เป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส (สถานที่ละสังขารและถวายเพลิง) จังหวัดสกลนคร ท่านไม่ได้สร้างวัตถุมงคล พระเครื่อง หรือเครื่องรางใด ๆ แต่ความที่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป จึงมีหลายท่านแสวงหาวัตถุมงคล พระบูชา รูปเหมือน รูปภาพ เหรียญรูปเหมือนของท่านไว้สักการะบูชา ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไว้เป็นเครื่องระลึกถึงคุณงามดีของท่าน เพราะการที่เราได้เห็นรูปหล่อ รูปเหมือน เหรียญ หรือรูปถ่ายของท่านแล้ว เป็นเหตุให้ระลึกถึงท่านได้โดยง่าย
สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่มั่น ที่น่าสนใจ ควรมีไว้บูชานั้น เท่าที่ผมมีและนึกขึ้นได้ในตอนนี้มีอยู่ 2 รุ่น หรือวาระโอกาสในการจัดสร้างได้แก่
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ ปี 2490
สำหรับเหรียญดอกจิกรุ่นนี้ ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกที่มีการสร้างเหรียญหลวงปู่มั่น จัดสร้างโดยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ในปี พ.ศ. 2490 มีสองพิมพ์ คือ หน้าหนุ่ม และ ยันต์แปด (หน้าสี่ หลังสี่) มีจำนวนการสร้างประมาณ 3,000-5,000 เหรียญ มีเนื้อทองแดง และทองแดงกะไหล่เงิน
เนื่องจากเหรียญนี้ออกก่อนที่หลวงปู่มั่นท่านจะละสังขาร จึงมีความเชื่อกันว่าหลวงปู่มั่นท่านได้ทำการอธิษฐานจิต แต่ที่แน่ ๆ เมื่อองค์หลวงปู่มั่นยังทรงสังขารอยู่ ก็ย่อมเป็นธรรมดาของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีจิตเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านย่อมเจริญเมตตาอยู่เนือง ๆ ความเมตตานี้คงจะได้แผ่มาที่เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ ปี 2490 นี้เช่นกัน
เหตุที่เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ ปี 2490 น่ามีไว้บูชา เพราะเป็นเหรียญที่สร้างในสมัยที่หลวงปู่มั่นยังอยู่ จึงมีความเชื่อว่า หลวงมั่นได้รับรู้รับทราบด้วย หรือหลวงปู่มั่นท่านอาจจะได้อธิษฐานจิตไว้ด้วย
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ ปี 2493
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์รุ่นนี้ คณะศิษย์สร้างแจกในงานถวายเพลิงศพของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในวันที่ 31 ม.ค. 2493 มีจำนวนหลายพิมพ์ ได้แก่
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าเดิม (บล็อคหน้ายันต์แปด) และพิมพ์หน้าหนุ่ม (แกะบล็อคใหม่) ยันต์สิบ
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าหนุ่ม ยันต์ซ้อน (โดยนำบล๊อคพิมพ์ยันต์แปด มาทำการแก้ไข ปั๊มเมื่อต้นปี 2493) จะมียันต์ 1 อยู่ใต้ชื่อของหลวงปู่มั่น
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าหนุ่ม ยันต์กลับ (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมีอักขระยันต์ 4 ตัว คือ ข้างละ 1 ได้แก่ บน ซ้าย ขวา และล่าง)
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าแก่ ยันต์ห่าง (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมียันต์สิบตัว แต่อยู่ห่างเส้นขอบ)
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าแก่ ยันต์ชิด (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมียันต์สิบตัว แต่อยู่ชิดเส้นขอบ)
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าแก่ ยันต์ชิด หลังสายฝน (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมียันต์สิบตัว แต่อยู่ชิดเส้นขอบ และด้านหน้ามีสายฝน)
- เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ พิมพ์หน้าแก่ หรือเรียกพิมพ์หน้ากลาง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่มั่นยันต์สิบ ด้านหลังรูปหลวงปู่เสาร์เป็นยันต์สาม
เหตุที่เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น – หลวงปู่เสาร์ ปี 2493 น่ามีไว้บูชา เพราะเป็นเหรียญสร้างในโอกาสสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นเหรียญที่รวมเหล่าศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่นมาร่วมอนุโมทนา อธิษฐานจิตด้วย
อ่านเพิ่มเติม…มั่น-เสาร์ เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ปี 2493
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ปี 2510
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ออกที่วัดธรรมมงคล โดยพระอาจารย์วิริยังค์ จัดสร้าง ปี 2510 อ่านเพิ่มเติม…มั่น-เสาร์ เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์
สำหรับรุ่นนี้ ผมไม่ทราบประวัติการสร้างนัก แต่เป็นเหรียญที่สร้างโดยศิษย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น คือวิริยังค์ซึ่งท่านก็เป็นผู้ที่มีศิษย์มากมายทั้งในและต่างประเทศ
เหรียญ 100 ปี หลวงปู่มั่น
เหรียญ 100 ปี หลวงปู่มั่น มีจำนวน 3 บล็อก ได้แก่ :
- บล็อกธรรมดา มีเนื้อทองแดงเท่านั้น ด้านหน้าไม่มีตุ่มข้างศอกขวา (เรียกกันว่าซาลาเปา) ด้านหลังไม่มีเส้นขีดหลาย ๆ เส้น (เรียกกันว่าเส้นสายฝน) ระหว่างตัวอักษร คำว่า ชนมายุ ตำแหน่ง 12 นาฬิกาใต้หูเหรียญ
- บล็อกหน้าทองแดงหลังฝาบาตร มีเนื้อทองแดง (จำนวนน้อย), เนื้ออัลปาก้า (100เหรียญ), เนื้อฝาบาตร(จำนวนน้อยมาก) ในการปั้มบล็อกด้านหลังเริ่มชำรุด ทำให้มีเกิดเส้นแตกเป็นขีด ๆ หลายเส้น (สายฝน) ระหว่างตัวอักษร คำว่า ชนมายุ ตำแหน่ง 12 นาฬิกาใต้หูเหรียญ
- บล็อกฝาบาตร (นิยม) มีเนื้อฝาบาตร, เนื้อเงิน ( 10 เหรียญ), เนื้อนวะ (จำนวนน้อยมาก ๆ ) ด้านหน้ามีตุ่มข้างศอก ด้านหลังมีเส้นสายฝนตรงชนมายุ
เหตุที่เหรียญรุ่นนี้น่าบูชา เพราะเป็นการสร้างในวาระสำคัญครบ 100 ปีชาตกาลของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งมีศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากมาร่วมอนุโมทนาอธิษฐานจิต
อ่านเพิ่มเติม…เหรียญ 100 ปี หลวงปู่มั่น เนื้อทองฝาบาตร ซาลาเปา สายฝน
หลวงปู่มั่น ไม่ได้สร้างวัตถุมงคลเอง จะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร
มีคำถามว่า ในเมื่อหลวงปู่มั่น ท่านไม่ได้สร้างวัตถุมงคลรูปของท่านเองแล้วจะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร นับว่าเป็นคำถามที่ดี แต่ผมเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ได้ ด้วยเหตุว่า :
- พระสมเด็จวัดระฆัง พระรอด พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอ พระนางพญา ซึ่งทั้งหมดเป็นรูปพระปฏิมาของพระพุทธเจ้า ซึ่งทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างเอง อีกทั้งยังไม่ได้มอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งสร้าง แต่พระเครื่องเหล่านี้ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ได้ มีราคาค่านิยม มีประสบการณ์จากผู้บูชา
- แม้ผู้เป็นเจ้าของรูปเหมือนไม่ได้สร้างเอง แต่หากทำด้วยเจตนาอันดี เป็นพุทธบูชา อาจาริยบูชา ใช้เป็นเครื่องระลึกถึงอย่างแนบแน่นไม่สั่นคลอน ผมเชื่อว่าด้วยเหตุนี้ก็เกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้
- ได้หลวงปู่ครูอาจารย์ ได้พระสงฆ์ผู้ทรงศีล สมาธิ และอภิปัญญา อธิษฐานจิต ย่อมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้
- ผู้บูชามีความตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในความดี บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ด้วยอานิสงส์เหล่านี้ช่วยหนุน เกิดพลังความศักดิ์สิทธิ์ได้
- เหล่าเทวดาที่เคารพนับถือหลวงปู่มั่น ที่เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ย่อมปลื้มปีติแก่ผู้ที่เคารพในบุคคลที่ตนเคารพ ย่อมตามคุ้มครองป้องกันอันตราย เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นได้เช่นกัน