วันธรรมสวนะ
วันฟังธรรม แต่ชาวพุทธนิยมเรียกว่า วันพระหรือวันอุโบสถ เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนประชุมกันที่วัดเพื่อทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และฟังธรรม ในประเทศไทยกำหนดวันพระไว้เดือนหนึ่งมี 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำและวันแรม 15 ค่ำ (หรือวัน 14 ค่ำในบางเดือน )
ความสำคัญ
วันธรรมสวนะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันแห่งการทำความดี โดยพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้ชาวพุทธได้มีโอกาสทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และฟังธรรมเพื่อชำระจิตใจให้สะอาด สงบ และสว่างยิ่ง ๆ ขึ้น
การปฏิบัติตนในวันธรรมสวนะ
เมื่อถึงวันธรรมสวนะ พุทธศานิกชนจะทำบุญตักบาตรกันในตอนเช้า ควรปฏิบัติดังนี้
1. การเตรียมตัว
- การแต่งกายต้องดูสุภาพเหมาะสมกับกาลเทศะ เพราะเราต้องไปประกอบพิธีกรรมที่วัด ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรให้ความเคารพทางพระพุทธศาสนา
- นำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระรัตนตรัย
- นำอาหารคาว หวานไปถวายพระ
2. การประกอบพิธีกรรม
- เมื่อเข้าสู่บริเวณศาลาการเปรียญหรือสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรม ควรมีความสำรวม กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย นำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระรัตนตรัย
- เวลา ประมาณ 9.00 น. เมื่อพุทธบริษัทมากันพร้อมแล้ว ให้ผู้ใดผู้หนึ่งจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
- พระภิกษุสามเณรทำวัตรเช้า
- พระภิกษุสงฆ์ผู้แสดงธรรมขึ้นธรรมมาสน์ หัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาประกาศอุโบสถ ทุกคนคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน พระสงฆ์ให้ศีล 8 (ผู้ใดรักษาเพียงศีล 5 ก็สมาทานเพียง 5 ข้อ)
- เห็นว่าเป็นเวลาเหมาะสม พระสงฆ์ (พระธรรมกถึก) แสดงธรรม ระหว่างแสดงธรรมควรประนมมือรับฟังด้วยความตั้งใจจนจบ
- หัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกา นำกล่าวถวายทาน พระสงฆ์ให้พร กรวดน้ำแผ่เมตตา และกล่าวคำลาพระเมื่อเสร็จพิธี
- หากมีเวลาเหลือพอ ควรรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการไต่ถามสารทุกข์ และสนทนาธรรมต่อกัน
หลักธรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่องในวันธรรมสวนะ
ศีล 8 หรืออัฏฐศีล คือ การรักษาระเบียบทางกายวาจา,ข้อปฏิบัติทางกายวาจาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
1. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
2. อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากการเอาของที่เขามิได้ให้ด้วยการขโมย
3. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี เว้นจากกรรมที่ไม่ใช่พรหมจรรย์,เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือ การร่วมประเวณี
4. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
5. สุราเมรยมชฺชปมาทฎฺฐานา เวรมณี เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6. วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงไปแล้ว จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่
7. นจฺจคีต วาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺทน วิภูสนฏฺฐานา เวรมณี เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งเป็นเครื่องประดับตกแต่ง
8. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย
คำสมาทาน ให้เติม สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ต่อท้ายทุกข้อ แปลเพิ่มว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเว้นจาก…….หรือ ข้าพเจ้าขอถือข้อปฏิบัติในการฝึกตน เพื่อเว้นจาก…..
ศีล 8 นี้ สมาทานเป็นพิเศษในวันอุโบสถ เรียกว่าศีลอุโบสถ หรือ อุโบสถศีล