หลวงพ่อโม มีนามเดิมว่า โม แซ่ฉั่ว ท่านเป็นบุตรของนายลิ้ม และนางกิมเฮียง แซ่ฉั่ว เกิดวันพฤหัสบดี ในเดือน 5 ปี พ.ศ. 2406 ในย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อเยาว์วัยท่านได้เรียนหนังสือในสำนักวัดไตรมิตรวิทยาราม มีความสามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย นอจากนั้นท่านยังมีความสนใจในด้านคาถาอาคมอีกด้วยซึ่งก็ไม่แปลกของชายไทยในสมัยนั้น จนกระทั้งท่านอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดไตรมิตรวิทยารามนั่นเอง ในปี พ.ศ.2426 โดยมี พระปรากรมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ วัดหัวลำโพง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์แย้ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า “ธมฺมสโร” (อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-โร)
หลวงพ่อโม หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านมีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย สนใจศึกษาหาความรู้ทั้งในด้านปริยัติและวิปัสสนากรรมฐาน และยังได้ศึกษาด้านคาถาอาคมมนต์ต่าง ๆ จากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรอบรู้ในด้านกรรมฐานและวิชาอาคมต่าง ๆ ครั้นเมื่อพระปรากรมุนี (พระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์) ย้ายจากวัดปทุมคงคาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก หลวงพ่อโมท่านจึงได้ติดตามไปรับใช้ในฐานะสัทธิวิหาริกและพระใบฎีกาฐานานุกรม จากการที่ท่านได้เดินทางไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้เอง ทำให้ท่านมีโอกาสได้เข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อใหญ่คือองค์พระพุทธชินราช ทำให้ท่านมีความปลื้มปีติศรัทธาในพระพุทธลักษณะขององค์พระพุทธชินราชจำลอง และเป็นต้นเหตุให้ท่านดำริที่จะสร้างองค์พระพุทธชินราชจำลองขึ้นมาในภายหลัง ครั้นต่อมา เมื่อพระปรากรมุนีได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดปทุมคงคาตามเดิม หลวงพ่อโมท่านก็ได้กลับคืนสู่วัดไตรมิตรวิทยารามเช่นกัน เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เมื่อถึงเวลาอันสมควรหลังจากที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านจึงได้สร้างเหรียญหล่อพระพุทธชินราชขึ้นมา ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยดังเช่นพระพุทธชินราชวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ประทับนั่งบนบัลลังก์บัวฟันปลาคว่ำหงาย ประดิษฐานภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนด้านหลัง เป็นพื้นเรียบเพื่อไว้จารอักขระ
เหรียญหล่อพระพุทธชินราชนี้ บางท่านให้ความคิดเห็นว่า ท่านจำลองมาจากพระพุทธรูปองค์สำคัญที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไตรมิตรวิทยาราม นามว่าพระพุทธทศพลญาณ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบกิตติศัพท์จึงได้เสด็จฯ มานมัสการ และตรัสยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
หลวงพ่อโม ท่านได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูวิริยกิจจการี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ท่านยังได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนขึ้นใน พ.ศ. 2460 ก่อนที่ท่านจะมรณภาพในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2461
พุทธคุณพระพุทธชินราช หลวงพ่อโม
วัตถุมงคลของหลวงพ่อโม มีพุทธคุณโดดเด่รอบด้าน โดยเฉพาะในเรื่องคุ้มครองป้องกันอันตราย มีความคงกระพันชาตรี จนมีคำกล่าวว่า “ใครมีพระหลวงพ่อโม นักเลงโตไม่กล้าแหย็ม”