หากพูดถึงเครื่องรางประเภทเสือเขี้ยวแกะแล้วหลายท่านคงจะนึกถึง เสือเขี้ยวแกะหลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย, วัดคลองด่าน) ตำบล คลองด่าน อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ แต่ยังมีเสือเขี้ยวแกะพระเกจิอีกท่านหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน นั่นก็คือ เสือเขี้ยวแกะ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี (วัดนาคราช) อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
หลวงพ่อนก ธมฺมโชติ วัดสังกะสี ปัจจุบันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดนาคราช” ตั้งอยู่ ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ
หลวงพ่อนกท่านเกิดที่ตำบลบางกระเจ้า อำเภอนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2392 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ปีระกา เกิดในตระกูลชาวนา โดยมีบิดาชื่อว่านวล มารดาชื่อว่านางเคลือบ (ในสมัยนั้นยังไม่ใช้นามสกุล)
บิดามารดาได้นำเด็กชายนกไปฝากพระอธิการ โตวัดบางบ่อ (วัดใกล้บ้านเกิดมารดา)ให้เป็นศิษย์วัดเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือไทยหนังสือขอมตามยุคสมัยนั้น เมื่ออายุ ครบ 15 ปี บิดามารดาจึงได้นำเด็กชายนกไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกองแก้ว (วัดบ้านเกิดของบิดา) ตำบลบางยอ อำเภอนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง) จังหวัดสมุทรปราการ
ท่านบวชเป็นสามเณรครบ 5 ปี อายุครบ 20 ปี เต็มจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบางเหี้ย (ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส) ตำบลคลองด่าน อำเภอบางเหี้ย (ปัจจุบันชื่อบางบ่อ) จังหวัดสมุทรปราการ มีครูพิพัฒน์นิโรธกิจ
(หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทอง เป็นกรรมวาจาอาจารย์อาจารย์เรือน (วัดบางเหี้ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า “ธมฺมโชติ”
เมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วจึงได้จำพรรษาที่วัดบางเหี้ย ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมกับหลวงพ่อปาน พระอาจารย์ทอง พระอาจารย์เรือน ท่านเป็นผู้ฉลาด เรียนรู้เร็ว เชื่อฟังคำสอนของครูอาจารย์เป็นอย่างดีจนได้รับคำชมเชยจากหลวงพ่อปานอยู่เสมอ
หลวงพ่อปานท่านจะออกธุดงค์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะพระสงฆ์ในวัดเองและต่างวัดมาร่วมธุดงค์กับท่าน หลวงพ่อนกเองท่านก็ได้ร่วมธุดงค์กับหลวงพ่อปานด้วยเช่นกัน และเหตุให้ท่านได้พบกับพระเกจิอื่น ๆ ที่ทรงวิทยาคมเป็นต้นว่า หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ หลวงพ่อนกก็ได้ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากันกับพระเกจิต่าง ๆ เหล่านั้น อยู่เสมอ
หลวงพ่อนกเป็นพระสงฆ์ที่มีจริยวัตรงดงาม มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มขลัง ในวิทยาคม บ่อยครั้งที่มีชาวบ้านมาขอน้ำมนต์จากท่าน ท่านก็เมตตาทำให้ น้ำมนต์ของท่านมีพุทธคุณเด่นทางด้านค้าขายดี แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม ขับไล่ภูตผีทั้งหลาย
ต่อมาท่านขุนสำแดงเดช และภรรยาชื่อนุ่ม มีจิตศรัทธาที่จะสร้างวัดจึงได้นิมนต์หลวงพ่อนกมาเป็นเจ้าอาวาส ด้วยความเคารพในพระอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านจึงกราบเรียนปรึกษาต่อหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานท่านพิจารณาเห็นว่าหลวงพ่อนกเป็นพระภิกษุสมบูรณ์แบบ สามารถดูแลพระภิกษุและพัฒนาวัดให้มีเจริญรุ่งเรืองได้อย่างแน่นอนจึงได้อนุญาตให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส วัดสังกะสี เพื่อเป็นผู้นำพาในการสร้างวัดให้มีความเจริญรุ่งเรือง และช่วยอบรมสั่งสอนชาวบ้านต่อไป หลวงพ่อนกท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2475 สิริอายุได้ 83 ปี พรรษาที่ 63 ศพของท่าน พระอาจารย์มี่ วัดคลองสวน ได้นำมาประชุมเพลิงที่วัดคลองสวน ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นคณะศิษย์ยานุศิษย์จึงได้ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง ที่วัดสังกะสีเพื่อบรรจุอัฐิกับวัตถุมงคลของหลวงพ่อนกไว้ มีลูกอมจำนวน 2 ไห จำนวน 1,424 เม็ด เหรียญหยดน้ำจำนวน 10 เหรียญ
วัตถุมงคลที่หลวงพ่อนก สร้างนั้นมี เขี้ยวเสือ พระปิดตา เหรียญหยดน้ำ ปลัดขิก ลูกอม ตะกรุดโทน แต่ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากได้แก่เขี้ยวแกะเสือ เขี้ยวแกะเสือของท่านโดยมากจะเป็นเขี้ยวหมี (เขี้ยวเสือก็มี) แกะแบบเต็มเขี้ยว จารอักขระต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เต็มเขี้ยว ซึ่งเขี้ยวแกะเสือของท่านนี้ได้ทั้งศิลป์และพุทธคุณ ศิลป์เขี้ยวแกะเสือของหลวงพ่อนกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความโดดเด่นสวยงาม มองดูสะดุดตาตรึงใจใครเห็นก็ชอบ แม้ผู้ที่ไม่เคนสนใจเครื่องรางเขี้ยวเสือมาก่อนก็เป็นอันต้องหลงใหลในความงดงามของเสือหลวงพ่อนก ในส่วนของพุทธคุณนั้น เสือหลวงพ่อนกโดดเด่นด้านมหาอำนาจ แคล้วคลาดปลอดภัย ศรัตรูเกรงขาม กันภูติผีปีศาจ นอกจากนั้นยังเป็นมหานิยมอีกด้วย