พระขุนแผนสากหัก
พระขุนแผนสากหัก เป็นอีกหนึ่งพระตระกูลพิมพ์ขุนแผนรุ่นใหม่ที่ผมใฝ่ฝันอยากมีมานานตั้งแต่เข้าศึกษาพระเครื่องใหม่ ๆ
พระขุนแผนสากหัก มีการจัดสร้างที่ไม่พิสดาร แต่มีสิ่งที่คณะศิษย์หลวงปู่ทิม (บางกลุ่ม) เรียกว่าปาฏิหาริย์ นั่นคือขณะที่ตำผงพรายกุมารเพื่อผสมเป็นมวลสารเป็นพระเครื่อง สากหินได้หักออกเป็นสองท่อน เชื่อกันในสายพรายว่า นั่นคือปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งของผงพรายกุมาร คือผงพรายกุมารต้องการแสดงให้รู้ว่า “ข้ายังอยู่ ข้ายังมีอิทธิฤทธิ์ ข้ายังมีอานุภาพอยู่” ด้วยนิมิตหมายอันนี้ จึงได้ชื่อเรียกว่า “พระขุนแผนสากหัก”
มูลเหตุการสร้างพระขุนแผน รุ่นสากหัก
พระขุนแผนผงพรายกุมาร รุ่นสากหัก หรือคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า พระขุนแผนสากหัก จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 ในนามมูลนิธิหลวงปู่ทิม อิสริโก โดยคุณชินพร สุขสถิตย์ ตามคำชักชวนของลุงแมง (ลุงแมงคนนี้เป็นหนึ่งในศิษย์ผู้รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ทิม และเป็นผู้กดพิมพ์พระขุนแผนผงพรายกุมารในยุคหลวงปู่ทิมและโด่งดังจนถึงทุกวันนี้) เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ร่วมทำบุญกฐินสามัคคี ณ วัดพงเสลี่ยง บ้านห้วยโป ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2546 เพื่อนำเงินที่ได้สมทบทุนสร้างศาลาอเนกประสงค์ ชื่อ ศาลาศิษย์หลวงปู่ทิม ร่วมใจ
เมื่อคุณชินพร สุขสถิตย์ รับปากว่าจะช่วยสร้างพระ ลุงแมงและพระทอง สุขวงศ์จันทร์ จึงได้นำผงพรายกุมารชนิดบริสุทธิ์ (เข้มข้น)ที่ตนได้เก็บสะสมไว้ตั้งแต่คราวสร้างพระถวายหลวงปู่ทิม มาให้ อ.ชินพร สุขสถิตย์ ขนาด 1 ขวดเนสกาแฟขนาดเล็ก ลุงแมงเล่าว่า ได้เก็บไว้ตั้งแต่สมัยหลวงปู่ทิมยังอยู่ แต่ไม่กล้าเอาออกมาใช้สร้างพระ เพราะเกรงใจพระอาจารย์เชย เจ้าอาวาสระหารไร่รูปปัจจุบัน แต่เมื่อมีเหตุต้องใช้และสร้างพระที่ไม่ได้ออกในนามวัดละหารไร่จึงมอบผงพรายกมารบริสุทธิ์แบบเข้มข้นนี้ให้คุณชินพร สุขสถิตย์เพื่อนำไปใช้สร้างพระขุนแผนพรายกุมารสำหรับสมนาคุณแก่ผู้ร่วมบุญทอดกฐินวัดพงเสลี่ยง
ลุงแมงซึ่งเป็นผู้ชำนาญด้านว่านยาต่าง ๆ ยังได้ไปแสวงหาว่านมงคลต่าง ๆ ตามที่เคยหามาสร้างพระตามตำราของหลวงปู่ทิม มวลสารสำคัญที่หายากยิ่งอีกอย่างหนึ่งที่ลุงแมงไปเสาะแสวงหามา คือไม้หลงลืม หรือเถาวัลย์หลง ส่วนทิดเย็น คำมี หรืออดีตหลวงพี่เย็น ซึ่งเคยช่วยหลวงปู่ทิมสร้างวัตถุมงคล พระเครื่อง, ลงเลขยันต์ ตลอดจนการทำสีผึ้งก็ได้เผยเคล็ดลับต่าง ๆ ในการสร้างพระเครื่องของหลวงปู่ทิมแก่คุณชินพร สุขสถิตย์
เมื่อคนอื่นทราบว่าคุณชินพร สุขสถิตย์ จะสร้างพระเครื่องสายหลวงปู่ทิม บางคนได้นำผงและของอาถรรพ์ต่าง ๆ มาเป็นส่วนผสมในการจัดสร้าง เช่น คุณอุกฤษ ดุลย์เกษม หัวหน้าไปรษณีย์ได้นำพระผงรูปหล่อขนาดใหญ่พิเศษของหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ซึ่งได้สร้างขึ้นเพียง 3 องค์มาให้คุณชินพรตำผสมลงในเนื้อพระขุนแผนพรายกุมารรุ่นสากหักนี้ด้วย กล่าวได้ว่าพระขุนแผนพรายกุมารรุ่นสากหักนี้ มีผงพรายกุมารของหลวงปู่ทิมและผงวิเศษต่าง ๆ บรรจุมากที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา หลังจากที่หลวงปู่ทิมได้มรณภาพไปแล้ว
เมื่อถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2546 วันแม่แห่งชาติ วันผู้ให้กำเนิด วันที่แสดงความรักที่แม่มีต่อลูกและลูกระลึกถึงพระคุณของแม่ ถือว่าเป็นหนึ่งในวันมงคลแห่งปี คุณชินพร สุขสถิตย์ก็ได้ถือเอาฤกษ์ในวันดังกล่าวเป็นวันที่เริ่มต้นในการสร้างพระขุนแผนพรายกุมารรุ่น คุณชินพรได้นำเอาผงมวลสารต่าง ๆ และผงพรายกุมารที่ลุงแมงและพระทอง สุขวงศ์จันทร์ที่ได้มอบให้มาตำเป็นครกแรกที่บ้านในมูลนิธิหลวงปู่ทิม ผงเริ่มละเอียดพร้อมที่จะนำมากดเป็นพระขุนแผนได้ สากหินที่ใช้ตำผงก็หักออกจากกันทันที ทำให้คุณชินพรเกิดขนลุกซู่ และคิดว่าหลวงปู่ทิมท่านคงจะสำแดงเหตุบางประการให้ทราบว่าพระขุนแผนรุ่นนี้ต้องมีศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน เหตุการณ์นี้มีคนอยู่ในเหตุการณ์ 3 คน คือคุณชินพร สุขสถิตย์ คุณมานิตาภรรยาของคุณชินพร และคุณนพดล ช่างโยธา 5 สำนักระบายน้ำของ กทม ด้วยนิมิตหมายอันนั้น จึงเรียกพระขุนแผนพรายกุมารรุ่นนี้ว่า พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก
คุณชินพรกดปั้มพระขุนแผนรุ่นสากหักได้ประมาณพันกว่าองค์ก็ทำไม่ไหวแล้ว คุณชาลี เอี่ยมฉลวย ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อสง่า วัดบ้านหม้อ ราชบุรี และหลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม ได้รับอาสาเอาไปทำต่อ
จำนวนการจัดสร้าง พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก
พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก มี 2 พิมพ์ ได้แก่
1.พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก พิมพ์ใหญ่ สร้าง 5,556 องค์
2.พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก พิมพ์เล็ก 6,996 องค์
พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก พิมพ์ใหญ่แบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่คือแบบฝังตะกรุด และแบบไม่ฝังตะกรุด เฉพาะแบบฝังตะกรุดยังสามารถแบ่งแยกตามชนิดตะกรุดที่ฝังได้ดังนี้
–พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก พิมพ์ใหญ่ ฝังตะกรุดทองคำ 96 องค์
–พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก พิมพ์ใหญ่ ฝังตะกรุดเงิน 256 องค์
–พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก พิมพ์ใหญ่ ฝังตะกรุดทองแดง 356 องค์
นอกนั้นจะฝังอย่างอื่นแทน เช่น พลอยเสก (ฝังปกติ) พระขุนพลจิ๋ว (พิเศษ) เป็นต้น แต่ในส่วนของพิมพ์เล็กไม่ได้ฝังตะกรุดและพลอยเสกใด ๆ
พระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก แบ่งตามสีเนื้อออกเป็น 3 สี คือ
1.สีขาว (ผงพุทธคุณต่าง ๆ มวลสารปกติ)
2.สีแดง (ผสมปูนคุณแม่บุญเรือน)
3.สีดำ (ผสมผงถ่านไม้มงคล)
พิธีปลุกเสกพระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหัก
ในเรื่องการอธิษฐานจิตปลุกเสกพระขุนแผนผงพรายกุมาร รุ่นสากหักนั้นคณะผู้จัดทำนำเข้าขอความเมตตาจากพระครูธรรมรังษี (หลวงปู่ธรรมรังษี ) วัดพระบาทเขาพนมดิน จ.สุรินทร์ อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว แล้วจึงนำไปแจกผู้ร่วมงานถวายผ้ากฐิน ณ วัดพงเสลี่ยง บ้านห้วยโป ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2546 ส่วนพระที่เหลือทั้งหมดจากการแจกในวันงานดังกล่าว ได้ถูกนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกในงานเททองหล่อพระกริ่งชินบัญชรมหาปราบ ที่วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546 อีกวาระหนึ่ง โดยมีพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม นั่งปรกปลุกเสกทั้ง 4 ทิศ ดังนี้
1.หลวงปู่ธรรมรังษี วัดพระบาทเขาพนมดิน จ.สุรินทร์
2.หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา
3.หลวงพ่อแจ่ม วัดเขาสำเภาทอง จ.ระยอง
4.หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ จ.ระยอง
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพระเกจิอาจารย์มาร่วมงาน เจริญพระพุทธมนต์ อธิษฐานจิตอีกหลายรูป
ความพิเศษของพระขุนแผนผงพรายกุมาร รุ่นสากหัก
1.เป็นพระขุนแผนพรายกุมารยุคต้น คือเป็นการสร้างพระขุนแผนผงพรายกุมารยุคแรกหลังหลวงปู่ทิมมรณภาพแล้ว จึงเป็นพระขุนแผนที่มีส่วนผสมของผงพรายกุมารมากอีกรุ่นหนึ่ง
2.มี 2 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก แต่ละพิมพ์มีความสวยงามตามแบบพระขุนแผนพรายกุมารหลวงปู่ทิม
3.ทราบว่า ผู้ที่ได้รับแจกพระขุนแผนพรายกุมาร รุ่นสากหักไป ฝันเห็นหลวงปู่ทิมบ้าง ฝันเห็นคนแปลกหน้ามาอาศัยอยู่ด้วยบ้าง
4.พระขุนแผนผงพรายกุมาร รุ่นสากหัก พระทั้งหมดผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวโดย พระครูธรรมรังษี (หลวงปู่ธรรมรังษี ) วัดพระบาทเขาพนมดิน แล้วนำไปแจกในงานกฐิน พระที่เหลือแจกทั้งหมดจึงนำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งชินบัญชรมหาปราบ ที่วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนซื้อขายพระขุนแผนผงพรายกุมารรุ่นสากหักทุกวันนี้ จึงรู้ไม่ได้เลยว่าองค์ไหนแจกในงานกฐินที่ผ่านการปลุกเสกเฉพาะหลวงปู่ธรรมรังษีรูปเดียว หรือว่าองค์ไหนได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งชินบัญชรมหาปราบที่วัดละหารไร่ด้วย เพราะไม่ได้ทำเครื่องหมายใด ๆ ไว้ที่องค์พระ แต่หากใครอยากได้พระที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งชินบัญชรมหาปราบที่วัดละหารไร่ด้วย คงต้องแนะนำว่า ให้เลือกพิมพ์ด้านหลังบรรจุสิ่งพิเศษหรือเฉพาะกรรมการเท่านั้น เพราะชุดกรรมการไม่ใช่ชุดแจกในงานกฐิน จึงเป็นไปได้สูงที่จะถูกนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งชินบัญชรมหาปราบที่วัดละหารไร่ด้วย (แต่ก็ไม่แน่นอนเช่นกัน เพราะพระขุนแผนสากหักพิมพ์กรรมการบางองค์อาจจะถูกมอบให้กรรมการกฐินหรือกรรมการจัดงานตั้งแต่วันถวายผ้ากฐินก็เป็นได้)
ปาฏิหาริย์ผงพรายกุมาร
ผงพรายกุมารสร้างปาฏิหาริย์ในขณะผสมมวลสารสร้างพระหลายครั้ง เท่าที่ผมอ่านมา มีดังนี้
1.สมัยหลวงปู่ทิมยังอยู่ นายสำเภา อัมฤทธิ์ หรือ นายครอก นำผงพรายไปตำเพื่อสร้างพระขุนแผนจนเกิดไฟลุกท่วมครก ทำอย่างไรก็ไม่ดับ จนต้องไปนิมนต์หลวงปู่ทิมมาดับไฟ
2.หลังจากหลวงปู่ทิมมรณภาพแล้ว คุณชินพรได้ผงพรายกุมารมาตำเพื่อสร้างพระขุนแผน สากหินที่ใช้ตำผงได้หักออกจากเป็น 2 ท่อน
คาถาบูชาพระขุนแผนรายกุมาร รุ่นสากหัก
ตั้ง นะโม 3 จบ
อิติ สุคะโต อะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ
สุ นะ โม โล มะอะอุ ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา
พุทโธ พุทโธ
(สวดคาถา 3 จบ)
พุทธคุณ พระขุนแผนรายกุมาร รุ่นสากหัก
พระขุนแผนรายกุมาร รุ่นสากหัก เชื่อว่ามีพุทธคุณโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย นักเจรจา นักค้าขาย นักต่อรองธุรกิจ ทนายความ ควรมีพระขุนแผนรายกุมาร รุ่นสากหักไว้บูชา โดยเฉพาะการเจรจากับลูกค้า หรือกับหนุ่มสาวที่หมายปอง รับรองสมประสงค์ เพราะแม้แต่สากหินที่ว่าแกร่งยังต้องหัก มีหรือใจคนจะไม่อ่อน
ข้อมูล : ศูนย์พระเครื่อง ไอเดียโฟโต้