พระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในพระผงชุดเบญจภาคีที่มีอายุการสร้างที่ยาวนานนับพันปี จึงมีตำนานการสร้างหลายฉบับด้วยกัน ทางเว็บไซต์วัดมหาวัน ได้ให้ข้อมูลไว้ 3 ฉบับ เกี่ยวกับตำนานพระรอดดังนี้
ตำนานพระรอด ฉบับที่ 1
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 1200 เศษ พระนางจามเทวีได้รับราชาภิเษกให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน ฤาษีผู้มีนามว่าวาสุเทพและสุกกทันต ได้ปรารภกันว่าเมืองหริภุชัยนี้มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร หากเกิดศึกสงครามขึ้นมายากที่จะสู้รบกับฝ่ายตรงข้ามได้ จากนั้นปรึกษากันที่จะหาเครื่องช่วยป้องกันนรักษาไว้ จึงได้พากันผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมือง แล้วสร้างพระเครื่อง เครื่องรางพิมพ์ต่าง ๆ ขึ้น วัตถุมวลสารที่ใช้ในการสร้าง มีว่านพันหนึ่ง เกสรดอกไม้พันหนึ่ง และดินเหนียวศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนำมาจากทิศทั้งสี่ นำมาผสมสร้างเป็นพระพุทธรูป พระพิมพ์ต่าง ๆ ท่านวาสุเทพฤาษีได้สร้างพระคงปลุกเสกด้วยพระเวทอันขลังและศักดิ์สิทธิ์แล้วนำไปบรรจุไว้ทางทิศเหนือแห่งเมืองหริภุญชัย คือที่ตั้งของวัดพระคงปัจจุบันนี้ ส่วนท่านสุกกทันตฤาษีได้สร้างพระรอดปลุกเสกด้วยพระเวทอันขลังและศักดิ์สิทธิ์แล้ว จึงนำไปบรรจุไว้ภายในเจดีย์เบื้องปัจฉิมทิศแห่งนครหริภุญชัย คือที่ตั้งวัดมหาวันวนารามในปัจจุบันนี้
ตำนานพระรอด ฉบับที่ 2
ได้มีพระฤาษี 11 ตน ได้มาประชุมกันทำพระเครื่องไว้ 8 เมืองสำคัญ ได้แก่ สวรรคโลก พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ลำพูน พิชัย และกำแพงเพชร ครั้งนั้นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทำพิธีอัญเชิญเทพยดามาประชุมกัน ทรงให้ฤาษีและเทพยดาทั้งหลายไปนำเอาว่านพันหนึ่ง เกสรดอไม้พันหนึ่ง ยาพันหนึ่ง นำสิ่งทั้งหมดมารวมกัน ทำการบดและปั้นเป็นพระพิมพ์ต่าง ๆ ส่งไปประจำทั้ง 8 พระนคร
ตำนานพระรอด ฉบับที่ 3
ครั้งนั้น เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองพิจิตร มีฤาษี 101 ตน ฤาษีทั้งหมดเหล่านี้ได้มาประชุมปรึกษาหารือกันว่า เราจะถวายอะไรดีแก่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช มีฤาษี 4 ตนกล่าวว่าเราควรทำด้วยฤทธิ์ประดิษฐานเงินทองไว้ จึงทำเป็นเมฆพรรษไว้จะได้มาอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายไปตลอด 5,000 ปี เหล่าฤาษีทั้งหลายจึงไปหาว่านมาให้ได้พันหนึ่ง พร้อมด้วยเกสรดอกไม้พันหนึ่ง เมื่อได้สิ่งของครบแล้วฤาษีทั้งหลายจึงได้ป่าวประกาศต่อเทพยดาขอให้มาช่วยบดยาทำเป็นพระพิมพ์ไว้ ซึ่งมีสีแดง สีดำ และเมฆพรรษ จากนั้นได้พระพิมพ์เหล่านั้นมาประดิษฐานไว้ในองค์เจดีย์แห่งเมืองลำพูน ก็คือเจดีย์ที่วัดมหาวันนั่นเอง
ตำนานเกี่ยวกับพระรอดนั้น จะตำนานไหนก็ตาม พอสรุปได้ดังนี้
- มีอายุการสร้างที่ยาวนานนับพันปี
- ฤาษีเป็นผู้สร้าง
- สร้างถวายผู้ครองนครและเพื่อป้องกันนคร
- มีมวลสารที่สำคัญ (ตามตำนาน) ว่าน ดิน เกสร แร่ธาตุต่าง ๆ
การค้นพบพระรอด
การค้นพบพระรอดครั้งแรกนั้น มีขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตามจากบันทึกของทางวัดมหาวัน ได้ระบุไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2435 พระเจดีย์ที่วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน ซึ่งตรงกับสมัยของเจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร เป็นเจ้าผู้ครองนครประเทศราชลำพูน
ทางวัดมหาวันจึงได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระเจดีย์ ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการค้นพบพระรอดเป็นจำนวนมากที่สุด และได้นำเข้าบรรจุเข้าไว้ในองค์พระเจดีย์ตามเดิม
เมื่อปี พ.ศ. 2451 ฐานของพระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดลงอีก ทางวัดก็ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์ ก็ปรากฏว่าพบพระรอดที่บรรจุไว้ในปี พ.ศ.2435 จึงได้นำออกมาแจกจ่ายแก่ข้าราชการ และผู้ที่มาร่วมงานในครั้งนั้น พระรอดได้ที่พบในครั้งนั้น เรียกว่า “พระรอดกรุเก่า”
ต่อมาปี พ.ศ. 2498 ได้มีการขุดพบพระรอดในบริเวณหน้าวัดมหาวัน และใต้ถุนกุฎิพระ ในครั้งนี้ได้พบพระรอดจำนวนมากเกือบ 300 องค์ เรียกว่า “พระรอดกรุใหม่รุ่นแรก” และต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ทางวัดมหาวันได้ทำการรื้อพื้นอุโบสถเพื่อบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ ก็ได้พบพระรอดที่มีจำนวนมากกว่า 300 องค์ เรียกว่า “พระรอดกรุใหม่รุ่นสอง” และนับเป็นครั้งสุดท้ายที่ทางวัดมหาวันได้พบกรุพระรอดที่มีจำนวนมาก หลังจากนั้นก็ได้มีผู้คนพยายามขุดหาพระรอดในบริเวณวัดมหาวันเรื่อยมาทุกซอกทุกมุม ก็มีการพบพระรอดบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อย นาน ๆ จะเจอที
ทำไมจึงเรียกว่าพระรอด
เดิมทีที่มีการค้นพบยังไม่เรียกว่าพระรอด เรียกพระเนื้อดินเผา หรือ พระพิมพ์ชนิดดินเผา ต่อมาเมื่อมีการค้นพบพระพิมพ์นี้มากขึ้น ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จึงได้เรียกว่า พระรอด แต่ก็ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นคนเรียกก่อน แต่ก็มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการที่มาของชื่อพระรอดดังนี้
- เรียกตามนามพระฤาษีผู้สร้างคือ พระฤาษี “นารทะ” หรือพระฤาษี “นารอด” (แต่ในตำนาน 3 ฉบับข้างบนที่ผมอ้างอิงจากเว็บไซต์วัดมหาวันไม่กล่าวถึงนามฤาษีนี้เลย หรือกล่าวไม่หมด หรือคือฤาษีตนเดียวกันกับสุกกทันตฤาษี ผมขอเวลารวบรวมข้อมูลดูอีกทีครับ)
- เรียกตามนามพระพุทธรูปศิลา องค์ที่ประดิษฐ์อยู่ในวิหาร วัดมหาวัน คนในพื้นที่เรียกว่า “แม่พระรอด” หรือ “พระรอดหลวง” ตำนานกล่าวว่าเป็นพระพุทธสิขีปฏิมา ที่พระนางจามเทวีได้อันเชิญมาจากกรุงละโว้ ชื่อนี้เรียกกันมาก่อนที่จะมีการค้นพบพระรอดเนื้อดินเสียอีก พระพุทธรูปองค์นี้ที่พื้นผนังมีกลุ่มโพธิ์ใบคล้ายรัศมี ปรากฏอยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน
- ผู้ที่นำพระเครื่องนี้ไปสักการะบูชา ได้ประสบการณ์ในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย จึงได้เรียกตามพุทธคุณ พระช่วยให้รอด หรือ พระรอด
- เนื่องจากพระพิมพ์นี้ เป็นพระเครื่องที่มีขนาดเล็กกว่าพิมพ์อื่น ๆ จึงได้เรียกว่าพระลอด ตามภาษาท้องถิ่น ต่อมาเพี้ยนมาเป็นพระรอด หรืออาจจะมีผู้ที่ต้องการเรียกชื่อให้เป็นมงคลขึ้น จึงเรียกว่า พระรอด เพื่อหวังพุทธคุณอยู่รอดปลอดภัยทั้งไปและกลับ
พระรอดแบ่งเป็น 5 พิมพ์
พุทธลักษณะทั่วไปของพระรอด คือเป็นพระพุทธรูปเนื้อดินขนาดเล็ก ปางมารวิชัย มีฐานและมีผ้านิสีทนะรองรับปูไว้บนฐาน พื้นหลังองค์พระมีลวดลายกระจัง ชาวเมืองเหนือเรียกลายนี้ว่า ใบโพธิ์ เหตุเพราะว่ากระจังนั้นดูคล้ายใบโพธิ์ มีกิ่งก้านไม่อยู่ในเรือนแก้ว พระพักตร์จะปรากฏพระเนตร (ตา) พระกรรณ (หู) ยาวลงมาเกือบจะจรดพระอังสะ (บ่าหรือไหล่) ทั้งสองข้าง ส่วนด้านหลังพระเครื่องพิมพ์นี้นั้นไม่มีลวดลายอะไรนอกจากรอยนิ้วมือ พระรอดแบ่งได้ 5 พิมพ์ ใหญ่ และยังมีพิมพ์แยกย่อยออกมาจาก 5 พิมพ์นี้อีกไม่น้อยกว่า 40 พิมพ์
- พระรอด พิมพ์ใหญ่
- พระรอด พิมพ์กลาง
- พระรอด พิมพ์เล็ก
- พระรอด พิมพ์ต้อ
- พระรอด พิมพ์ตื้น
(เรื่องพิมพ์พระรอดทั้ง 5 พิมพ์หลัก ๆ นี้เมื่อก่อนอาจจะเรียกอีกแบบหนึ่ง ต่อมาเพื่อให้เรียกง่ายขึ้น จำง่ายขึ้น จึงเรียกเป็น ใหญ่ เมื่อมีใหญ่ก็มี กลาง เล็ก ต้อ ตื้น ตามมา)
มวลสารในการสร้างพระรอด
พระรอดมหาวันนอกจากใช้ดินเหนียวเป็นหลักในการสร้างองค์พระแล้ว ยังมีส่วนผสมของมวลสารที่เป็นมงคลอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้นว่า
- โพรงเหล็กไหล (แร่ดอกมะขาม)
- ว่านคงกระพันชนิดต่าง ๆ
- พระธาตุชนิดต่าง ๆ
- อิฐกำแพงเก่าทั้งสี่มุมเมือง
- ดินตรงบริเวณเสาหลักเมือง
- ผงศาสตราวุธ (เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นเคล็ดในข่มศัตรู)
- ผงตะไบพระโลหะ (แหล่งข้อมูลที่มาเขากล่าวอย่างนี้ ผมก็ไม่ทราบข้อมูลว่า ผงตะไบพระโลหะยุคไหน น่าจะเป็นยุคสมัยทวารวดี และน่าจะเป็นผงตะไบพระพุทธรูปมากกว่าพระพิมพ์เล็ก ๆ)
- เกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ
- น้ำทิพย์จากดอยคำม้อ และสถานที่อื่น ๆ
- ดินเหนียวบริสุทธิ์จากใจกลางน้ำปิง (ดินจากบาดาล, สะดือแม่น้ำ)
- เหล็กไหล
- เหล็กไหลตาแรด
- เมฆพัด
- เหล็กน้ำพี้
- ข้าวตอกฤาษี
- ผงยาฤาษี
- แร่ดอกมะขาม (ชนิดเดียวกันกับข้อหนึ่งหรือเปล่า ?)
- ดินศิลาธิคุณ
ที่มา : http://www.prarod.com/บทความพระรอด/14/ประวัติพระรอด-/-ยุคพระรอด
สีของพระรอด
เว็บไซต์ พรรคคูวิบูลย์ศิลป์ ได้แบ่งพระรอดออกเป็น 6 สี ได้แก่
- พระรอด สีเขียว
- พระรอด สีพิกุล (สีเหลือง)
- พระรอด สีแดง
- พระรอด สีเขียวคราบเหลือง
- พระรอด สีเขียวคราบแดง
- พระรอด สีเขียวหินครก
เว็บไซต์ prakruang-thai ได้แบ่งพระรอดออกเป็น 5 สีหลัก ๆ ดังนี้
- พระรอด สีขาว
- พระรอด สีเขียว
- พระรอด สีเหลือง
- พระรอด สีแดง
- พระรอด สีดำ
พุทธคุณพระรอดตามสีต่าง ๆ
พระรอด สีขาว มีพุทธคุณในด้านก่อให้เกิดความรักเมตตา และแคล้วคลาดปลอดภัย
พระรอด สีเขียว มีพุทธคุณในการเดินป่า ป้องกันภูตผีปีศาจ และสัตว์ร้ายต่าง ๆ
พระรอด สีเหลือง มีพุทธคุณในทางเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ เด่นด้านค้าขาย
พระรอด สีดำ มีพุทธคุณในทางคงกระพัน ชาตรี มีกำลังใจในการต่อสู้
ที่มา :
www.watmahawan.com/index.php/2018-07-23-12-58-41
www.prakruang-thai.com/?cid=1459808
www.dopratae.com/บทความ/ประวัติ-พระรอด-กรุวัดมหาวัน-จ.ลำพูน/55/
www.xn--42ca0eel1adavbsp6me2ed93ae.com/pharod.php
www.prarod.com
อีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระรอดอย่างเจาะลึกซึ่งความรู้ผมไม่พอ จึงไม่ขอนำข้อมูลมา แต่ว่าขอแนะนำให้ท่านได้เข้าไปศึกษา http://travelpangsida.blogspot.com/2018/09/blog-post.html
อีกเว็บไซต์ที่คุณแทน ท่านพระจันทร์ได้กล่าวถึงตำนานพระรอดไว้
https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_2768610