พระคันธกุฎี หรือ พระมูลคันธกุฎี (อังกฤษ: Mulagandhakuti; แปลว่า กุฎีที่มีกลิ่นหอม) เป็นชื่อสำหรับเรียกสถานที่ประทับของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ เรียกเต็มว่า “พระมูลคันธกุฎี” ในพระพุทธประวัติ กล่าวว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่ง เป็นต้นว่าบนเขาคิชฌกูฏหรือพระวิหารเชตวันจะมีผู้นำดอกไม้และของหอมนานาชนิดมาบูชาพระพุทธเจ้ามิได้ขาด โดยประดับไว้ภายในที่ประทับบ้าง วางเรียงรายอยู่โดยรอบบ้าง โดยมุ่งบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกลิ่นหอมจึงปรากฏว่าหลังวัดที่ประทับจะมีดอกไม้ที่แห้งแล้วถูกนำไปทิ้งไว้เป็นกองใหญ่ด้วยมีจำนวนมาก (ถ้าทุกวันนี้คงนำมาทำเป็นมวลสารพระเครื่อง หรือ เครื่องรางของขลังแล้ว)
บางคนอาจจะมีคำถาม (หรือผมเองนี่แหล่ะที่ตั้งคำถาม) พระพุทธเจ้าจะต้องการดอกไม้ของหอมหรือ ? พระองค์จะต้องการดอกไม้ของหอมไปเพื่ออะไร ? พระพุทธเจ้าให้นำดอกไม้ของหอมไปบูชาหรือ ? ในเมื่อพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วจะนำดอกไม้ไปบูชาเพื่ออะไร ? พระพุทธเจ้าสรรเสริญการปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชา ? แน่นอนว่ามีคำถามมากมาย ผมขอตอบแบบรวบยอดตามความเข้าใจของผมเองนะครับ ไม่รับประกันความผิดถูกแต่อย่างไร
พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป ที่ประทับของพระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกร้องดอกไม้ของหอมแต่อย่างใด แต่การที่เรานำดอกไม้ของหอมไปบูชานั้น ด้วยเหตุแห่งความเลื่อมใสของเรา หรืออุบายวิธีอย่างหนึ่งที่ทำให้จิตเราแนบแน่นกับพระรัตนตรัย เป็นการแสดงออกถึงการถึงพระรัตนตรัยตามแบบที่เราสามารถปฏิบัติได้ในเบื้องต้น เป็นเครื่องสักการะบูชาแด่พระพุทธเจ้า แต่ที่แน่ ๆ เห็นได้ชัดเจนคือเป็นอุบายให้จิตใจผ่องใสในระดับที่ควรเป็น มองดูพระประธานหรือโต๊ะหมู่บูชาที่ไรเห็นดอกไม้สวยงามเป็นระเบียบจิตย่อมผ่องใสเพิ่มความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ยิ่งได้ถวายดอกไม้ของหอมที่พระคันธกุฎียิ่งฝังลึกในจิตใจนานยิ่งขึ้น แม้ถึงกาลมรณานึกขึ้นมาย่อมมีจิตเลื่อมใสตายไปในขณะนั้นย่อมมีสุคติเป็นที่ตั้ง
“พระพุทธเจ้าสรรเสริญการปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชาไม่ใช่หรือ ?” หนังสือมังคลัตถทีปนี เป็นปกรณ์วิเสสภาษาบาลี ที่พระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่รจนาขึ้นในสมัยอาณาจักรล้านนา เพื่ออธิบายความในมงคลสูตร ได้กล่าวในลักษณะที่ว่า คฤหัสถ์บูชาด้วยอามิส ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม…………..เพราะเหตุว่า คฤหัสถ์ ให้ทานทำการบูชาด้วยของหอม และด้วยมาลาดอกไม้ ชื่อว่าทำตามโอวาทที่พระศาสดาประทานไว้แก่ตนและผู้ทำตามโอวาทนั้นชื่อว่าบูชาด้วยการปฏิบัติตามโอวาทนั้น อนึ่ง สำหรับอุบาสกอุบาสิกานั้น พระศาสดาเริ่มแสดงธรรมหรือให้โอวาทคำสั่งสอนที่ ทาน ศีล ภาวนา การถวายดอกไม้ของหอมสำหรับฆราวาสก็คือการให้ทาน การให้ทานก็คือการปฏิบัติตามคำสอน การให้ทานของอุบาสกอุบาสิกาจึงเป็นปฏิบัติบูชา ส่วนบรรพชิตหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากบรรพชิตบูชาด้วยดอกไม้ของหอมเป็นได้แต่อามิสบูชา เหตุว่าพระศาสดา ทรงสอนบรรพชิตเริ่มต้นที่ ศีล สมาธิ ปัญญา
สำหรับภาพ พระคันธกุฎี ที่ผมนำมาให้ชมนี้ เป็นภาพพระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ (Gridhrakuta Hill) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้กรุงราชคฤห์ (Rajgir) แคว้นมคธ ปัจจุบันคือ จังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นภาพที่ผมนำมาจากเพจ เมืองราชคฤห์