คำอ่าน ความเป็นมา และความหมายของคาถาหลังเหรียญ 25 ศตวรรษ
พระ 25 พุทธศตวรรษ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระ 25 ศตวรรษ หมายถึงพระที่จัดสร้างขึ้นในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือ พุทธชยันตี 2500 ปี (อังกฤษ: 2500th Buddha Jayanti Celebration) เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเรียกว่างานฉลองกึ่งพุทธกาล เนื่องจากความเชื่อโบราณว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ 5000 ปี แล้วจักเสื่อมสลายลง ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างนี้
- 10 เรื่องจริง (ที่รู้มา) เกี่ยวกับพระเครื่อง 25 ศตวรรษ
- สวยสุดสะดุดตา พระ 25 ศตวรรษ สืบต่อพระพุทธศาสนา สืบชะตาผู้บูชา
บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะพระ 25 ศตวรรษพิมพ์เสมาเท่านั้น ลักษณะเหรียญจะคล้ายใบเสมา ด้านหน้าเป็นองค์จำลองพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ด้านหลังมีภาษาบาลีว่า
เย ธมฺมา เหตุ ปพฺภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต เตสญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณติ
แปลว่า…
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้
ที่มาของพระคาถาหลังเหรียญ 25 ศตวรรษ
ความเป็นมาของพระคาถาบทนี้มีปรากฏอยู่ในประวัติของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา มีเนื้อความโดยย่อ ดังนี้
หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และแสดงธรรมสั่งสอนประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว ครั้งหนึ่งได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ วันหนึ่ง พระอัสสชิ ผู้เป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ซึ่งตามเสด็จฯ พระพุทธองค์มาด้วย เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ระหว่างทาง อุปติสสะปริพพาชกซึ่งเดินทางมาจากสำนักปริพพาชกได้พบเห็นพระอัสสชิผู้มีกิริยาอาการอันสงบสำรวม น่าเลื่อมใส จึงอยากทราบว่าใครเป็นศาสดาของพระอัสสชิและมีคำสั่งสอนเป็นเช่นไร พระอัสสชิจึงแจ้งว่าตนเป็นนักบวชในสำนักของพระมหาสมณะผู้เป็นโอรสแห่งศากยวงศ์ พร้อมกับแสดงธรรมอันย่นย่อของพระพุทธองค์ ซึ่งก็คือพระคาถาบทว่า
เย ธมฺมา เหตุ ปพฺภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต เตสญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณติ
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้
จากนั้น อุปติสสะปริพพาชกจึงเดินทางกลับมายังสำนัก และบอกเล่าเรื่องที่ได้พบกับพระอัสสชิ ตลอดจนแสดงธรรมที่พระอัสสชิกล่าวให้แก่สหาย คือโกลิตะปริพพาชกฟัง จนกระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ปริพพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารจึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ พระพุทธองค์ยังเวฬุวันมหาวิหาร และทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์จึงประทานอนุญาตให้ปริพพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
พระโกลิตะซึ่งต่อมาก็คือพระโมคคัลลานะ หลังจากอุปสมบทได้ ๗ วัน ก็สำเร็จอรหัตตผล ส่วนพระอุปติสสะหรือพระสารีบุตรได้บรรลุเป็นอรหันต์หลังจากอุปสมบทได้ ๑๕ วัน ส่วนบริวารทั้งหลายภายหลังก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์จนหมดสิ้น
โดยพระคาถานี้ ทำให้พระพุทธองค์ทรงได้สาวกองค์สำคัญ คือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมาเป็นอัครสาวกซ้ายขวา พุทธศาสนิกชนจึงนับถือกันเป็นพระคาถาวิเศษ ถือเป็นสัมฤทธิมนต์สำหรับเปลี่ยนแปลงความนับถือของผู้ที่ยังไม่เคยสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงนิยมจารึกไว้เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแผ่ออกไป
พระคาถา เย ธมฺมาฯ จึงมักพบปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคแรก ๆ เช่น ในศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัย นอกจากที่จารึกอยู่บนพระพิมพ์แล้ว ยังพบปรากฏอยู่บนศาสนวัตถุอื่น ๆ เช่น เสาศิลาจารึก ฐานธรรมจักร หรือภาพสลักพระพุทธรูปอีกด้วย
ที่มา :
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
จารึกคาถา เย ธฺมมา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์