
ขณะตั้งครรภ์
ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ผู้ที่เป็นแม่ต้องคอยระมัดระวังตัวเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ๆ จึงทำให้เกิดความเชื่อถือที่ปฏิบัติมาอย่างมากมาย เช่น
– ดื่มน้ำต้มดอกบัวที่ใช้บูชาพระแล้วจะทำให้เด็กในท้องแข็งแรง
– เวลาที่มีสุริยคราสหรือจันทรคราสให้เอาเข็มมากลัดที่ชายผ้า เชื่อว่าทำให้เด็กเกิดมาครบอาการครบ 32
– ห้ามนั่งขวางบันได เพราะเชื่อว่าจะทําให้คลอดลูกยาก
– ห้ามตอกตะปู ติดกับไม้หรือสิ่งต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าคลอดยาก
– ห้ามไม่ให้ไปงานศพ เพราะผีจะตามมาบ้าน ทำให้เกิดขวัญอ่อน ไม่เป็นมงคล
– ห้ามไม่ให้นอนหงาย แต่ให้ผู้ที่ตั้งครรภ์นอนตะแคงสลับกันด้านซ้าย-ด้านขวา
การคลอด
การคลอดลูกแต่โบราณนั้น เวลาคลอดเรียกว่า “เวลาตกฟาก” ซึ่งผู้ที่เป็นพ่อแม่เด็กหรือหมอที่ทำคลอดจะจดเวลา วัน เดือน ปี เอาไว้สำหรับดูดวงชะตา และหลังจากคลอดลูกแล้วผู้เป็นแม่เด็กจะต้องอยู่ไฟ ก็คือการย่างตัวให้มดลูกเข้าอู่ ซึ่งเป็นวิธีการโบราณเพื่อรักษาพิษบาดแผลให้หายเร็ว ซึ่งการอยู่ไฟนี้โบราณจะใช้ขมิ้นกับปูนกินหมากนำมาผสมกัน ทาบริเวณ
ท้องแม่เด็ก แล้วให้นั่งใกล้ๆ กองไฟที่ก่อด้วยฟืน ใช้ไพล ขมิ้น ใบระนาด ผิวมะกรูดตากแห้งหั่นให้ละเอียดแล้วนำมาโรยในกองไฟให้ควันฟุ้งใส่แม่ของเด็ก ใช้เวลาอยู่ไฟประมาณ 7-15 วัน และช่วงนี้ต้องงดอาหารแสลงต่าง ๆ
ประเพณีการทำขวัญเด็กแรกเกิด มีทั้งทำขวัญ ๓ วันและทำขวัญเดือน การปฏิบัติให้จัดทำบายศรีปากชาม และมีเครื่องบัตรพลีต่าง ๆ สำหรับนำมาสังเวยพระภูมิเจ้าที่ ได้แก่ ปลาช่อนต้มยำหนึ่งตัว กล้วยหนึ่งหวี มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว และขนมอื่น ๆ ตามสมควรที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้แนะนำไว้ ดอกไม้ ธูปเทียน ส่วนเครื่องที่ใช้ทำขวัญ มีแป้งหอม น้ำมันหอม กระแจะมาจุนเจิม ขันข้าวสาร เพื่อใช้ปักเทียนสามเล่ม เสร็จพิธีจึงนำเอาด้ายสายสิญจน์มาเสกผูกข้อมือเด็กทั้ง ๒ ข้าง เป็นการผูกขวัญเด็ก
การทำขวัญเดือนหรือโกนผมไฟ ต้องทำการบัตรพลีพระภูมิเจ้าที่ก่อน เมื่อโกนผมเด็กแล้วให้เหลือไว้หย่อมหนึ่งที่ตรงกลางขม่อมเด็ก ผมที่โกนแล้วให้บรรจุลงในกระทงมีใบบัวรองก้นหรือถ้าไม่มีใบบัวใช้ใบบอนแทนก็ได้ แล้วนำกระทงวางไว้บนพาน นำไปลอยน้ำหรือเอาไปทิ้งแล้วแต่สถานที่สะดวก ผู้ที่เอาไปลอยหรือเอาไปทิ้งต้องพูดว่าขอให้อยู่เย็นเป็นสุขเถิด