ประเพณีของทางภาคอีสานอีกอย่างหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ประเพณีอื่นๆ คือประเพณีการแห่ข้าวพันก้อน ซึ่งเป็นงานบุญที่จัดร่วมกับการทำบุญผะเหวด โดยจะมีการแห่ข้าวพันก้อนก่อนวันที่จะมีการฟังเทศน์มหาชาติ เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมาก และวันนี้เราก็จะพาไปดูกันว่าประเพณีการแห่ข้าวพันก้อน เป็นอย่างไรและมีความน่าสนใจมากเพียงใด
ความเชื่อเกี่ยวกับการแห่ข้าวพันก้อน
ตามความเชื่อของคนอีสาน การแห่ข้าวพันก้อน เป็นประเพณีการทำบุญอย่างหนึ่งที่ผู้มาร่วมงานจะมีโอกาสในการถวายทานเป็นพุทธบูชา โดยในรอบหนึ่งปีจะมีการทำข้าวปลาอาหารมาบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ทั้งยังมีโอกาสได้มานั่งฟังธรรมหนึ่งพันพระคาถา อีกทั้งได้นำข้าวมาร่วมทำบุญ และนำส่วนหนึ่งกลับไปบูชาที่บ้าน ส่วนที่เหลือส่วนหนึ่งจะช่วยกันนำมาทำขนมเพื่อต้อนรับผู้มาร่วมงาน
โดยเชื่อว่าการทำบุญนี้จะช่วยให้ชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพ มีโชคลาภ และมีความสุขความเจริญ อีกทั้งยังได้เป็นการสืบทอดประเพณีการแห่ข้าวพันก้อนนี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้เข้าร่วมงานแห่ข้าวพันก้อนจะเป็นผู้สูงอายุมากกว่า เพราะต้องตื่นมาร่วมบุญก่อนรุ่งเช้า ทำให้ไม่ค่อยมีคนวัยหนุ่มสาวมาร่วมบุญแห่ข้าวพันก้อนมากนัก
ช่วงเวลาของการทำบุญแห่ข้าวพันก้อน
ชาวอีสานจะจัดบุญแห่ข้าวพันก้อน ในวันที่ 2 ของการทำบุญผะเหวด คือช่วงเดือน 3 ของทุกปี ซึ่งเป็นอยู่ในระหว่างเวลาวันเสาร์อาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม โดยจะมีการแห่พระอุปคุตในตอนเย็น และพอรุ่งเช้าเวลาประมาณตี 4 หรือตี 5 ก่อนรุ่งสาง ชาวบ้านจะมาเดินเวียนรอบศาลาหรือพระอุโบสถ เพื่อวางข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนๆ แล้ววางบนตะกร้าหรือชะลอมที่ผูกติดไว้กับเสา โดยเวียนใส่ทุกตะกร้าจำนวน 3 รอบ การเวียน 3 รอบเป็นกุศโลบายให้นึกถึง การบูชาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์
ขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่และบางจังหวัดก็มีการนำข้าวเหนียวนึ่งสุกมาปั้นเป็นก้อนๆ แล้วเสียบไม้ เหมือนดอกไม้ แล้วนำไปปักที่พานพุ่ม เพื่อนำไปถวายพระพุทธรูปประธานของวัดนั้นๆ ก่อน ซึ่งเป็นความงดงามทางวัฒนธรรม ในการทำบุญแห่ข้าวพันก้อนในแต่ละท้องที่ แต่ความสวยงามเหล่านั้น ยังแฝงด้วยคติธรรมเดียวกัน คือการนอบน้อมบูชาต่อพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา
วัตถุประสงค์ของการแห่ข้าวพันก้อนกับวิถีชีวิต
การแห่ข้าวพันก้อนนั้นนอกจากจะเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้าแล้ว ยังถือว่าเป็นการบูชาคุณพระธรรมและคุณของพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาด้วย อีกทั้งเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป และก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล กับผู้ที่มาร่วมงานบุญแห่ข้าวพันก้อน ให้พบแต่ความสุขความเจริญ และสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน ประกอบอาชีพเจริญรุ่งเรือง นอกจากนั้นยังเป็นประเพณี ที่ช่วยสร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้น กับคนในชุมชนและหมู่บ้านระแวกเดียวกันด้วย เนื่องจากมีโอกาสได้พบเจอและช่วยกันทำงานบุญกระทั่งเสร็จลุล่วง
นอกจากนั้นการทำบุญแห่ข้าวพันก้อน ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้านด้วย เพราะเชื่อว่าการทำบุญแห่ข้าวพันก้อนแล้ว จะช่วยดลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การทำไร่ทำนาและเพาะปลูกพืชมีความอุดมสมบูรณ์ เกิดความสุขความเจริญ และจะทำให้มีข้าวมีน้ำเต็มนา ได้ข้าวเต็มยุ้งฉาง ประเพณีการแห่ข้าวพันก้อน ถือเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวอีสาน เพราะช่วยให้คนในชุมชน เกิดความรักความสามัคคีกัน อีกทั้งมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม นอกจากนั้นยังเป็นประเพณีที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนอีสานด้วย จึงเป็นประเพณีที่มีคุณค่าและควรจะได้รับการสืบทอดให้คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยต่อไป
คำแห่ข้าวพันก้อน
นะโม นะไม พระไตรปิฎก ยกขึ้นมาเทศนาธรรม ฟังลำมหาชาติ ขันหมากเบ็งงามสะพาด ข้าวพันก้อนถวายอาชญ์บูชา ซา เฮา ซา สาม ดวงยอดแก้ว ข้าไหว้แล้วถวายอาชญ์บูชา สาธุ สาธุ สาธุ
ภาพประกอบจาก : https://cac.kku.ac.th/heet12_kong14/phawed.html
บทความแนะนำ…ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติของชาวอีสาน