หลวงพ่ออว้าน เขมโก วัดนาคนิมิตต์
บ้านนามน ตำบลตองโขบ
อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
นามเดิม : อว้าน ศรีบุญโฮม เป็นบุตรของนายออ ศรีบุญโฮม นางคำตา ศรีบุญโฮม
เกิด : วันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปี กุน ที่บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
บรรพชา : พ.ศ. ๒๔๙๗ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดป่าสุทธาวาส ได้ติดตามหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ไปอยู่หนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้เข้ารับการ คัดเลือกเกณฑ์ทหาร ปลดประจำการใน พ.ศ. ๒๕๐๐
อุปสมบท : เมื่อพ้นจากทหารแล้วท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่ออายุ ๒๕ ปี โดยมีพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชในน้ำ อุทกุกเขปสีมา เขตบ้านโคก เอาน้ำเป็นเขตสีมา มีศาลาอยู่กลางน้ำ สมัยก่อน ไม่ได้ขอวิสุงคามสีมา มีหนองน้ำที่ไหนเขาก็ไปปลูกศาลาเอาไว้ ทำสะพานเดิน เข้าไป เวลาบวชก็บวชกันที่ศาลากลางน้ำแล้วมาพำนักที่วัดดอยธรรมเจดีย์ กับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ต่อมาได้มาศึกษาธรรมปฏิบัติกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม จังหวัดอุดรธานี
ปัจจุบัน : พำนักปฏิบัธรรม อบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชน ณ วัดนาคนิมิตต์ (วัดป่าบ้านนามน) บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
อาจริยธรรม
วัดป่านาคนิมิตต์นี้ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร มาสร้างครั้งแรก อาตมาเองยังไม่ได้เกิดนะ เดิมวัดนี้มีท่านพระอาจารย์เสาร์ กนตสีลเถร เดินธุดงค์มาก่อน ท่านพระอาจารย์เสาร์มาพักรุกขมูล ครั้นต่อมาท่านก็เดินธุดงค์ต่อไป แล้วท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็เดินธุดงค์ตามรอยท่านพระอาจารย์เสาร์มา ท่านพระอาจารย์เสาร์พักที่ไหน ท่านพระอาจารย์มั่นก็พักที่นั่น ท่านพระอาจารย์มั่นมาเห็นที่สัปปายะ ท่านก็เลยปรารภกับโยม คิดจะสร้างเป็นวัด โยมเขาก็เลยเอาเจ้าหน้าที่มารังวัดจับจอง แล้วยกถวายท่าน ท่านก็ไดสร้างพอได้อยู่อาศัย แล้วท่านก็เดินธุดงค์ไปทางเชียงใหม่หลายปี จากนั้นท่านก็ย้อนคืนกลับมาอีกเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณสงครามญี่ปุ่น (สงครามโลกครั้งที่ ๒) อาตมาไม่ทันได้รับการอบรมจากท่านพระอาจารย์มั่น เพราะยังเป็นเด็ก เรื่องอะไร ๆ ก็จำจากครูบาอาจารย์เล่า คือตอนบวช บวชอยู่กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่อ่อนท่านเล่าประวัติท่านพระอาจารย์มั่นให้อาตมาฟัง ที่วัดป่านิโคธาราม บ้านหนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานี จึงเป็นธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์ นำมาเล่าขานสู่กันฟัง ตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักอยู่ที่วัดป่าบ้านนามนนั้น มีพระผู้ใหญ่เข้ามาพักอาศัยอยู่ร่วมกันหลายองค์ด้วยกัน เช่น หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่หลุย หลวงปู่ฝั้น หลวงตามหาบัว ครูบาอาจารย์แทบทุกองค์มาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น และมีที่พักกระจายกันอยู่ เช่น หลวงปู่กงมาก็อยู่บ้านโคก เจ้าคุณวิริยังค์อยู่บ้านห้วยแคน พระครูอุดมธรรมคุณ (พระมหาทองสุก) สุจิต?โต) หลวงปู่หลุย อยู่บ้านห้วยหีบ แต่ก็ไปๆ มาๆ ถ้าถึงวันพระใหญ่ก็มารวมกันทำอุโบสถ รับโอวาทจากท่านแล้วก็เดินกลับวัด เดี๋ยวพระเข้าเดี๋ยวพระออก ต้องนับทุกวัน ในตอนเป็นเด็ก พระท่านผ่านมาก็มองไกล ๆ จะมาผ่านบ้าน ถ้ามีพระมาเพิ่ม อาตมาก็เตรียมห่ออาหารให้พอเพียงกับพระมาใหม่ อาตมาเคยมีโอกาสได้ใส่บาตรท่านพระอาจารย์มั่น
ความเป็นมาของวัดป่านาคนิมิต
โยมชาวบ้านนามนเขาจะปลูกสร้างกุฏิหลังนี้แหละ (กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น) เขาเตรียมไม้ไว้ว่าจะยกวันพรุ่งนี้ ในตอนกลางคืนพญานาคเขามาทำรอยเอาไว้ให้ ตอนเช้าโยมเขามาว่าจะยกกุฏิ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ชี้บอกโยมเขาว่า นั่นแหละ พญานาคทำรอยไว้ให้แล้ว โยมเขาไปดูเขาว่าเป็นรอยกลม ๆ วงกลมจึงก่นหลุม (ขุดหลุม) ตามรอยนั่นแหละ แล้วท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดบอกโยมเขาว่า วัดนี้ให้ชื่อว่าวัดป่านาคนิมิตต์ แต่ชาวบ้านทั่วไป วัดอยู่บ้านไหน เขาก็เรียกวัดป่าบ้านนั้นแหละ เช่น วัดป่าบ้านนามน วัดป่าบ้านโคก วัดป่าบ้านห้วยแคน เอาบ้านเป็นชื่อวัด อยู่บ้านไหนก็เอาบ้านนั่นแหละตั้งเป็นชื่อวัด สมัยก่อนเราขอกับทางการจึงเอาชื่อ วัดป่านาคนิมิตต์ช่วงที่พญานาคมาทำรอยไว้คือช่วงที่พระอาจารย์มั่นพักอยู่วัดนี้ เขาทำรอยไว้ที่นั่น (กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น) แล้วเขาก็เลื้อยมาที่นี่ (มาที่ศาลา) เมื่อก่อนที่นี่เป็นป่า เขาลอย (เลื้อย) มา โยมเขาเอาเท้าไปขวางดู (วัดดู) สุดรอยเท้าเขาพอดีนะผอด (รอยของมัน) นั้น วัดป่านาคนิมิตต์หลังจากที่พญานาคมาแสดงนิมิตต์ไว้ จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีอีก แต่อาตมาเองมาพักอยู่ที่วัดป่านาคนิมิตต์ เดินจงกรมกลางวันจิตนึกถึงนาค พอนึกถึงนาคงูคอแดงไม่รู้ออกมาจากไหนน่ะ ปรากฏว่ามีทั้งข้างหน้า ถอยหลังก็มี ข้างซ้าย ข้างขวาก็มีไปหมด อาตมาจะไปไหนก็ไปไม่ได้ ต้องยืนอยู่กับที่ เขาเลื้อยผ่านไปผ่านมาอยู่นั่นแหละ สักครู่เดี๋ยวก็หายไม่รู้หายไปไหนหมด งูคอแดง ตัวไม่ใหญ่ คอมันแดง ๆ พอนึกถึงเขา เขาก็ปรากฏให้รู้ว่ามีจริง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านไม่จำพรรษาซ้ำที่เก่านะ ท่านจำพรรษาซ้ำที่เก่าเฉพาะบ้านหนอง ผือแห่งเดียว อย่างท่านมาอยู่ที่นี่คือบ้านนามนท่านก็จำพรรษา บ้านโคกท่านก็จำพรรษา บ้านห้วยแคน บ้านห้วยหีบ ท่านก็ไปมาอยู่บ้าง ท่านมาครั้งที่สองก็วนเวียนประมาณ ๒-๓ ปี ออกจากนี่แล้วจึงไปอยู่บ้านหนองผือ
แต่เดิมวัดป่าบ้านนามนเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลาง ก่อนย้ายไปบ้านหนองผือ พระที่บ้านห้วยหีบ บ้านห้วยแคน บ้านโคกนั้น ก็ต้องมาร่วมลงอุโบสถที่นี่ (บ้านนามน) บ้านโคก บ้านหลวงปู่กงมา หลวงปู่คำพองจำพรรษาอยู่บ้านโคก กับหลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม วัดป่าบ้านนามนนั้น พอท่านพระอาจารย์มั่นจากไปแล้ว หลวงปู่กงมานั่นแหละเป็นผู้ดูแลแถวนี้ เพราะบ้านโคกเป็นบ้านของหลวงปู่กงมา จึงอยู่ในความดูแลของท่าน ครั้นท่านพระอาจารย์มั่นเดินธุดงค์ออกจากวัดป่าบ้านนามนไปแล้ววัดนี้ก็รกร้าง เมื่อก่อนอาณาเขตมันก็กว้างไกล พอท่านพระอาจารย์มั่นไปอยู่บ้านหนองผือแล้ว ชาวบ้านรุกล้ำมาเอาเกือบหมดนะ ครั้งแรกเขาเหลือไว้เพียงแค่ ๕ ไร่ เมื่อก่อนส้วมก็อยู่ภายในวัด ที่นี้จะไปส้วมก็ต้องข้ามรั้วไร่เขาไปนะ หลวงปู่กงมาท่านพูดกับเขาไม่ได้ ท่านก็เลยทิ้ง แล้วท่านขึ้นไปอยู่วัดดอยฯท่านบอกว่า เขาอยากได้ให้เขาซะ เรามาเอาภูเขานี่ (วัดดอยธรรมเจดีย์) ไม่มีใครอยากได้ ต่อมาพระครูอุดมธรรมคุณ (พระอาจารย์มหาทองสุก สุจิต?โต) เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ได้ข่าวว่าวัดป่าบ้านนามนหมดไปแล้ว ท่านเลยออกมาดู ก็พบว่าเป็นจริง เวลาจะไปส้วมนั้นก็ต้องข้ามรั้วสวนเขาเข้าไป เมื่อเป็นเช่นนั้นจริง ท่านเลยพูดกับชาวบ้านว่า พื้นที่วัดนี้ได้จากนี่ไปแค่นี้ก็เอาหรอกโยม เพราะเป็นวัดคู่กันกับวัดป่าสุทธาวาส เป็นวัดพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นที่ได้พบตอนเด็ก
อาตมาออกโรงเรียนแล้วก็ได้ติดตามหลวงปู่กงมาไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ ไปพักที่นั่น ๓ คืน พักกับหลวงปู่กงมา พอไปถึง ท่านพระอาจารย์มั่นบ่นเกี่ยวกับอาจารย์ถวิล จิณ?ณธม?โม ซึ่งท่านเอาปูนซีเมนต์หุ้มต้นเสากันมดไม่ให้ขึ้น ท่านบ่นแล้วบ่นเล่าว่า ไม่ดี ๆ เช้ามา หลวงปู่กงมาก็พาหมู่ทุบแล้วก็ทำใหม่ อาจารย์ถวิลก็มาช่วยทำอีกอย่างเก่าท่านพระอาจารย์มั่นท่านเดินดูตามลูกกรงส่องมาดู ท่านว่า ท่านถวิล มันเฮ็ดหยังคือไก่เขี่ยเนี่ย ท่านพูดให้อาจารย์ถวิลองค์เดียว ตอนอาตมาเป็นเด็กก็ได้ยิน ได้ช่วยท่านก่อปูนด้วย แต่ไม่รู้จักความหมาย ต่อเมื่ออาตมาเข้ามาบวชคราวนี้ ก็ได้นำคำพูดคำนั้นมาศึกษาดู แปลว่ายังไง ก็อาจารย์ถวิลท่านเก่งทางปูน ท่านเป็นช่างปูน แต่ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นติแล้วติเล่า นำมาศึกษาดูก็ได้ความว่า ท่านเตือนสติ ท่านมีสติสำรวม ส่งจิตไปอื่นไม่ได้ แล้วถ้าส่งจิตไปเพื่อความสวยความงามนั้นไม่ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นอนุญาตให้ทำได้ถ้าทำเพื่อให้แข็งแรงทนทานตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้าจะเพ่งเพื่อความสวยความงามไว้อวดคนอื่นอย่างนั้นไม่ได้ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านคุมสติ ตอนอาตมาเข้าไปวัดป่าบ้านหนองผือตอนนั้น หลวงปู่บ้านตาด (หลวงตามหาบัว ญาณสม?ปน?โน) ก็อยู่ที่วัดด้วย ท่านใช้อาตมาให้ไปเก็บพลูเคี้ยวหมากมาถวายท่านพระอาจารย์มั่น
เมื่อตอนอาตมาเข้าไปกับหลวงปู่กงตอนเป็นเด็กนั้น ท่านพาไปด้วย อย่างอื่นที่เห็นแปลก ๆ ไปพักอยู่ที่นั่น ๓ คืน มีแมวตัวหนึ่ง แมวเหลือง กลางคืน (มัน) ก็ไปฟังเทศน์ท่านทุกคืนพระก็นั่งตามระเบียงรอบนอกนั่นแหละ ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียวนั่งข้างบน แมวตัวนั้นก็หมอบอยู่ตรงหน้าท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งเลิกนั่นแหละจึงไป ทั้ง ๓ คืนเห็นแมวตัวนั้นตลอด ตอนเช้าก็ไปหมอบอยู่ตรงที่ท่านฉันนั่นแหละ ไม่ได้ร้องอะไรจนกว่าท่านฉันเสร็จ ท่านถึงให้กิน แล้วกลางวันก็ไปอยู่กุฏิเณร อยู่กระต๊อบกับเณร กลางคืน ๓ คืนเห็นหมอบอยู่ทุกคืนแมวตัวนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นที่อาตมาเคยได้พบนั้นมีความอบอุ่น ท่านค่อนข้างผอม แต่น่าเกรงขามจะว่าดุก็ไม่ดุหรอก อะไรที่ผิดทางท่านตะโกน ถ้าผิดทางของท่านนะ หลวงปู่อ่อนเคยเล่าว่า หลวงปู่พรหมท่านออกบวช ท่านก็สละสมบัติออกบวช ท่านไม่มีลูก บวชแล้วท่านมาสร้างโบสถ์ (วัดประสิทธิธรรม) แล้วไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ พอเข้าถึงประตูวัดป่าบ้านหนองผือ ท่านพระอาจารย์มั่นคอย (แล) เห็น นั่นใคร ท่านพรหมหรือ? ออกไปเดี๋ยวนี้ ๆ ท่านเห็นหลวงปู่พรหมตั้งแต่เข้าประตูวัด หลวงปู่พรหมก็มาถึงศาลา หมู่เพื่อนภิกษุก็หาน้ำหาท่ามาถวายท่าน ท่านก็บ่นอยู่กุฏิของท่านนั่นแหละ ออกไปเดี๋ยวนี้ ๆ ไม่รู้ว่าผิดอะไร หลวงปู่พรหมถ้าไม่ออกไปก็กลัวท่านจะเหนื่อย กลัวจะเป็นบาป ท่านก็เลยออกไปพักบ้านหนองสะไน ตามที่หลวงปู่อ่อนเล่า ไม่รู้ว่าผิดอะไร นี่แหละที่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดอย่างนั้น ได้ยินได้ฟังก็วินิจฉัยดู มิใช่ผิดทางท่านสอนรึ? ที่ท่านดุนั่นเรียกว่าผิดทางที่ท่านสอน การสร้างนั่นมิใช่ทางพ้นทุกข์ ทางพ้นทุกข์ไม่สร้างอย่างนั้น
ตอนอาตมาไปคารวะหลวงปู่หล้าที่วัดภูจ้อก้อ ท่านกำลังสร้างศาลาใหญ่ ท่านบอกอาตมาท่านพระว่า ถ้าอาจารย์มั่นยังอยู่ ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ ท่านว่าทำอย่างนี้โดนท่านดุเอา แต่มาสมัยนี้ โยมเขาว่า ถ้าไม่ทำจะไปอยู่ไหนหลวงปู่ ไม้มันก็จะหมด หาหญ้าหาอะไรมันก็ไม่มี จริงของเขา ท่านว่า หลวงปู่หล้าก็เลยทำ ที่หลวงปู่หล้าท่านทำ มันพร้อมหมดทุกอย่างแล้ว แต่สมัยก่อนไม่พร้อม มันเป็นทุกข์ การสร้างก็เป็นทุกข์ สร้างแล้วความปรารถนาอยากเป็นนั่นเป็นนี่นั่นก็เป็นทุกข์อีก ไม่พ้นทุกข์ ทางท่านพระอาจารย์มั่นสอน ท่านสอนพ้นทุกข์ ถ้าผิดทางของท่าน ท่านจะดุเอา อย่างนั้นแหละ ถ้าไม่ผิดทางท่าน ท่านก็จะไม่ดุ ท่านพระอาจารย์มั่นไปตามญาณ ธรรมะท่านพระอาจารย์มั่นที่อาตมาได้รับทราบจากหลวงปู่อ่อนว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านไปทางไหน ท่านไปตามญาณ อย่างเช่นที่ท่านไปพักที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ ท่านก็ปราภ จะไปปฏิบัติที่ไหนหนอจึงจะรู้ จึงจะหายสงสัยในธรรม ท่านได้ปราภ ท่านอยากรู้ อยากหายสงสัยในธรรม ในนิมิตก็บอกว่า ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ ท่านก็เดินทางไปแหละ ท่านไม่เคยไปพบโยมเลี้ยงควาย ท่านก็ถามถึง ทางไปถ้ำสาริกา เขาใหญ่ ไปทางไหนโยม โยมคนนั้น ไม่บอกให้ท่านไปหรอก เดี๋ยวท่านจะไปตาย เพราะที่นั่นพระตายหลายองค์แล้ว ท่านก็เลยพูดกับโยมเขาใหม่ อาตมาก็รู้ ใครจะอยากไปตายล่ะ โยม อาตมาอยากไปดูไปชมเฉย ๆ ดอก พอว่าอยากไปดูไปชมเฉย ๆ เขาก็เลยพาท่านไป ไปก็เห็นบาตรรบริขารพระที่ตายนะ ที่พัก ร้านพัก ทางจงกรมก็มีอยู่ พอไปถึง ท่านก็ให้โยมหาไม้ตาดปัดกวาดทางจงกรม ร้านพังมอดกินมันชำรุดก็ให้โยมหาไม้ใหม่มาซ่อม พอซ่อมดีแล้ว ท่านก็ขึ้นนั่งบนร้านนั่นแหละ พูดกับโยมเขา เออวันนี้ค่ำแล้ว กลับบ้านเสียเถอะ อาตมายังเบิ่งบ่คัก อยากนั่งเบิ่งคัก ๆ (อยากดูให้ดี ๆ ชัด ๆ) พอท่านให้กลับ โยมเขาก็กลัว เขาก็รีบกลับเลย เช้าท่านลงไปบิณฑบาตบ้านโยมคนนั้นแหละเขาก็ใส่บาตรทุกวัน ท่านก็บิณฑบาตมาฉันท์อยู่องค์เดียวของท่าน ไปได้ ๒ วัน ๓ วัน ท่านเดินจงกรมอยู่ตอนกลางวัน ท่านก็ได้ส่งจิตออกไปนอก ถ้ำชื่อว่าถ้ำสาริกา ชื่อเขา เขาก็เรียกว่าเขาใหญ่ สัตว์ใหญ่จะมีบ้างไหมหนอ? ท่านนึกในใจ พอนึกเท่านั้นแหละ มีหมูป่าตัวใหญ่เดินตัดเขาขึ้นไป ท่านก็มองดูหมูป่าตัวใหญ่ตัวนั้น เดี๋ยวสักครู่มีหมาไน ฝูงหนึ่ง หัวหน้าฝูงมาถึงท่านก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นนี้ศักดิ์สิทธิ์นะ พอหมาในมาถึงเขาก็ยืนดู (ทำจมูกฟึดฟัด ๆ ใส่ท่าน) ฝูงเขามาถึง เขาก็มายืนดู ผ่านไปแล้วท่านจึงได้มีจิตสำนึก ถ้ำนี้ศักดิ์สิทธิ์นะ ไม่สำรวมไม่ได้นะต้องสำรวม ท่านเตือนจิตของท่าน ท่านอยู่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน มียุงมากยุงได้กัดท่าน ท่านก็เอามือไล่ไปตามร่างกาย มือไปถูกยุงตาย พอถูกยุงตายก็สำคัญตัวเองว่าเป็นโทษ เราจะไปแสดงอาบัติกับใคร อยู่องค์เดียว เพื่อนแสดงอาบัติก็ไม่มี ก็นึกว่าตัวเองเป็นโทษ มันร้อนขึ้นมาหมดตามร่างกาย มีแต่ร้อน มีแต่ทุกข์ ธาตุก็พิการ ฉันข้าวเข้าไปยังไง ถ่ายออกมายังเป็นเม็ดข้าวอยู่ โยมเขาไม่ค่อยเห็นท่านลงไปบิณฑบาต เขาก็ท้วงมา ท่านก็จะตายอีกแล้วนี่ ไม่ได้ ๆ ต้องลง ๆ เขาก็จะตามท่านขึ้นมา จะเอาบาตรบริขารท่านลงไป ท่านไม่ยอมนะ ยังไม่รู้ ยังไม้เห็น ยังไม่หายสงสัยในธรรม ไปไม่ได้ จะไปก็ต้องรู้ หายสงสัยในธรรมนั่นแหละจึงจะไปได้ ท่านก็ทนทุกข์อยู่นั่นแหละ อยู่องค์เดียวของท่าน ไปได้ ๒-๓ วัน ปรากฏเสียงดังลงมาจากยอดเขาโน้น ตะโกนลงมาอย่างแรงว่า ท่านมาปฏิบัติเอาทุกข์หรือ? ท่านมาปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์มิใช่หรือ? เมื่อท่านได้ยินเสียงนั้นแล้วท่านก็มีจิตสำนึก เราเป็นโทษก็วิกัปเก็บเอาไว้ก่อนก็ได้ หากมีเพื่อนมาทีหลังแสดงอาบัติกับเพื่อนเอาก็ได้ หรือไม่มีใครมา เราไปข้างหน้าพบเพื่อนข้างหน้าแสดงอาบัติกับเพื่อนข้างหน้าก็ได้ พอได้ยินเสียงนั้นแล้ว ที่เป็นทุกข์มาก่อนค่อยเย็นลง ๆ นึกถึงธรรมถึงวินัยก็นึกได้ นึกถึงอะไรก็นึกได้ อยากรู้อะไรก็รู้ได้
แล้วท่านก็อยากรู้พระที่ตายนั้น ทำไมจึงมาตายที่นี่ ท่านก็รู้ได้ พระที่ตายนั่นไม่สำรวมในศีล ไปเก็บเอาผลไม้ในป่าที่มันหล่นไม่มีใครประเคนให้ แล้วผลไม้ก็มีเมล็ดข้างใน ก็เคี้ยวกินทั้งเมล็ด ไม่ได้ทำกัปปิยะ ศีลจึงวิบัติ
ในเขาลูกนั้นมีเปรตจำพวกหนึ่ง เกิดเป็นวันมีแต่รบราฆ่าฟันกัน ไม่ได้อยู่ไม่กินอะไรแหละ เขารบราฆ่าฟันกันมา พระก็ไปขวางทางเขา เขาก็เลยทุบตีเอา พระรูปนั้นก็เลยป่วยอาพาธตายไป แล้วท่านอยากรู้เหตุที่มันเป็นเปรตอยู่ที่เขาลุกนั้น เขาสร้างกรรมอย่างไรจึงไปเป็นเปรตที่นั่น ท่านก็รู้ได้อีก เปรตพวกนั้นเป็นคนประกอบอบายมุข ขึ้นชื่อว่าอบายมุขแล้วไม่เว้นแหละ มั่วสุมกันอยู่นั่นแหละ ถึงกับพระราชาออกกฎบังคับ วันพระวันศีลใครประกอบอบายมุขไม่ได้ ต้องมีโทษหนัก วันพระวันศีลให้เข้าวัด ให้ทาน รักษาศีล คนทั้งปวงก็เข้าวัดให้ทานรักษาศีลกัน เลิกอบายมุขเพราะกลัวโทษ แล้วเปรตพวกนั้น ถึงวันพระวันศีลจึงได้กินข้าวกินน้ำ มีปราสาทวิมานอยู่ ถ้าพ้นจากวันพระวันศีลแล้ว กลับเป็นเปรตรบราฆ่าฟันกันอยู่อย่างนั้นแหละไม่ได้อยู่ได้กินอะไรเปรตพวกนั้น ท่านอยากรู้อะไรท่านก็รู้ได้ ที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นั่นแหละ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะไปไหนไปตามญาณ อย่างหลวงปู่อ่อนท่านเล่า หลวงปู่ขาวตามธุดงค์ไปกับท่านพระอาจารย์มั่นที่เขาลูกหนึ่ง สูงก็สูง กันดารก็กันดาร น้ำบนยอดเขาโน้นไม่มีหลวงปู่ขาวนึกในใจ เออ ที่กันดารอย่างนี้ทำไมท่านพามาอยู่นานนัก หลวงปู่ขาวยังไม่ทราบถึงสาเหตุตอนไปถึงครั้งแรกที่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเตือน ไม่ให้ประมาท ตากผ้าคลุมบนพุ่มไม้ไม่ได้ ต้องสำรวม ท่านห้าม จะถ่มน้ำมูกน้ำลายอะไรก็ให้สำรวม ไปได้ ๖ วัน ๗ วัน ท่านจึงได้บอกกับหมู่ว่า ใครจะตากยังไง ก็ตากได้แล้ว พญานาคเขาอนุโมทนาแล้ว เมื่อไปถึงครั้งแรก เขามักขู่ เขายังไม่เลื่อมใส พญานาคเขาทำปราสาทอยู่ที่เขาลูกนั้น อดีตชาติเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน ท่านไปโปรดพี่ชายใหญ่ของท่าน เมื่อเขาเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ท่านก็พาหมู่เดินต่อไป ท่านพระอาจารย์มั่นไปไหนไปตามญาณ
อย่างที่ท่านไปอยู่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม พักอยู่ที่นี่ไม่ได้ ย้ายไปอยู่ที่โน้น ไปที่โน้นไม่ดี ก็ย้ายอีก ท่านก็พูดกับหมู่ เออ เราเคยเป็นไก้ป่ามาตายที่นี่ เคยเป็นหมูป่ามาตายที่นี่ ถึงว่ามันต้องมาอยู่ที่นี่ นั่นท่านพระอาจารย์มั่นไปตามญาณ อย่างท่านพระอาจารย์เสาร์เดินธุดงค์มาพักก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นเดินธุดงค์มาทีหลังท่านรู่นะ ท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านแวะพักที่ไหน ท่านก็พักที่นั่น เพราะอดีตชาติเคยเป็นพ่อค้าพาณิชย์ร่วมกัน ท่านพระอาจารย์เสาร์นี่เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นนายฮ้อย ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นรอง เจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็รองลงมาอีก แต่เจ้าคุณธรรมเจดีย์นี่ท่านปฏิบัติอย่างไรถึงไปพักอยู่นาน พักในอสนีพรหมนานเป็นกัปป์ (ตามที่หลวงปู่อ่อนเล่าให้ฟัง) จึงได้กลับมาเกิด กลับมาเกิดก็ได้พบกันอีก เจ้าคุณธรรมเจดีย์ นี่ล้วนแต่เคยสร้างบารมีร่วมกันมาทั้งสามองค์ ทั้งท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น เจ้าคุณธรรมเจดีย์ ปัญหาธรรม คติธรรม คำผญาของท่านพระอาจารย์มั่น
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เล่าให้อาตมาฟังว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะพูดอะไร ท่านจะพูดเป็นปัญหาธรรมะ คำพูดของท่านพระอาจารย์มั่นจะพูดอย่างไรก็ต้องแปล แปลว่าอย่างไรหมายความว่าอย่างไร
หวายซาววาหยั่งลง บ่เห็นส้น บ่ตื้นคำเข่า หย่อนลงกะเถิง หวายซาว วาหยั่งลงบ่เห็นส้น ปลายที่ว่าลึกนะมันลึก (เพราะ) หวายซาววาหยั่งลงบ่เห็นส้น ลึกบ่ตื้นคำข้าว หย่อนกะถึง หมายความว่า การแสวงหาธรรมนั้น ถ้าเราจะซาวหา (ค้นหา) ยิ่งหาก็ยิ่งไกล ยิ่งจะไม่เห็น แต่นี่หาเข้ามา ลึกบ่ตื้นคำข้าวหย่อนถึง หาตรงที่คำข้าวหย่อนลงไปถึงนี่แหละ ตรงท่ามกลางอกนั่นแหละ แสวงหาธรรมจะไปค้นหาตามแบบตามตำรายิ่งหาก็ยิ่งไกล นี่แหละ ตอนเป็นเด็ก อาตมาไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นก็จำได้ไม่กี่คำนะไปก็มีหลวงตามาจากกรุงเทพฯ มาคืนแรก คืนสองหลวงตานั่นก็มาพัก ก็ขึ้นไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น หลวงตานั่นมีเจตนาจะมาเที่ยวแสวงหามรรค ท่านตั้งใจจะมาจังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย นครพนม ถ้าไม่ได้มรรคจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านบอกทางมรรคให้ หลวงตานั่นไม่เข้าใจ ท่านตบกระดานนะ เติ้ม ๆๆ เสียงดังคับวัดนั่นแหละ เสียงท่านพระอาจารย์มั่นนะ ท่านพูดเสียงดัง มัคโค มัคคะ แปลว่าทาง ถ้าเราเดินถูกทางจึงจะเห็นถ้าเดินผิดทางแล้วจะไม่เห็น ทางพระพุทธเจ้าก็บอกแล้ว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ทิฏฐิ ความเห็นของเรา เห็นยังไงล่ะ? ชอบหรือไม่ชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริ เรามีความดำริยังไงล่ะ ชอบหรือไม่ชอบ ท่านให้ศึกษา ถ้ามันชอบก็เรียกว่าชอบทางมรรคนั่นแหละ ท่านพระอาจารย์มั่นอธิบายบอกทางให้ก็ไม่เข้าใจ หลวงตานั่นไม่รู้ สำคัญว่ามรรคอยู่ที่โน้น ที่นี้ ไปคารวะท่าน ท่านพูดอีกก็จำได้ตอนคารวะนี้ จะเที่ยวหามรรคหาผล หาจนกระดูกเข้าหม้อพู้น มันก็ไม่เห็นดอก มรรคผลไม่ได้อยู่ที่โน่นที่นี่
คำที่กล่าวเป็นภาษาอีสาน เป็นคำพังเพย คำผญา ไม้ซกงก หกพันง่า กะปอมก่าแล่นขึ้น มื้อละฮ้อย กะปอมน้อยแล่นขึ้น มื้อละพัน ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ ไม้ซกงก ได้แก่ตัวของเรานี่แหละ ร่างกายของเรานี่แหละ หกพันง่า หมายถึง อายตนะทั้ง ๖ นั่นเอง กะปอมก่า คือ กิเลสตัวใหญ่ (คือ รัก โลภ โกรธ หลง) อันแก่กล้านั่นแหละ แล่นขึ้น มื้อละฮ้อย (มื้อละร้อย) มันวิ่งขึ้นใจคนเราวันละร้อย กะปอมน้อยแล่นขึ้นมื้อละพัน คือ กิเลสที่มันเล็กน้อย ก็วิ่งขึ้นสู่ใจ วันละพัน ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ กิเลสที่ไม่รู้ไม่ระวัง ก็จะเกิดขึ้นทุกวัน ๆ หินก้อนล้านหนักหน่วงเสมอจิต เอาสโน มาติด คือสิซังซากันได้ บัดเฮาเอาตาซ้ายแนเบิ่ง (เล็งดู) คือสิหนังไปทางสโน นักปราชญ์เมืองอุบลราชธานีเขาเรียนสนธิ์เรียนมูลจนเขาผูกเป็นปัญหา หมอลำเขาเอาไปลำนะ ผูกเป็นปัญหาไปถามให้เขาตอบ ใครตอบได้ก็เก่ง ตอบไม่ได้ก็ไม่เก่ง เขาผูกเป็นปัญหา คือ เขาเรียนสนธิ์เรียนมูลจบ ผูกเป็นปัญหาธรรมได้ ผูกเป็นปัญหาถามคนอื่นให้เขาตอบ ถ้าเขาติด (ตอบไม่ได้) ก็ไม่เก่ง ถ้าคนไหนไม่ติดก็เก่งล่ะ ภาษาบาลี สีล? ก็แปลว่า ศีล, สิลา แปลว่า หิน หินก้อนล้านหนักหน่วงเสมอจิต จิตอันเดียวที่ไปยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าหนักหน่วงเสมอจิตเอาสโนมาติด คือสิซังซา กันได้ สโน มโน แปลว่าใจ ใจนี่เดี๋ยวมันก็ส่ายหาความรัก เด๋ยวมันก็ส่ายหาความชัง มันเอียงอยู่อย่างนั้น มันไม่ตรง เอาสโนมาติดคือสิซังซากันได้ บัดเฮาเอาตาซ้ายแนเบิ่ง คือสิหนักไปทางสโน ใจมันเป็นอย่างนั้น ท่านจึงให้มีสติสำรวมดูใจ ดูจิตดูใจของเรา ขณะเราพูด จิตของเราใจของเรามันเอียงไปทางไหนแล้ว ถ้าเอียงไปทางความรัก เอียงไปทางความชัง ก็ผิดทาง ท่านให้สำรวม สโน สโนนี่เป็นของเบา ถ้าจะว่าตามภาษาทางนี้ เพราะสโน (ไม้โสน) มันเกิดในน้ำ ไม้สโนเขาเอามาทำจุกขวด มันไม่แตก มันอ่อน ไม้นั้นมันอ่อน ทำจุกขวดมันไม่แตก ขวดไม่แตกมันอ่อน มันนิ่ม ไม้นั้นเป็นของเบา สโน สโนแปลศัพท์ มโน ก็แปลว่าใจ ใจของเรานี่แหละสโนนั่น แต่ใจของคนเรามันไม่ตรงเดี๋ยวก็เอียงหาความรัก เดี๋ยวก็เอียงหาความชัง คำว่าส่ายนะมันเอียง
กล้วย ๔ หวี จัวน้อย (สามเณรน้อย) นั่งเฝ้า พระเจ้านั่งฉัน กล้วย ๔ หวี ได้แก่ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม จัวน้อยนั่งเฝ้า หมายถึง คนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทัน ตามหลักของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ว่าในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอนพระเจ้านั่งฉัน หมายถึง พระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้ว ก็เอาธาตุ ๔ (กล้วย ๔ หวี) มาพิจารณาตามหลักแห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณธรรมเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ท่านไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉย ๆ ท่านพระอาจารย์มั่น มักจะสอนลูกศิษย์เป็นปริศนาธรรม เป็นต้นว่า พระสูตร เป็นตัวกลอง พระวินัย เป็นหนังรัด พระปรมัตถ์ เป็นผืนหนัง จตุทณ?ฑ? – เป็นไม้ฆ้อน ตีประกาศก้องกังวาน กลองจะดังก็ต้องอาศัยหนังรัดตึง ถ้าหนังรัดหย่อนตีได้ก็บ่ดัง (คำว่า กลอง ภาษาไทยอีสาน ออกเสียงเป็น กอง)
การส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะให้เจริญแพร่หลายขยายกว้างไกล ก็ต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจกระจ่างแจ้งในพระสูตร พระภิกษุก็ต้องมีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามพระวินัยพิจารณาทำความเข้าใจให้ปรุโปร่งในพระปรมัตถ์ ทำความเข้าใจศึกษาแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้น ความเจริญของพระพุทธศาสนาในจิตใจคนจะหด เสื่อมถอยลงเหมือนตีกลองไม่ดังกังวาน เพราะสายรัดกลองหย่อนยาน คำว่า กลอง ท่านหมายถึง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ จตุ แปลว่า สี่ กองรูป ขึ้นชื่อว่ารูป ก็มีธาตุทั้ง ๔ ท่านยกเอามาตีความทั้งหมด ตีให้มันแตก เวทนา ก็มีอยู่ในรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีอยู่ในรูป ถ้าตีไปที่อื่นก็ไม่ถูกตัวกลอง (กอง) ต้องยกเอากองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ มาตี (ตีความ) ถ้าตีถูกตัวกลอง กลองจะดังก้องกังวานทั่วเมืองไทย ตีลงไปในกองรูป ให้ตีลงในธาตุทั้ง ๔ ตัวคนประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่หลงยึดในตัวตนต่อไป ผู้มีปัญญา จงพิจารณารู้เองเถิด”
เดินหาพุทโธ การเดินธุดงค์ของท่านพระอาจารย์มั่น เดินทุกข์จริง ๆ น่ะ พักในป่า ไปบิณฑบาตได้แต่ข้าวเปล่า ๆ มาถึงที่พักแล้วก็ให้เณรหาฟืนมาก่อขึ้น ก่อไฟให้เป็นถ่าน แล้วก็เอาข้าเหนียวปั้นไม้เสียบไปขาง (ย่างไฟ) เอาเทียนไข (แต่ก่อนเป็นเทียนผึ้งแท้) ของเณรนี่แหละทา ท่านฉันข้าวจี่ทาเทียนไขน่ะ ข้าวจี่ทาเทียนไขท่านก็ฉัน ท่านเดินธุดงค์เดินทุกข์ เดินทุกข์จริง ๆ ที่ท่านเดินธุดงค์ไปโปรดชาวเขา หลวงปู่อ่อนท่านเล่า ชาวเขาเขาไม่เคยเห็นพระ ท่านไปอยู่กับเขา เขาก็เลื่อมในมากปฏิบัติท่าน หากท่านต้องการทางจงกรมเขาก็ทำให้ ต้องการร้านพักที่พักเขาก็ทำให้ พอทำแล้วท่านก็เดินจงกรม กลางวันชาวเขาเขามาพบเห็นเข้า เขาก็มายืนดู ตุ๊เจ้าเดินหาอะไร เดินกลับไปกลับมาก้มดูแต่ในดิน เขาแปลกใจ เขาเข้าไปถามท่าน ตุ๊เจ้าเดินหาอะไร ท่านก็ตอบเขาว่า เดินหาพุทโธ พุทโธ เขาไม่รู้ เป็นยังไงเขาไม่รู้ ถามท่าน พุทโธเป็นยังไง ท่านก็มีศรัทธาช่วยตอบเขาว่า พุทโธ ใสเหมือนดวงแก้ว ว่าดวงแก้ว เขารู้ เขามีศรัทธาอยากช่วยท่านหา ท่านก็ เออ ดีละ ถ้าสูช่วยหาด้วย ท่านก็แนะนำบอกทางให้เขาหา ให้สำรวม จะเดินไปไหนก็ดีให้สำรวม มิให้เหลียวซ้ายแลขวา มิให้ก้มนักเงยนัก ให้ทอดสายตาห่างจากตัวเราเพียงแค่ ๔ ศอก เดินไปทางไหนก็พุทโธ ๆ ๆ ไปตลอด ชาวเขาก็นำไปปฏิบัตินะ เขาไปไร่ไปสวนก็สำรวม พุทโธ ๆ ไป พุทโธไปหลายมื้อหลายวันเข้า จิตเขาก็รวมเป็นสมาธิ ใจเขามันใสของที่อยู่ใกล้อยู่ไกลเขารู้เห็นได้ เมื่อเขารู้เห็น เขาไปดูก็เป็นจริงตามที่เขาเห็น ในเมื่อเขารู้เห็นอย่างนั้น เขาก็แปลกใจ ตุ๊เจ้าว่าพุทโธใสเหมือนดวงแก้ว มิใช่ใจของเรานี่เหรอเปรียบเหมือนดวงแก้ว มาถามท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็รับรอง เออ ใจนั่นแหละเปรียบเหมือนดวงแก้ว แก้งดวงนี้แก้วสารพัดนึก นึกยังไงก็ได้ โปรดชาวเขา ท่านก็โปรดง่าย ๆ นะ เพราะชาวเขาคนซื่อ ว่ายังไงเขาก็เชื่อ นำไปปฏิบัติได้นายช่างเหล็ก
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้บรรดาศิษย์ที่มาปฏิบัติร่วมกับท่าน ท่านอุปมาเปรียบตัวของท่านเหมือนนายช่างเหล็ก นายช่างเหล็กนะรู้เหล็กนี่ดีหรือไม่ดี จะตียังไง นายช่างตีเหล็กตียังไง ท่านพระอาจารย์มั่นสอนลูกศิษย์ก็สอนอย่างนั้นแหละ ตีเหล้กถ้าไม่เผาไฟให้มันแดง มันร้อน ก็ตีไม่ได้ ต้องเผาไฟให้มันร้อน มันแดงก่อนจึงเอามาตี เอาฆ้อน ๘ ปอนด์ตีแรง ๆ แต่งให้เป็นรูปเป็นร่าง แล้วเอาค้อนน้อยมาเคาะมาแต่งอีกให้มันสวยมันงาม แล้วก็ยังไม่พอ ก็ต้องเอามาขัดมาฝนให้มันเรียบ แล้วจึงเอาไปชุบ ชุบแล้วก็เอามาฝน (ลับ) เอามาลอง (ทดลอง) ถ้ายังบ่าน (แตกร้าว, บิ่น) ยังเป้ (เบี้ยว) อยู่ก็ยังไม่ดี เอาไปชุบใหม่ ตีใหม่ เอาไปทดลองอีก ถ้ายังแตกยังเบี้ยวอีก เรียกว่าเหล็กนั้นไม่ดี ท่านทิ้งบรรดาลูกศิษย์ก็เหมือนกัน ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นต้องผ่านการเข่น การตี การทดลอง ถ้าไม่แตกไม่เบี้ยวเรียกว่าดี ความคิดของท่านนั้น ถ้ายังมีแตกอยู่ ชุปที่ไหนก็มีแต่แตกแต่เบี้ยว ท่านก็ทิ้ง ท่านไม่สอน ท่านเน้นควบคุมสติ ทุกอย่างให้มีสติ ทุกอริยบถ สติควบคุมจิต จิตของเราเวลานี้มันคิดไปยังไง เอียงไปยังไง ให้รู้ ถ้าไม่รู้มันแก้ไม่ทัน ถ้ารู้เราก็แก้ทัน สำหรับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านไม่ให้ดูหนังสือนะ ถ้าดูหนังสือท่านจะดุเอา ดูหนังสือตามแบบ ภาวนาตามแบบ ไม่เป็นไปตามแบบ ท่านให้ดูแต่จิตใจ ถ้ารู้เห็นจิตใจของเราแล้วเรายังสงสัย อยากไปดูตำรา ท่านจึงอนุญาตให้ดูได้ ถ้ายังไม่เห็นจิตเห็นใจของเรานี่ ท่านห้าม จะบวชท่านก็ยังไม่บวชให้ถ้ายังไม่เห็นจิตเห็นใจ ถ้าเห็นกายเห็นจิตของเราแล้ว ท่านจึงจะบวชให้ บางราย ๒-๓ ปีก็ผ้าขาวอยู่นั่นแหละ ท่านทรมาน
หลวงปู่อ่อนเล่าว่า ลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นมีศรัทธาอยากจะบวช แต่ท่านไม่รับ ทำยังไงท่านก็ไม่รับ เขาก็เลยมานอนทอดบังสุกุล เอาผ้าขาวพาดบนอกนอน ท่านเดินจงกรมอยู่ ท่านก็เห็น เอ้า! ใครมานอน ไม่เห็นไปสักที ท่านเดินมาเห็นผ้า ท่านเลยชักบังสุกุลเอาผ้าในอกนั่น เมื่อท่านชักบังสุกุลเอาแล้ว ถือว่าท่านรับเอาตัวเองด้วย ก็เลยอยู่ไป อยู่ด้วยความเกรงกลัวนั่นแหละ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้ ถ้าจะรับเอาตามปกติธรรมดา คนนี้จะสำคัญตัวว่า ตัวเองดี ตัวเองเก่ง ท่านทรมาน ท่านรู้จักทรมาน ทิฏฐิ ความถือตัวไม่ให้มี เรียกว่า อยู่ด้วยความเกรงกลัว ถ้าท่านไม่รับเรียกว่า ไม่ดี เราไม่ดีท่านไม่รับ อยู่ด้วยความเกรงกลัว นี่แหละเป็นการทรมานของท่านพระอาจารย์มั่น อุบายทรมานของท่าน แต่ศิษย์บางองค์ของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นคนป่าก็มีนะ ชาวบ้านเขาไปไล่จับเอาในป่าโน้น เอามาเลี้ยงเอาไว้ แล้วเห็นเจ้าเมืองไม่มีลูก เลยเอาไปถวายเป็นลูกบุญธรรมเจ้าเมือง เจ้าเมืองก็รับเอา เจ้าเมืองให้นอนอยู่ใต้ถุนบ้านท่าน ก็นอนอยู่ใต้ถุนนั่นแหละ ชื่อ ญาท่านก่ำ ชื่อคนป่านะ ท่านเป็นคนขยัน คนซื่อสัตย์ เจ้าเมืองก็รักเหมือนกับลูก ก็ให้ขึ้นนอนบนบ้าน ท่านไม่ยอมขึ้น ท่านถือว่าท่านเป็นข่อยเป็นข้า พอเติบใหญ่มา ท่านก็อยากได้บุญด้วย จะให้ไปบวชท่านก็ไปบวช บวชแล้วพระท่านสอนให้เดินจงกรม ท่านก็เดินจงกรม เดินจงกรมเหนื่อยแล้วก็ขึ้นไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ ท่านก็ทำอยู่นั่นแหละ พอท่านบวชได้อายุพรรษามากแล้ว ท่านอยากไปอยู่องค์เดียวของท่าน ก็ไม่มีใครไปเยี่ยมดูแลแหละ เป็นคนป่าไม่มีความรู้ พอมีคนคิดถึงท่านว่าท่านอยู่องค์เดียว ที่อยู่ของท่านจะรกหรือเปล่าไปดู ท่านก็พูดธรรมะเก่ง ตอนที่ท่านเป็นเด็กเป็นคนป่านะ คนเขาไล่โดนเถาวัลย์เกี่ยวขาล้ม เขาเลยจับเอา ท่านเดินธุดงค์ไปที่ไหนถ้ามีเถาวัลย์ ท่านจะนอนหันหัวมาหาเถาวัลย์นั่นแหละ ท่านเคารพเถาวัลย์ เพราะว่านั่นเป็นอาจารย์ใหญ่ของท่าน มีบุญคุณต่อท่าน ถ้าเถาวัลย์ไม่เกี่ยวขาท่าน ท่านจะไม่ได้มาเป็นคนอย่างนี้ญาท่านก่ำ
ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ คนโบราณทางนี้เรียก ญาท่าน ญาท่านนี้เป็นผู้มีคุณธรรมสูง ญาท่านก่ำที่เป็นคนป่านี่คุณธรรมสูง ท่านคงจะไม่มาเกิดอีกแหละ ได้ยินหลวงปู่อ่อนท่านเล่า แต่อาตมาไม่ทันหรอก ยกขึ้นญาท่านเหมือนกับพระยานั่นแหละ คนทางนี้เรียกท่านพระอาจารย์เสาร์ว่า ญาท่านสาร์ ญาท่านมั่น ผู้มีคุณธรรม ทางอุบลราชธานีเขาเรียก ญาท่าน การสอนธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนลูกศิษย์ คนนี้เป็นคนอย่างไรท่านจะสอยอย่างนั้น ลูกศิษย์ที่มานี่ อย่างหลวงปู่อ่อนไปมอบตัวกับท่าน ท่านก็สอนคำบริกรรม กายเภท กายมรณัง มหาทุกขัง ให้บริกรรมคำนี้ หลวงปู่อ่อนก็นำไปบริกรรม แล้ววันหลังท่านก็ถาม เป็นอย่างไร สบายไหม? หลวงปู่อ่อนตอบว่า ไม่สบาย ขอรับ มันยาก มันขัด ว่า ไม่สบาย ท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็รู้ว่า ไม่ถูกกับจริตคำนี้ ท่านเลยเปลี่ยนคำบริกรรมให้ใหม่ ท่านให้บริกรรม เยกุช?โฌ ปฏิกุโล หลวงปู่อ่อนท่านก็นำไปบริกรรมภาวนา แล้ววันหลังท่านก็ถาม ป็นอย่างไรสบายไหมคำนี้ หลวงปู่อ่อนกราบเรียนท่านว่า สบายเหมือนคำว่าพุทโธ ขอรับ ท่านก็ให้บริกรรมคำนี้แหละ
เมื่อตอนที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ไปอบรมธรรมปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่อ่อนท่านมีกำลังมาก ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นกลางวันไม่ได้พักผ่อน ท่านพาทำงาน ทำงานก็ไม่ใช่งานหนักอะไรหรอก งานเบา ๆ นี่แหละ เป็นผ้าเช็ดเท้าเย็บกันทั้งวัน กลางคืนก็ไปบีบนวดถวายท่าน ตี ๒ ท่านตื่นจึงออกไปได้ ถ้าท่านไม่ตื่นออกไปไม่ได้ การบีบนวดท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ถ้าท่านนอนหลับถือว่าท่านหลับแล้ว จะไปเลยไม่ได้ วันหลังจะมาบีบนวดให้ไม่ได้ ท่านไมยอมนอนนั่นแหละ ท่านทรมาน ท่านรู้จักทรมาน ท่านทรมานเอา ตี ๒ แล้วจะไปนอนก็ยังไงอยู่เช้าก็กลัวจะมารับบาตรท่านไม่ทัน ต้องไปเดินจงกรมก่อน ไม่ได้หลับได้นอน ถ้าคิดอยากนอนก็คงหงายตึงเลย ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้จักในการทรมานหลวงปู่อ่อน ซึ่งเป็นอุบายอบรมธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ตามที่หลวงปู่อ่อนเล่าให้อาตมาฟัง