Skip to content
พระคุ้มครอง

วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

  • Home
  • ทำบุญ
  • ธรรมะ
  • คาถา
  • นิทาน
  • นำโชค
  • เรื่องผี
  • ตำนาน
  • หนังสือ
  • เรียกจิต
  • ประเพณี
  • ภาษาวัด
  • ทายนิสัย
  • พระเครื่อง
  • เครื่องราง
  • นานาสาระ
  • ยาสมุนไพร
  • พระสายกรรมฐาน
พระคุ้มครอง

วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

พระคุ้มครอง, 2 มิถุนายน 20234 มิถุนายน 2023
เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

ทำบุญวันวิสาขบูชา
ทำบุญวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาในปี 2566 ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน ซึ่งโดยปกติแล้ว วันวิสาขบูชานั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีอธิกมาส หรือแปดสองหนจึงถูกเลื่อนมาเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธเรารู้จักกันเป็นอย่างดี หากแต่จะมีกี่คนที่ทราบประวัติความเป็นมาและทราบความสำคัญของวันดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ เราจึงนำประวัติ ความหมายและความสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวันวิสาขบูชามาฝาก มาติดตามพร้อมกันเลยค่ะ

ความหมายของวันวิสาขบูชา

คำว่า “วิสาขบูชา” ได้ถูกย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ความหมายของวิสาขบูชาจึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นเอง

กำหนดการจัดวันวิสาขบูชา

ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันวิสาขบูชาจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน แต่หากปีใดมีเดือน 8 สองหนหรือที่เรียกกันว่า “อธิกมาส” การกำหนดวันวิสาขบูชาก็จะถูกเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือประมาณช่วงเดือนมิถุนายน แต่ในบางปีของบางประเทศอาจมีกำหนดวันวิสาขบูชาไม่ตรงกันกับวันของไทย เนื่องจากประเทศนั้น ๆ มีตำแหน่งที่ตั้งแตกต่างจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาเกิดการคลาดเคลื่อน จึงจำต้องเลื่อนไปจัดตามวันเวลาของประเทศนั้น ๆ

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่มี 3 เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับวิถีชีวิตขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยแต่ละเหตุการณ์ได้เวียนมาบรรจบกันซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 แม้ว่าจะมีระยะเวลาห่างกันยาวนานนับหลายสิบปีก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ที่มีความอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการนั้น ได้แก่

ลุมพินี ที่ประสูติพระพุทธเจ้า
ลุมพินี ที่ประสูติพระพุทธเจ้า

1.เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

เหตุการณ์สำคัญอันดับแรกก็คือ ตรงกับวันประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความเป็นมาคือ เมื่อพระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนใกล้ประสูติ พระนางได้แปรพระราชฐานไปประทับยังกรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลตามประเพณีที่นิยมในช่วงสมัยนั้น และในขณะที่พระองค์เสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางสิริมหามายาก็ได้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละนั้นในทันใด โดยวันที่ประสูติตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี และเมื่อพระกุมารประสูติมาได้ 5 วัน ก็ได้รับถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” ซึ่งแปลว่า “สมปรารถนา”

ในเวลาต่อมา ข่าวการประสูติของพระราชกุมารแพร่สะพัดไปถึงอสิตดาบสทั้ง 4 ซึ่งเป็นดาบสที่อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และยังมีความเคยคุ้นกันดีกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสเหล่านั้นจึงได้เดินทางไปเข้าเฝ้า เมื่อได้เห็นพระราชกุมารก็ทำนายในทันทีว่า พระราชกุมารองค์นี้คือ ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้กล่าวการพยากรณ์ว่า “พระราชกุมารองค์นี้จักได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพาน ได้ประกาศธรรมอันบริสุทธิ์ และจะเป็นศาสดาเอกแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก โดยไม่มีศาสดาใดยิ่งใหญ่เหนือกว่า” จากนั้นจึงก้มลงกราบแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะเมื่อทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นก็ทรงรู้สึกถึงความอัศจรรย์ใจและเปี่ยมล้นด้วยปีติยิ่งนัก จนถึงกับทรุดพระองค์ลงเพื่ออภิวาทพระราชกุมารตามที่ดาบสได้ทำ

มหาโพธิ อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
มหาโพธิ อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

2.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ

ภายหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชได้เป็นเวลา 6 ปี กระทั่งพระชนมายุ 35 พรรษา พระองค์ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ทางฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในช่วงเวลาตอนเช้ามืดของวันพุธ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ก็คือ พุทธคยา อันเป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของประเทศอินเดียนั่นเอง

สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มีอะไรบ้าง?

สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็คือ อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนเมื่อจิตเป็นสมาธิถึงระดับฌานที่ 4 พระองค์ก็บำเพ็ญภาวนาต่อจนได้ฌานที่ 3 คือ

ยามต้น : พระองค์ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุติญาณ” คือ ทรงสามารถระลึกชาติทั้งเรื่องในอดีตของตนเองและผู้อื่นได้

ยามสอง : พระองค์ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือ การรู้แจ้งเห็นแจ้งโดยตาทิพย์ ตั้งแต่การเกิดและการดับของทุกสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงสามารถมองเห็นการจุติและอุบัติขึ้นของดวงวิญญาณทั้งหลายได้

ยามสาม (ยามสุดท้าย) : พระองค์ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือ รู้วิธีการกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ 4 ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด

พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ณ กุสินารา
พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ณ กุสินารา

3.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสสู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็ได้แสดงธรรมเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี จนกระทั่งมีพระชนมายุ 80 พรรษา พระพุทธองค์ก็ได้ประทับเพื่อจำพรรษา ณ เวฬุคาม ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นก็ทรงประชวรอย่างหนัก และเมื่อวันเพ็ญเดือน 6 มาถึง พระพุทธองค์กับเหล่าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ได้ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านของนายจุนทะ ตามที่ได้กราบทูลนิมนต์ไว้ และได้ทรงเสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายจากนั้นก็เกิดอาพาธขึ้นอย่างหนัก หากก็ยังทรงอดกลั้น มุ่งหน้าเดินทางไปประทับ ณ ป่าสาละที่เมืองกุสินาราเพื่อดับขันธ์ปรินิพพานต่อไป

เมื่อยามสุดท้ายของคืนวันเพ็ญเดือน 6 มาถึง พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายนั้นย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่นให้บริบูรณ์พร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าสู่การดับขันธ์ปรินิพพาน ท่ามกลางคืนวันเพ็ญเดือน 6 อย่างสงบ

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

จากหลักฐานที่ปรากฎก็ได้พบว่า วันวิสาขบูชา มีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากทางลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 ซึ่งพระภาติกุราช ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้ทรงประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้นทางกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้ทรงสืบทอดประเพณีวิสาขบูชาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สำหรับการเผยแผ่ประเพณีวิสาขบูชาเข้ามาในประเทศไทย คาดว่าเป็นเพราะในสมัยกรุงสุโขทัย ยุคสมัยนั้นประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนากับทางประเทศลังกาอย่างใกล้ชิดมาก เห็นได้จากการมีพระสงฆ์จากทางลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และยังนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติเพื่อเป็นการถ่ายทอดในประเทศไทยร่วมด้วย

การปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัย ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือนางนพมาศ เนื้อความสรุปได้ว่า เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง พระเจ้าแผ่นดิน และเหล่าข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ตลอดจนประชาชนชาวสุโขทัยจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมจุดประทีปโคมไฟให้สว่างไสวทั่งทั้งพระนคร โดยจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ในขณะที่พระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เมื่อครั้นเวลาตกเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์และข้าราชบริพารฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวงเพื่อทรงทำพิธีเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนพสกนิกรชาวสุโขทัยนั้นก็พร้อมเพรียงตั้งใจรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัตสังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร และบริจาคทานแก่คนจนผู้ยากไร้ รวมถึงทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ

หลังจากช่วงสมัยสุโขทัยแล้ว ศาสนาพราหมณ์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทจนทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มากขึ้น จึงทำให้สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่หลักฐานปรากฎว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2360 พระองค์ท่านก็ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) แห่งสำนักวัดราชบูรณะถวายพระพรให้ทรงจัดทำพิธีขึ้นเป็นครั้งแรก พิธีวิสาขบูชาจึงได้ประกอบขึ้นอีกครั้งในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ในปี พ.ศ. 2360 โดยให้จัดขึ้นตามแบบอย่างประเพณีดั้งเดิมทุกประการ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนพร้อมเพรียงกันตั้งใจทำบุญ สร้างกุศลอย่างถ้วนหน้ากันด้วย สำหรับการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาอีกครั้งในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างในการถือปฏิบัติของการประกอบพิธีวันวิสาขบูชามาจนตลอดต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน

ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี

วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีด้วยกันหลายวัน แต่หนึ่งในนั้นก็คือ วันวิสาขบูชา เพราะมีเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับการกำเนิดพุทธศาสนา โดยเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงยกให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญ และในวันที่ 13 ธันวาคม ในปีพ.ศ. 2542 ทางองค์การสหประชาชาติก็ได้ยอมรับญัตติที่ประชุม โดยมีการกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกด้วยเช่นกัน โดยเรียกว่า Vesak Day ซึ่งเป็นคำเรียกของทางชาวศรีลังกา ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นเรื่องให้ทางสหประชาชาติรับไปพิจารณา และยังได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย

การที่ทางด้านสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญของโลก ก็เพราะได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงเป็นถึงพระมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย และยังเปิดโอกาสให้คนทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพื่อได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงสำหรับความเป็นไปของชีวิต โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และยังทรงสั่งสอนมนุษย์ทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ อย่างไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา

สำหรับการประกอบพิธีขึ้นในวันวิสาขบูชานั้น แบ่งออกได้เป็น 3 พิธี ดังนี้

1.พิธีหลวง เป็นพระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยประกอบพิธีขึ้นในวันวิสาขบูชา

2.พิธีราษฎร์ เป็นพิธีของประชาชนทั่วไป

3.พิธีของพระสงฆ์ เป็นพิธีที่พระสงฆ์จะทำการประกอบศาสนกิจ

กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันวิสาขบูชา
กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันวิสาขบูชา

กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันวิสาขบูชา

เนื่องจากวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและยังเป็นวันสำคัญของโลก สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยเรานั้นก็มีกิจกรรมที่ควรแก่การพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่…

1.ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้บุคคลที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร

2.เตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญถวายภัตตาหารพระสงฆ์ที่วัด พร้อมกับปฏิบัติธรรมและฟังพระธรรมเทศนา

3.ปล่อยนก ปล่อยปลา

4.เวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในช่วงเวลาตอนค่ำ เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

5.เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นเกี่ยวกับวันสำคัญของทางพระพุทธศาสนา และร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

6.จัดแสดงนิทรรศการ พุทธประวัติ และความสำคัญของวันวิสาขบูชาตามโรงเรียนหรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เพื่อเป็นความรู้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการได้ร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาพร้อมกันด้วย

7.ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการเพื่อเป็นเกียรติและความเป็นสิริมงคล

หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชาที่ชาวพุทธควรแก่การนำมาปฏิบัติ

วันสำคัญใดก็ตาม ล้วนมีหลักการหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับวันสำคัญนั้น ๆ และเช่นกันกับวันวิสาขบูชา เหล่าพุทธศาสนิกชนทุกท่านก็ควรตระหนักและควรยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยหลักธรรมที่ควรแก่การนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชานั้น ได้แก่…

1.ความกตัญญู

การที่เรารู้บุญคุณผู้อื่น ถือเป็นคุณธรรมที่มาควบคู่กันกับความกตเวที โดยหมายถึงการตอบแทนความดีงามสำหรับผู้ที่ทำคุณไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนับได้ว่าเป็นเครื่องหมายของคนที่ทำความดี ทำให้ครอบครัวและสังคมเต็มไปด้วยความสงบสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีก็ยังสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งกับบิดามารดา-ลูก ครูบาอาจารย์-ลูกศิษย์ และนายจ้าง-ลูกจ้าง ฯลฯ

2.อริยสัจ 4

ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือความหมายของอริยสัจ 4 ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ขึ้นในวันวิสาขบูชา ซึ่งได้แก่

2.1 ทุกข์ คือ ปัญหาของการใช้ชีวิต หรือสภาวะที่ทนได้ยาก แต่ทุกข์อันเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ก็คือ การเกิด แก่ เจ็บและตาย เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญด้วยกันทั้งสิ้น ในขณะที่ทุกข์จรก็คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ความยากจนหรือการพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เป็นต้น

2.2 สมุทัย คือ สาเหตุของการเกิดทุกข์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาทุกอย่างล้วนมาจาก “กิเลสตัณหา” คือ ความอยากได้ อยากมี และอยากครอบครองในสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

2.3 นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือการเข้าสู่สภาวะที่จะทำให้ความทุกข์ทั้งหมดดับสิ้นลงไป ด้วยเพราะสามารถดับกิเลสตัณหาอุปาทานได้

2.4 มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ เป็นวิถีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา โดยมีด้วยกัน 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบและตั้งจิตมั่นชอบ

3.ความไม่ประมาท

เพราะความประมาทคือ ต้นเหตุบ่อนทำลายชีวิตและทรัพย์สิน นำมาซึ่งความทุกข์ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดทุกข์อย่างที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ในวันวิสาขบูชาเราจึงควรตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท โดยควรมีสติอยู่กับตัว ทั้งการคิด พูดและทำ ควรเป็นไปโดยสติทั้งสิ้น เพราะสติคือ การระลึกได้ ทำให้เราสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ดำเนินชีวิตอย่างประมาท เพราะฉะนั้น ในวันวิสาขบูชานี้พุทธศาสนิกชนทุกท่านจึงควรน้อมรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ด้วยสติอยู่ตลอดเวลา และควรดำเนินชีวิตภายใต้การรักษาศีลให้บริสุทธิ์พร้อมกัน

นี่ก็คือ ความหมาย ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา จะเห็นได้ว่าวันวิสาขบูชาไม่เพียงสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นวันสำคัญโลกอีกด้วย โดยเป็นวันที่มีการประกอบพิธีพุทธบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณและพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้เมตตาโปรดมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่ควรค่าแก่การรำลึกถึงเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับวิถีความเป็นมาของพระพุทธองค์ถึง 3 ประการ และเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทุกท่านควรนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักธรรมอันดีงามทั้งในวันวิสาขบูชาและวันอื่น ๆ ต่อไป

บทความแนะนำ…คำถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการะ อธิษฐาน วันวิสาขบูชา แบบสั้น ได้ความหมาย


เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

บทความที่เกี่ยวข้อง

อวยพร วันพระ บุญรักษา พระคุ้มครองวันธรรมสวนะ ละชั่ว ทำดี เริ่มตั้งแต่วันนี้ วันมาฆบูชา วันกตัญญูแห่งชาติวันมาฆบูชา วันกตัญญูแห่งชาติ คำถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการะ อธิษฐาน วันวิสาขบูชา แบบสั้น ได้ความหมายคำถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการะ อธิษฐาน วันวิสาขบูชา แบบสั้น ได้ความหมาย วันมาฆบูชาวันมาฆบูชา พระอรหันต์ 1,250 องค์ ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
ธรรมะคุ้มครอง วันสำคัญวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

แนะแนวเรื่อง

Previous post
Next post

สวัสดียามเช้า พระคุ้มครอง

  • คลิป VIDEO
  • คอมพิวเตอร์
  • คาถา
  • ดาวน์โหลด
  • ตำนาน
  • ธรรมะคุ้มครอง
  • นานาสาระ
  • นิทาน
  • นิสัยใจคอ
  • บ้านและสวน
  • ประเพณี
  • พระสายกรรมฐาน
  • พระเครื่อง
  • ภาษาวัด ภาษาไทย
  • ยาสมุนไพรโบราณ
  • วัดธรรมยุตในต่างประเทศ
  • ส่งคำอวยพร
  • สังฆทาน
  • สิ่งนำโชค
  • สุขภาพ
  • อาชีพและครอบครัว
  • เครื่องราง
  • เรียกจิต
  • เรื่องผี
  • แนะนำหนังสือ
  • แบ่งปัน
  • ไม้ประดับ ไม้มงคล

เว็บไซต์แห่งนี้ นำเสนอบทความเกี่ยวกับ วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง มนต์คาถา พิธีกรรมต่าง ๆ
ซึ่งทั้งหมด เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นความรู้ เป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา
ทางเราไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่า ความเชื่อเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่
ผู้เขียนบทความ ไม่อาจจะรับรองความเชื่อนั้นว่าจะได้ผลจริง หากท่านนำไปปฏิบัติตาม
หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว

บทความต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ แม้ทางเรานำเสนอโดยการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จึงมาเขียน ฉะนั้น ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความโดยพยัญชนะ