ปลาหน้าเขียง คืออะไร ?
“ปลาหน้าเขียง” คือปลาที่ถูกนำมาจากบ่อหรือจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน แล้วถูกลำเลียงมาที่ตลาดค้าปลาสดเพื่อถูกซื้อถูกฆ่าทำเป็นอาหาร หมายความว่าปลาทุกตัวที่ถูกลำเลียงมาที่ตลาดสดคือปลาที่จะต้องตายแน่ หากไม่มีคนซื้อไปปล่อย เปรียบเหมือนคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว ถูกนำไปสู่หลักประหารแล้ว รอแต่การลงอาญาเท่านั้น
การปล่อยปลาหน้าเขียง คืออะไร ?
การปล่อยปลาหน้าเขียง คือการที่บุคคลมีจิตเมตตาต่อสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลกและมีจิตกรุณาปรารถนาให้เขาได้พ้นจากความทุกข์อันเกิดจากมรณภัย จึงได้ซื้อปลาเหล่านั้นไปปล่อยในที่อันเหมาะสมหรืออย่างน้อยให้รอดพ้นจากความตายอันจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
ปลาที่ซื้อจากกรมประมง ศูนย์เพาะพันธุ์ปลา บ่อเลี้ยงปลา หรือจากถุงที่แม่ค้าพ่อค้าทำขายเพื่อให้คนซื้อปล่อย ไม่ใช่ปลาหน้าเขียง (แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรปล่อย หรือไม่ได้บุญนะ แค่บอกว่าไม่ใช่ปลาหน้าเขียง) เพราะปลาเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกตัดสินประหารชีวิต ไม่ใช่ปลาที่จะถูกส่งไปฆ่า (ในขณะนั้น)
ปล่อยปลาหน้าเขียงมีอานิสงส์อย่างไร ?
ในส่วนขออานิสงส์นั้น อันที่จริงผมไม่สามารถแจกแจงได้อย่างชัดเจน ตายตัว เพราะผมไม่ใช่ผู้รู้หรือผู้กำหนดเรื่องบุญบาปหรืออานิสงส์ว่ามากน้อยแค่ไหน (พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นผู้กำหนดหรือตัดสินบุญบาปของเรา) แต่สิ่งที่เราเชื่อคือการช่วยชีวิตของสัตว์ผู้ยังต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปนั้นได้บุญมากอานิสงส์มาก ด้วยเหตุนั้น การปล่อยปลาหน้าเขียงจึงเชื่อว่ามีอานิสงส์มาก เป็นต้นว่า
- ทำให้เป็นผู้มีอายุยืนยาว
- อยู่โดยปราศจากเวรภัย ไม่มีความหวาดระแวง
- เป็นผู้มีผิวพรรณดี มีโรคน้อย
- เป็นที่รักของคนทั้งหลาย ไปไหนก็ได้รับความช่วยเหลือ
อานิสงส์ของการปล่อยปลาหน้าเขียงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้ผมจะใช้คำว่าเชื่อว่า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้หมดทุกข้อ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรกระทำมากกว่านั้นก็คือ การไม่จับสัตว์มาทรมาน การไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่ค้าขายสัตว์เป็นทุกชนิดเพื่อนำไปฆ่าเป็นอาหาร (ไม่ได้หมายความว่าให้ฆ่าก่อนมาขายนะ เพราะได้กล่าวไว้แล้วว่าไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิด)
ความหมายของการปล่อยปลาแต่ละชนิด
ความหมายของการปล่อยปลาแต่ละชนิดนี้เป็นความเชื่อที่ปลีกย่อยลงมาอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ เรื่องของบุญบาป หรือการให้ผลของกรรมนั้น เป็นไปได้ เช่น เรามีความเชื่อว่าปล่อยกบทำให้ลดเจ้ากรรมนายเวรลง ก็การปล่อยกบนั้นเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เมื่อทำบุญแล้วเราก็อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวรให้เขาได้อนุโมทนาด้วย หากเขาอนุโมทนานั้นหมายความว่าเขาให้อภัย ไม่มีเวรต่อกัน ก็ย่อมลดความเป็นเจ้ากรรมนายเวรต่อกัน (เจ้ากรรมนายเวร คือคนที่มีเวรต่อกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องในอดีตชาติ)
ความเชื่อในการปล่อยปลาแต่ละชนิดนั้น ดังนี้
ปลาไหล หมายถึง ทำให้การเงิน การงานการเรียนจะราบรื่น ไม่ติดขัด
ปลาหมอ หมายถึงเพื่อสุขภาพ (หมอดูแลสุขภาพ)
ปลาบู่ หมายถึงทดแทนผู้มีพระคุณ (น่าจะได้คติมาจากเรื่องปลาบู่ทอง)
ปลาดุก หมายถึงศัตรูคู่แข่งแพ้พ่าย (ปลาดุกมีเงี่ยงเป็นอาวุธ)
ปลานิล หมายถึงทรัพย์สินเพิ่มพูน (ชื่อสอดคล้องกับเพชรนิลจินดา)
ปลาช่อน หมายถึงช้อนเงินทองสิ่งที่ซ่อนเร้นจะได้พบ (ชื่อคล้ายกับคำว่าช้อน และ ซ่อน)
ปลาทับทิม หมายถึงทำให้ครอบครัวเกิดความรักสามัคคีกัน (นึกถึงลูกทับทิมที่มีหลาย ๆ เม็ดรวมกันอยู่)
ปลาสวาย หมายถึงเงินทองคล่องตัว (ปลาสวายว่ายน้ำเก่ง คล่องแคล่ว)
ปลาขาว หมายถึง ปลานำโชค (สีขาว สีมงคล สีนำโชค)
ปลาจารเม็ด หมายถึง จะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย (ตามชื่อ)
ปลาใน หมายถึง ได้เป็นเจ้าคนนายคน (น่าจะคำว่าใน เสียงคล้าย นาย หรือนายคน)
ปลาดุกเผือก หมายถึงปลามงคล (เป็นปลามงคล เป็นพญาปลา)
ปลาดำราหู หมายถึงสะเดาะเคราะห์ (นึกถึงราหูที่ชอบสีดำ)
ปล่อยกบ หมายถึงขออุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวร (น่าจะสื่อความหมายจากรูปร่างหรือกิริยาท่าทางของกบ)
หอยขม หมายถึง ทิ้งความขมขื่นจะร่มเย็นเป็นสุข (ตามชื่อ ขม พ้องกับขมขื่น)
หอยโข่ง หมายถึง หนทางโล่งเป็นผู้นำข้าทาสบริวารมาก (หอยโข่ง ปากกว้าง น่าจะสื่อความหมายว่าทำอะไรก็ราบรื่น สำเร็จได้ง่าย)
ตะพาบ หมายถึง ภัยคุกคามต่าง ๆ จะราบ อัมพาตจะดีขึ้นอายุมั่นขวัญยืน (อาศัยชื่อ)
เต่า หมายความความมีอายุยืนยาว (เต่าเป็นสัตว์มีอายุยืน)
หาปลาหน้าเขียงได้ที่ไหน
ปลาหน้าเขียง คือปลาที่จะฆ่าเพื่อใช้เป็นอาหาร ฉะนั้น คุณสามารถหาปลาหน้าเขียงได้ที่ตลาดสด เพราะปลาทุกตัวหากไม่มีคนซื้อไปปล่อย ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อถูกนำไปประกอบอาหาร บางคนบอกว่าได้ปลาตัวที่แม่ค้าหรือคนทำกับข้าวกำลังหยิบขึ้นมาบนเขียงเพื่อเฉือด แต่เราเห็นเข้าแล้วซื้อมาปล่อยยิ่งดี (หรือมีความรู้สึกว่าดีที่เราได้ช่วยชีวิตไว้) หรือมิเช่นนั้นก็ไปดักซื้อปลาที่เขาจับตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำไปประกอบอาหาร เราเห็นเข้าแล้วช่วยชีวิตไว้ด้วยการซื้อไปปล่อยเสีย แบบนี้ถือว่าได้ต่ออายุให้แก่ปลานั้น ๆ
ปล่อยสัตว์ ปล่อยปลาตามกำลังวัน
การปล่อยสัตว์ ปล่อยปลา คือการช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นภัย พ้นจากอันตรายหรือความตาย ปล่อยได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี (หากคุณไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การขนย้ายสัตว์และสถานที่ปล่อยสัตว์) เพราะสัตว์ทุกตัวย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น ส่วนการปล่อยสัตว์ปลาตามกำลังวันนั้น นักโหราศาสตร์ หมอดูหมอเดาทั้งหลายหาเรื่องพูดเรื่องเขียนให้ดูขลังขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งเขากำหนดการปล่อยปลาปล่อยสัตว์ตามกำลังวัน ดังนี้
- วันอาทิตย์ ปล่อย 6-9 ตัว
- วันจันทร์ ปล่อย 15 ตัว
- วันอังคาร ปล่อย 8 ตัว
- วันพุธ (กลางวัน) ปล่อย 17 ตัว
- วันพุธ (กลางคืน) ปล่อย 12 ตัว
- วันพฤหัสบดี ปล่อย 12 ตัว
- วันศุกร์ ปล่อย 21 ตัว
- วันเสาร์ ปล่อย 10 ตัว
ความเชื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับการปล่อยปลา
- ปล่อยปลาชนิดใด ห้ามกินปลาชนิดนั้น
ไม่เกี่ยวกัน ต่างกรรมต่างวาระ ต่างเจตนากัน การกินไม่ได้เป็นบาป แต่การฆ่า การซื้อมาฆ่า การสั่งให้คนอื่นฆ่าต่างหากที่เป็นบาป และเป็นบาปกับปลาและสุตว์ทุกชนิดด้วย - ซื้อปลาหน้าเขียงมาปล่อยในแหล่งน้ำที่ปลาอื่นเป็นศัตรูเป็นบาป บางคนยกตัวอย่าง เช่น ถ้าหากมีคนจับคุณไปปล่อยไว้ในป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ดุร้าย คุณจะรู้สึกอย่างไร? ตอบ…ถ้าผมกำลังถูกประหารชีวิต แล้วมีคนเสนอให้ผมไปอยู่ในป่าที่มีเสือ ผมเลือกเสี่ยงไปอยู่ในป่าเสือ เพราะเราอาจจะหลบหลีกหรือต่อสู้ได้ อาจจะมีชีวิตรอดออกมาได้
ปลาหน้าเขียงคือปลาที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว รอแต่การลงมีดเท่านั้น ขณะที่เราเห็นเราเกิดความสังเวชว่าสัตว์ทั้งหลายก็รักตัวกลัวตายเช่นกัน เกิดเป็นความกรุณาปรารถนาให้เขาได้พ้นจากความทุกข์นั้นจึงได้ซื้อไป คือมีจิตคิดจะให้เขาได้พ้นจากจุดนั้นเสียก่อน ทำอย่างไรจะไม่ให้มันถูกฆ่าตาย จึงได้ซื้อไปปล่อย นี่ก็เกิดบุญขึ้นแล้ว เมื่อซื้อไปปล่อยก็ต้องหาแหล่งปล่อยที่เหมาะสมเพื่อให้เขาจะได้มีความสุขต่อไป นั่นคือความเมตตาปรารถนาให้เขามีความสุข - การปล่อยปลาต้องมีพิธีกรรมอะไรไหม ?
ไม่ต้องมีพิธีกรรมใด ๆ เมื่อจิตเป็นกุศลอันประกอบด้วยเมตตากรุณาเกิดขึ้นเมื่อใด สามารถทำความดีซื้อปลา ไถ่ชีวิตปลานำมาปล่อยได้ทันที โดยไม่ต้องเลือกวันเวลา - จำเป็นต้องเลือกชนิดปลาไหม
สัตว์ทุกชนิดต่างก็รักตัวกลัวตายทั้งนั้น ทุกชีวิตมีค่าเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของปลาชื่อหมอ มีค่ามากกว่าชีวิตของปลาชื่อดุก ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเลือกชนิดปลา - ปล่อยปลากี่ตัวดี
สัตว์ทุกตัวย่อมรักตัวกลัวตาย อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ฉะนั้นปล่อยกี่ตัวก็ดีทั้งนั้น ยิ่งปล่อยมากยิ่งดี เหมาทั้งตลาดนำไปปล่อยยิ่งดีต่อปลา (พูดถึงการปล่อยปลานะยิ่งมากยิ่งดี ไม่ได้พูดถึงเรื่องเสียเงินซื้อ คนละประเด็นกัน)
เราควรปล่อยปลาหน้าเขียงในโอกาสใด
เราสามารถปล่อยปลาหน้าเขียงได้ในทุกโอกาส โดยเฉพาะในขณะที่คุณเดินตลาดสดเห็นปลาหรือสัตว์ที่ถูกจับมาเพื่อขายเป็นอาหารแล้วจิตเมตตาเกิดขึ้นกับคุณ คุณมีความปรารถนาให้พ้นจากความทุกข์ยากนั้น คุณก็สามารถซื้อปลาหน้าเขียงหรือปลาที่กำลังจะเดินทางไปสู่ความตายนั้นเพื่อให้ชีวิตใหม่แก่เขาโดยการนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่เหมาะสม
คนไทยเชื่อมาแต่โบราณว่า เมื่อเรามีความรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นเรามีเคราะห์กรรม ทำอะไรก็ไม่ขึ้น สุขภาพไม่ค่อยดี การงานไม่เจริญรุ่งเรือง เจ็บป่วยได้ง่าย ให้ทำการทำบุญโดยการปล่อยนก ปล่อยสัตว์ ปล่อยปลาหน้าเขียง จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เมื่อรู้สึกดีมีจิตใจที่สดชื่น มีกำลังใจที่ดี ก็จะทำให้เราผ่านพ้นสิ่งเลวได้
นอกจากนั้นเรายังสามารถทำบุญ ปล่อยปลาหน้าเขียง เพื่อเจาะจงให้คนที่ป่วยไข้ที่ไม่มีโอกาสได้มาปล่อยปลาหน้าเขียงด้วยตนเองให้เขาได้รับทราบและอนุโมทนาบุญนั้นด้วย กล่าวง่าย ๆ คือปล่อยปลาแทนคนป่วย แล้วให้คนป่วยที่ไม่สะดวกปล่อยปลาหน้าเขียงด้วยตนเองให้รับทราบและอนุโมทนาบุญนั้น เพื่อให้หายจากเจ็บป่วย มีสุขภาพกายใจที่มี มีอายุยืนยาวต่อไป
แม้ญาติมิตรที่ล่วงลับตายไปแล้ว เราก็สามารถทำบุญด้วยการปล่อยปลาหน้าเขียงเพื่ออุทิศบุญนั้นได้เช่นกัน ส่งเสริมให้เขาได้ภภภูมิที่ดีมีสุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาว
เราไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นว่าต้องปล่อยปลาหน้าเขียง 3 ครั้ง 5 7 หรือ 9 ครั้งในแต่ละปีหรือในชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปสั่งให้คนนั้นคนนี้หรือแม่ค้าเตรียมปลาให้เรา ถ้าคิดมีจิตจะช่วยเหลือสัตว์ก็เดินไปซื้อปลาหน้าเขียงที่ตลาดปล่อยทันที ถ้าคิดว่าจะปล่อยปลาหน้าเขียงเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือทำบุญวันเกิดก็เดินไปซื้อปลาที่หน้าเขียงในตลาดปล่อยได้ทันที
ปล่อยปลาหน้าเขียงได้บุญจริง ไม่เป็นการเปลี่ยนกรรมของสัตว์หรือ
ถ้าใครคิดอย่างนั้น คุณก็คิดแคบเกินไป เราหรือใคร ๆ ไม่รู้ชะตากรรมของใครหรอก ฉะนั้น ถ้ามีจิตที่ประกอบด้วยเมตตาและกรุณา มีทรัพย์ประกอบกับจิตที่จะละความตระหนี่ในทรัพย์นั้น เราก็สามารถทำบุญสละทรัพย์เพื่อซื้อปลาปล่อยปลาหน้าเขียงได้เลย
พระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จไปโปรดองคุลิมาลเพื่อไม่ให้ทำมาตุฆาต หมายความว่า ถ้าพระองค์ไม่เสด็จไม่องคุลิมาลจะต้องฆ่าแม่ตนเองเสีย ถ้าพระองค์เพิกเฉย ไม่เสด็จไป องคุลิมาลก็ต้องฆ่ามารดาและได้รับผลกรรมอันหนัก การเสด็จไปของพระองค์จึงเป็นการเสด็จไปดี ส่งผลดีต่อสรรพสัตว์ การปล่อยปลาหน้าเขียงก็เช่นกัน เป็นการทำดี ส่งผลดีทั้งคนขายปลาและปลาเอง แม้จะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางกรรมก็เป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่า
ยกตัวอย่าง หากเราเห็นคนที่เป็นญาติหรือสัตว์กำลังจมน้ำ เรามีความสามารถที่จะช่วยได้ เราจะไม่ช่วยหรือ หรือว่าเราจะยืนดูโดยคิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ ถ้าช่วยก็จะเป็นการเข้าไปเบี่ยงเบนกรรม เปลี่ยนเส้นทางกรรมอย่างนั้นหรือ
การปล่อยปลาหน้าเขียงก็เช่น แน่นอนว่า เราไม่สามารถช่วยปลาหน้าเขียงได้ทุกตลาด ไม่สามารถช่วยปลาหน้าเขียงได้ทุกตัว แต่เราช่วยตามจิตที่เป็นกุศลของเรา ตามโอกาสที่เราจะสามารถช่วยได้