การทำขวัญนาค เป็นพิธีที่ต้องทำขึ้นก่อนการอุปสมบทของนาค โดยทำขึ้นเพื่ออบรมสั่งสอนนาคหรือคนที่จะบวชให้เห็นความสำคัญของเรื่องพระคุณของบิดามารดา ตั้งแต่ท่านให้กำเนิดเกิดมา และเลี้ยงดูกระทั่งเติบใหญ่ ด้วยความรักเอาใจใส่ ผู้บวชจึงต้องผ่านการทำพิธีทำขวัญนาค โดยวันนี้เราก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับการทำขวัญนาคมาเล่าสู่กันฟัง เป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามพร้อมๆ กันเลย
ความเชื่อเกี่ยวกับการทำขวัญนาค
ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ลูกผู้ชายหากได้มีโอกาสบวชทดแทนบุญคุณบิดามารดาจะถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ โดยชายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่และผู้มีพระคุณทั้งหลาย อีกทั้งยังเชื่อว่าการกตัญญูรู้คุณเป็นสิ่งที่จะช่วยยืนยันความดีของคน โดยเฉพาะการรู้จักกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา จะทำอะไรก็ย่อมเจริญ ทำให้การบวชมีความสำคัญกับผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
การทำขวัญนาค สำคัญต่อพิธีบวชอย่างไร
การทำขวัญนาค ถือว่ามีความสำคัญต่อการบวชอย่างมาก เพราะถือเป็นการอบรมสั่งสอนนาคให้รู้วิธีการปฏิบัติตนเป็นคนดี อยู่ในวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งการวางตัวที่ดีและกิจของสงฆ์ที่ทำให้น่าเลื่อมใส ขณะถือครองการเป็นนักบวชหรือพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดบุญกุศลแต่บิดามารดาผู้ให้กำเนิด ที่ท่านให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่มาถึงทุกวันนี้ เป็นการทดแทนบุญคุณของท่าน รวมทั้งญาติผู้มีบุญคุณต่อผู้ที่เป็นนาค ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันด้วย
การประกอบพิธีทำขวัญนาค
ในการประกอบพิธีทำขวัญนาคนั้น จะมีทั้งพิธีทางสงฆ์ ซึ่งต้องมีการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 5 รูป 7 รูป หรือ 9 รูป ก็ได้ ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน แต่โดยทั่วไป นิยมนิมนต์พระมา 9 รูป เพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์ก่อน อีกทั้งทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคลจะทำก่อนพิธีทำขวัญนาค ส่วนพิธีทางฆราวาสจะมีผู้ทำพิธีทำขวัญนาค เรียกว่า หมอขวัญ หรือ หมอขวัญนาค เป็นผู้ประกอบพิธี โดยจะเริ่มทำพิธีหลังจากพระสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์เสร็จเรียบร้อย และเดินทางกลับวัดแล้ว ซึ่งเวลาการทำขวัญนาคนั้นไม่ได้กำหนดเวลาใด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเจ้าภาพที่จะกำหนดเวลาในการทำขวัญนาค
พิธีทำขวัญนาคของหมอขวัญนาค
เมื่อพระสงฆ์เดินทางกลับวัดแล้ว หมอขวัญนาคจะเริ่มทำขวัญนาค โดยนำนาคเข้ามานั่งพิธีให้เรียบร้อย หมอขวัญจะเริ่มนำน้ำพระพุทธมนต์ที่พระสงฆ์ได้ทำไว้ มาประพรมเครื่องประกอบพิธีทั้งหมด ขณะนั้นก็ว่าคาถาไปด้วย จากนั้นจึงจุดเทียนชัยบนยอดบายศรี และจะเริ่มสวดบทชุมนุมเทวดา เพื่ออัญเชิญเทวดามาร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นหมอขวัญจะเริ่มกล่าว หรือแหล่เพื่อพูดถึงเรื่องการเกิดจากบิดามารดา และกล่าวถึงบุญคุณของท่านทั้งสองที่มีต่อลูกตั้งแต่เกิดมาจนโต
พรรณนาถึงการเกิดของคน
เมื่อพูดถึงบุญคุณของบิดามารดาแล้ว หมอขวัญนาคจะพรรณนาการกำเนิด เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิในครรภ์มารดา ไปจนจบแล้วจึงเข้าสู่บทเลี้ยงดูที่พูดถึงการเลี้ยงดูลูกด้วยความเอาใจใส่ ดั่งแก้วตาดวงใจ จากนั้นตามด้วยบทกล่อมลูก กล่าวถึงลักษณะการกล่อมลูกของแม่ สุดท้ายเป็นบทสอนนาคในการครองเพศบรรพชิตเพื่อให้มีความน่าเลื่อมใสตามหลักพระพุทธศาสนา เมื่อเสร็จในส่วนบทพรรณนาความแล้ว ต่อไปหมอขวัญนาคจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญนาค ซึ่งใช้เป็นบทแหล่ไปเรื่อยๆ จนหมดบทแหล่ เป็นอันเสร็จพิธีสู่ขวัญนาค
การทำขวัญนาคเป็นประเพณีและความเชื่ออันดีงาม เพื่อใช้กอบพิธีการบวชพระภิกษุ เป็นประเพณีอีกอย่างที่น่าหวงแหนและรักษาอย่างยิ่ง เพราะถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทยก็ว่าได้ จึงจำเป็นต้องช่วยกันรักษาให้อยู่คู่กับสังคมไทย ไปตราบนานเท่านาน