หลวงพ่อไว พระเกจิ พระเกจิรุ่นเก่าแห่งเมืองสมุทรสงคราม ร่วมปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485
หลวงพ่อไว วัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชื่อนี้หลายท่านอาจจะไม่คุ้นหู แต่เชื่อเถอะท่านต้องเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความเคารพนับถือและได้รับการยอมรับจากวงการพระเครื่องหรือพิธีกรรมอันเกี่ยวกับพุทธาภิเษกเป็นอย่างแน่ ด้วยเหตุนั้น เมื่อมีงานพุทธาภิเษก ณ ที่ใด ท่านมักได้รับอาราธนานิมนต์ไปร่วมงานเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานพุทธาภิเษกพระพุทธชินราชอินโดจีนในปี พ.ศ. 2485 รวมถึงงานหลวงพ่อโต ปี 2500 อีกด้วย
หลวงพ่อไว วัดดาวดึงษ์ ท่านถือกำเนิดในราวปี พศ. 2422 ในพื้นที่เขตอำเภออัมพวา ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าบิดามารดาของท่านมีนามว่าอะไร เนื่องจากสมัยนั้นระบบการบันทึกข้อมูลยังไม่ชัดเจน
ประมาณ ปี พ.ศ. 2443 ท่านมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ท่านจึงขอเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดดาวดึงษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ฉายาว่า “ธมฺมสโร” (ผู้มีธรรมเป็นเครื่องระลึก หรือผู้ระลึกถึงธรรม)
โดยมี หลวงปู่อ่วม วัดไทร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อทัต วัดดาวดึงษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดดาวดึงษ์กับหลวงพ่อทัตซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้วิชาอาคมจากหลวงพ่อทัต วัดดาวดึงษ์ ซึ่งเป็นผู้มีวิชาอาคมและเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนในแถบนั้นเป็นอย่างมาก
เมื่อท่านได้ศึกษาวิชาจากหลวงพ่อทัตตามสมควรแล้ว ท่านจึงได้ไปศึกษาวิชาอาคมต่าง ๆ กับหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง และหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก และที่สำคัญท่านได้ไปศึกษาวิชาอาคมต่าง ๆ กับหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี วิชาต่าง ๆ ที่ท่านศึกษามาเป็นต้นว่า การทำน้ำมนต์, วิชาเเก้คุณไสย ,อาคมปราบผี , วิธีการรักษาโรค เเละคาถาอาคมต่าง ๆ เพื่ออนุเคราะห์ชาวบ้านต่อไป
หลวงพ่อไวเริ่มมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ถึง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น หากใครเจ็บป่วย หรือโดนคุณไสย มีอาการถูกผีเข้า นอกจากชาวบ้านจะไปหาหลวงพ่อคง วัดบางกระพร้อมแล้ว ก็ต้องมาขอความช่วยเหลือจากท่าน
หลวงพ่อไว ดูแลรักษาวัดดาวดึงษ์เรื่อยมา จึงถึงปี พ.ศ. 2506 ท่านจึงถึงแก่มรณภาพด้วยความชราภาพด้วยอาการอันสงบ รวมสิริอายุได้ 84 ปี 63 พรรษา.
วัตถุมงคล หลวงพ่อไว
เหรียญหลวงพ่อไว วัดดาวดึงษ์ รุ่นแรก (นิยม)
เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อไว จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2499 มีลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ไมมีบันทึกจำนวนการสร้างไว้
ด้านหน้าเหรียญรุ่นแรก เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อไว หน้าตรง ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิเรียบร้อย มีข้อความภาษาไทยเขียนด่านล่างว่า “หลวงพ่อไว” ด้านหลังเหรียญ มีอักขระคาถา เขียนด้วยอักษรขอม
เหรียญหลวงพ่อไว วัดดาวดึงษ์ รุ่นแรก (เสริม)
เหรียญรุ่นนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยหลวงพ่อง้อเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์รูปถัดมา เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อไว สร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ไม่ทราบจำนวนการจัดสร้างที่แน่นอน เหรียญรุ่นนี้มีความคล้ายกับเหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ. 2499 เป็นอย่างมาก ต่างแต่ แต่ตัวหนังสือจะบางกว่ารุ่นแรกและตรงคำว่า ไว จะห่างกว่ารุ่นแรกเท่านั้นเอง
พระรอดหล่อโบราณ หลวงพ่อไว
พระรอดหลวงพ่อไววัดดาวดึงษ์ สมุทรสงคราม จัดสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ 2480 กว่า ๆ นอกจากท่านได้ทำการอธิษฐานจิตปลุกเสกแล้ว หลวงพ่อคงวัดบางกระพ้อมยังได้ปลุกเสกอีกด้วย
พุทธคุณพระรอดหล่อโบราณ หลวงพ่อไว
สำหรับพุทธคุณ พระรอดหลวงพ่อไวนั้น ทราบว่า โดดเด่นในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย เป็นมหาอุด คงกระพันชาตรี ป้องกันภูตผี คุณไสยต่าง ๆ
หลวงพ่อไว ชื่อท่านควรเขียนว่าอย่างไร
สำหรับชื่อของหลวงพ่อไวนั้น บางแห่งสะกดเป็น ไวย์ บางแห่งก็สะกดว่า ไว ผมไม่เคยได้เห็นเอกสารใด ๆ ของท่าน แต่ค่อนข้างจะมั่นใจว่า ชื่อของท่านน่าจะเขียนเป็น ไว ด้วยเหตุว่า
- ชื่อของคนสมัยก่อน เขียนสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด และนิยมพยางค์เดียว
- ไว ที่แปลว่า รวดเร็ว, ว่องไว เป็นคำที่เข้าใจง่าย ใช้กันมานานโดยเฉพาะในภาษาพูด ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร
- ชื่อคนสมัยก่อน ไม่นิยมให้มีตัวการันต์ หรือ ทัณฑฆาต ซึ่งเครื่องหมายสำหรับฆ่าอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง หมายความว่าคนสมัยก่อนจะไม่ใช้เครื่องหมายเพื่อฆ่าตัวอักษรในชื่อของตนเอง เพราะถือว่าไม่ดี ไม่เป็นมงคล ฉะนั้น อย่าเขียนคำว่า ไวย์ แล้วใช้ทัณฑฆาต ฆ่าตัวอักษรในชื่อของท่านเลย
- เหตุผลข้อที่ 4 นี้ สำคัญมาก ที่เหรียญ รุ่นแรก ของท่าน ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ท่านใช้คำว่า ไว แต่ทำไมคนยุคหลังเขียนชื่อของท่านต่างจากที่ท่านใช้มาและทำให้ซับซ้อนเข้าไปอีก
ที่มา : https://www.pra-maeklong.com/2020/10/watdaowadeng.html