เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาผมได้เห็นท่านหนึ่งโพสต์ถามว่า “แขวนพระเครื่องไปงานศพได้ไหม ทำให้พระเครื่องเสื่อมไหม” ผมขอแยกเป็น 2 คำถามหลัก ๆ ดังนี้
แขวนพระเครื่องไปงานศพได้ไหม ?
พระเครื่อง คือพระพุทธรูปขนาดเล็ก หรือรูปเหมือนพระสงฆ์ที่มีขนาดเล็ก ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศัตรู แต่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธานุสสติ เป็นสื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงประกาศ และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามและนำคำสอนนั้นมาเผยแผ่ ฉะนั้น จึงสามารถนำแขวนพระเครื่องเข้าไปได้ในงานศพหรือในทุกที่ บางคนอาจจะแย้งว่างั้นก็สามารถแขวนพระเข้าร้านสุรา สถานที่เล่นการพนัน หรือสถานโสเพณีต่าง ๆ ได้สิ ตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ไม่ใช่ไม่ควรแขวนพระเข้าไป แต่คนนั่นแหล่ะควรห้ามเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะแขวนพระหรือไม่แขวนพระก็ตาม ฉะนั้น เมื่อคนไม่ควรเข้าไปแล้วจึงไม่ต้องถามว่าควรแขวนพระเข้าไปไหม แขวนพระเข้าไปได้ไหม เพราะเมื่อคนไม่เข้าไปแล้วพระเครื่องจะเข้าไปได้อย่างไร
การแก่ เจ็บ ตาย การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพลากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เป็นธรรมดาของโลก เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาเนื่อง ๆ พิจารณาทุกวัน พิจารณาความตายทุกลมหายใจยิ่งดี เป็นความจริงที่ต้องเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง การนำพระเครื่องซึ่งเป็นรูปที่สื่อถึงพระพุทธเจ้าและสงฆ์จึงไม่ขัดกับสัจธรรมอย่างใด ไม่ได้เป็นเหตุให้พระเสื่อมแม้แต่น้อย
เหตุที่อาจทำให้พระเครื่องเสื่อม (ไม่แสดงพุทธคุณ)
อันที่จริงพระเครื่องไม่ได้เสื่อม แต่ไม่แสดงพุทธคุณออกมาให้ปรากฎด้วยเหตุต่อไปนี้
- ผู้อธิษฐานหรือผู้ปลุกเสกได้อธิษฐาน เช่น ให้แสดงพุทธคุณจบครบ 5,000 ปี หรือให้แสดงพุทธคุณแก่คนที่ให้ท่านรักษาศีลเป็นต้น ข้อนี้ คือเป็นไปตามอธิษฐานของผู้ปลุกเสก
- ผู้บูชาหมดความเชื่อมั่น หมดศรัทธาในพระเครื่องนั้น ๆ แต่เมื่อมีผู้มีศรัทธา มีความเชื่อมั่นนำไปบูชาต่อ พระเครื่องก็สามารถแสดงพุทธคุณออกมาได้
- ผู้บูชาไม่ตั้งหมั่นความดี มีทาน ความกตัญญู สัจจะ เป็นต้น ฉะนั้น ผู้บูชาพระเครื่องจึงควรหมั่นให้ทาน ทำบุญตักบาตร ช่วยเหลือสังคม มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีสัจจะ
- ผู้บูชาไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า ฉะนั้น จึงควรรักษาศีลให้มั่น อย่างน้อย 2-3 ข้อขึ้นไป
- ผู้บูชาขาดความระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ฉะนั้น ผู้บูชาพระเครื่องควรหมั่นระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ โดยการสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กล่าวคำอาราธนาพระเครื่อง ระลึกถึงครูอาจารย์เป็นประจำ
- ไม่ปฏิบัติตามกฏหรือศีลของครูอาจารย์ เช่น อาจารย์สั่งว่า ห้ามกินของเหลือเดน แม้ไม่ใช่ศีลของพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่เป็นศีลเป็นข้อห้ามของครูอาจารย์ ผู้บูชาพระเครื่องควรมีความหนักแน่นในครูอาจารย์ ท่านห้ามอย่างไรก็ควรปฏิบัติอย่างนั้น