอดของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระสงฆ์ทั้งหลาย เหล่านั้น ขออย่าให้มารทั้งหลายได้โอกาสเลย.
คำแนะนำในการกรวดน้ำ
- ควรกรวดน้ำทันหลังจากที่ได้ทำบุญ เพราะเจตนาในการทำบุญของเราเต็มที่ เต็มเปี่ยมแล้ว ถ้านานเข้าสิ่งอื่นอาจจะมาครอบงำ เช่น นึกเสียดาย รู้สึกเหนื่อยหน่าย หรือลืมเสียทำให้ อปราปรเจตนา ไม่เต็มเปี่ยม
- การกรวดน้ำอุทิศบุญนั้นทำได้ 2 วาระใหญ่ ๆ เท่าที่ผมนึกได้ตอนนี้
1. กรวดน้ำในพิธีบำเพ็ญบุญ ปกติแล้ว ถ้าทำบุญถวายสังฆทาน หรือทำบุญที่พระทำการอนุโมทนา ผู้ทำบุญก็จะเริ่มกรวดน้ำ เมื่อพระเริ่มอนุโมทนาว่า “ยถา วาริวหา….. ช่วงที่กรวดน้ำนั้นก็ตั้งเจตนาอุทิศส่วนบุญให้กับบุคคล/สรรพสัตว์ที่เราต้องการอุทิศไปให้ และควรเทน้ำลงให้หมดเมื่อพระหยุด …..ยถา หรือพระรูปที่สองรับ สัพพี…..
2. กรวดน้ำหลังสวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิภาวนาเสร็จ นี่ก็เป็นการกรวดน้ำหลังทำบุญเช่นกัน ซึ่งก็นิยมกรวดน้ำอุทิศบุญด้วยบทกรวดน้ำ อิมินา - การกรวดน้ำ ควรใช้น้ำและภาชนะที่สะอาด เช่น น้ำสำหรับดื่ม ขวดน้ำ แก้วน้ำ ภาชนะสำหรับรองน้ำก็ควรเป็นขัน ถ้วย จานที่สะอาด ไม่ควรใช้ภาชนะที่ไม่เหมาะสม เช่น กระโถน ถังขยะ เป็นต้น
- การกรวดน้ำ ควรเทให้น้ำไหลสม่ำเสมอ ไม่ขาดสาย และไม่ควรใช้นิ้วมือกั้นสายน้ำไว้ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาในการอุทิศบุญไปให้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ขาดสาย
- ไม่กรวดน้ำได้ไหม ไม่กรวดน้ำก็ได้ แต่เหมือนกับคำถามที่ว่า ไม่ให้ทานแก่คนยากไร้ได้ไหม ไม่ทำบุญอุทิศให้ญาติได้ไหม การกรวดน้ำเป็นวิธีการอุทิศบุญให้กับบุคคลที่เราต้องการอุทิศไปให้
- สามารถกรวดน้ำแห้งได้ไหม หมายความว่าสามารถอุทิศบุญโดยไม่ต้องใช้น้ำได้ไหม คำตอบคือได้ การใช้น้ำเป็นเพียงศาสนพิธีเท่านั้น สำคัญคือเจตนา แต่เราจะแสดงเจตนานั้นออกมาทางกายทางวาจาโดยวิธีไหนเท่านั้นเอง การแสดงดจตนาอุทิศบุญทางวาจา ก็อย่างเช่น เอ่ยชื่อคนที่ต้องการอุทิศไปให้ เอ่ยถึงเจตนา หรือกล่าวบทอุทิศบุญ อิมินา การแสดงเจตนาอุทิศบุญทางกาย ก็เป็นต้นว่า ประนมมือขึ้น เขียนชื่อคนที่ต้องการอุทิศให้ หรือเทน้ำกรวดน้ำ อย่าลืมว่าการอุทิศบุญก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ถ้าเราใช้แต่เจตนาอย่างเดียว ไม่มีการกล่าวบทกรวดน้ำ ไม่มีการหยิบน้ำขึ้นมาเท ความทรงจำในการทำบุญก็อาจจะลดน้อยถอยลง บางทีจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยทำบุญกับใครที่ไหน แต่ถ้ากรวดน้ำ ทำศาสนพิธีด้วยกัน ก็จะจำได้ดี มีรูปถ่ายด้วย อ้อ เราเคยทำบุญมาแล้วกับคนนั้น คนนี้ ในที่นั้น ๆ เห็นแล้วก็ปลื้มใจ สาธุ ด้วยกัน อีกประการหนึ่งการกรวดน้ำเป็นการรักษาประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาแล้วในอดีต
- ถามว่า ทำบุญแล้วไม่กรวดน้ำได้บุญไหม คำตอบก็ได้บุญสิ แต่ท่านต้องแยกให้ออกว่าได้ในส่วนไหน ไม่ได้ในส่วนไหน เช่น ทำบุญถวายสังฆทาน จะกรวดน้ำหรือไม่กรวด จะรับพรหรือไม่รับก็ย่อมได้บุญในส่วนของการให้ทานนั้น ที่เรียกว่า ทานมัย แต่ถ้ามีการกรวดน้ำอุทิศบุญ ก็ย่อมเพิ่มบุญขึ้นอีกในข้อที่ว่า ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ
ที่มา : บทกรวดน้ำ อิมินา