เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น ปี 2493 มีกี่พิมพ์ เป็นคำถามที่อยู่ในใจผมและเชื่อว่าอยู่ในใจหลายคน อันที่จริงน่าจะตั้งคำถามว่า เหรียญรูปทรงเหมือนดอกจิกนี้ สร้างมากี่ครั้ง มากกว่า เพราะผมเห็นค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกันครับ แต่บทความนี้ ผมสืบค้นและจะกล่าวเจาะจงเฉพาะเหรียญหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ปี 2493 บางคนเรียกสั้น ๆ ว่า เหรียญมั่นเสาร์
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ปี 2493
เหรียญ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ 2493 เป็นเหรียญที่ระลึกบูรพาจารย์อริยะสงฆ์องค์เอกแห่งกองทัพธรรมกรรมฐาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ช่วยอบรมสั่งสอนสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานผู้เปี่ยมล้นด้วยความเมตตาและบารมี ท่านได้เป็นพระอาจารย์ของพระคณาจารย์ชื่อดังในยุคต่อมาหลายท่าน
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์นี้ นับว่าเป็นเหรียญเก่าของบูรพาจารย์เหรียญพระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน ว่ากันว่าเป็นเหรียญนี้แจกในงานฌาปนกิจองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2493 ซึ่งมีศิษย์ชั้นผู้ใหญ่มากมายในสมัยนั้นเมตตาร่วมอนุโมทนาอธิษฐานจิตไว้
ในงาน ฌาปนกิจองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม) วัดโพธิสมภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสและเป็นพระเถระผู้ใหญ่ท่านได้เป็นแม่งานและการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ด้วย มีพระคณาจารย์สายหลวงปู่มั่น ได้เมตตาร่วมอธิฐานจิตให้นับได้เป็นร้อยรูป อาทิเช่น หลวงปู่สิงห์, หลวงปู่ฝั้น, ท่านพ่อลี ธัมมธโร,หลวงปู่เทสก์, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม, เจ้าคุณธรรมเจดีย์, หลวงตามหาบัว, หลวงปู่ดูลย์ เป็นต้น
ลักษณะเหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ปี 2493
เป็นเหรียญรูปทรงที่เราเรียกว่า ดอกจิก ด้านหน้า เป็นรูปหลวงปู่มั่น มีจุดไข่ปลาล้อมรอบ เป็นเครื่องแสดงให้รูว่านี่คือด้านหน้าของเหรียญ ส่วนด้านหลังเป็นรูปหลวงปู่เสาร์ ไม่มีจุดไข่ปลา ที่ต้องนำหลวงปู่มั่นอยู่ด้านหน้า เพราะว่าเป็นเหรียญที่สร้างเพื่อแจกในงานฌาปนกิจองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2493
เหรียญนี้ทรงไว้ซึ่งพุทธศิลป์แห่งยุค คือยุคก่อนปี 2500 นั้น นิยมสร้างเหรียญรูปทรงดอกจิกกัน ซึ่งมีหลายสำนักนิยมสร้างรูปทรงดอกจิก
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ปี 2493 นี้ ได้นำบล๊อคเหรียญยันต์ 8 ที่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้เคยสร้างไว้ในปี 2490 ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ รุ่นแรก นำมาเป็นต้นแบบ และแตกแยกออกมาหลายพิมพ์
ต่อมามีบางวัดบางสำนัก ได้นำเหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์นี้นำมาเป็นต้นแบบในการสร้าง เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงองค์หลวงปู่มั่น เพื่อเป็นอาจาริยบูชา
เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ มีกี่พิมพ์
- ครั้งแรก สร้างโดยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ในปี 2490 มีสองพิมพ์ คือ หน้าหนุ่ม และ ยันต์แปด (หน้าสี่ หลังสี่ เรียกว่ายันต์ 8) จำนวน 3,000-5,000 เหรียญ มีเนื้อทองแดง และทองแดงกะไหล่เงิน เนื่องจากเหรียญนี้ออกก่อนที่หลวงปู่มั่นจะละสังขาร จึงมีความเชื่อกันว่าหลวงปู่มั่นท่านอาจจะได้ทำการอธิษฐานจิต แต่ที่แน่ ๆ เมื่อองค์หลวงปู่ยังทรงสังขารอยู่ ก็ย่อมเป็นธรรมดาของพระอรหันต์ทั้งหลายที่จะเจริญเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านย่อมเจริญเมตตาอยู่เนือง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในกระแสแห่งเมตตาของท่านหรือไม่ เหรียญรูปเหมือนท่านนี้อาจจะดึงดูดพลังแห่งเมตตาจิตที่ท่านได้แผ่ออกแล้วก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ อีกคือ รูปเหมือนครูบาอาจารย์เราใช้เป็นอนุสสติในการเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณได้โดยไม่ต้องสงสัย
- เหรียญพิมพ์ดอกจิกหลวงปู่มั่น+หลวงปู่เสาร์ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี ปี 2492 ตัวอย่างเหรียญ
- ออกที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร โดยคณะผู้จัดงานณาปนกิจในครั้งนั้น แจกบูชาหน้าไฟ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในวันที่ 31 ม.ค. 2493
2.1 พิมพ์หน้าเดิม (บล็อคหน้ายันต์แปด) และพิมพ์หน้าหนุ่ม (แกะบล็อคใหม่) ยันต์สิบ
2.2 พิมพ์หน้าหนุ่ม ยันต์ซ้อน (โดยนำบล๊อคพิมพ์ยันต์แปด มาทำการแก้ไข ปั๊มเมื่อต้นปี 2493) จะมียันต์ 1 อยู่ใต้ชื่อของหลวงปู่มั่น
2.3 พิมพ์หน้าหนุ่ม ยันต์กลับ (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมีอักขระยันต์ 4 ตัว คือ ข้างละ 1 ได้แก่ บน ซ้าย ขวา และล่าง)
2.4 พิมพ์หน้าแก่ ยันต์ห่าง (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมียันต์สิบตัว แต่อยู่ห่างเส้นขอบ)
2.5 พิมพ์หน้าแก่ ยันต์ชิด (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมียันต์สิบตัว แต่อยู่ชิดเส้นขอบ)
2.6 พิมพ์หน้าแก่ ยันต์ชิด หลังสายฝน (ด้านหน้ารูปหลวงปู่มั่นมียันต์สิบตัว แต่อยู่ชิดเส้นขอบ และด้านหน้ามีสายฝน)
2.7 พิมพ์หน้าแก่ หรือเรียกพิมพ์หน้ากลาง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่มั่นยันต์สิบ ด้านหลังรูปหลวงปู่เสาร์เป็นยันต์สาม ตัวอย่างเหรียญ มั่น-เสาร์ ยันต์สิบหลังยันต์สาม ปี2493 - เหรียญดอกจิก หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ออกที่วัดธรรมมงคล โดยพระอาจารย์วิริยังค์ จัดสร้าง ปี 2510
อ่านด่วน ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต