เมื่อกล่าวถึงพระเนื้อดิน เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักกันอย่างแน่นอน ซึ่งพระเนื้อดินถือว่าเป็นพระที่มีอายุมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะดินเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งและสิ่งมีชีวิตหลายอย่าง นอกจากนั้นตามความเชื่อทางศาสนา ดินยังมีเทพีที่ทรงอิทธิฤทธิ์อย่างพระแม่ธรณีคอยปกป้องคุ้มครอง ดังนั้น ดินจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูง จึงเหมาะสำหรับนำมาทำเป็นพระไว้เพื่อเคารพสักการะบูชานั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของพระเนื้อดิน
การสร้างพระเนื้อดิน ไม่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยใด ทว่าได้มีการสันนิษฐานว่าการสร้างพระเนื้อดินนั้นเป็นการสร้างพระเครื่องในรุ่นแรกหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์และรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งที่แรกที่ทำการสร้างพระเนื้อดินคือช่วงตอนต้นของพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย
สำหรับการสร้างพระเครื่องในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าเข้ามาในสมัยทวาราวดี โดยเข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามความเชื่อที่ว่าพระเครื่องเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งรูปแบบของพระเครื่องในยุคแรก ๆ จะเป็นการสร้างจากดินที่เป็นวัสดุหาง่ายเป็นส่วนใหญ่ สำหรับรูปแบบของพระเครื่องจะมีลักษณะและรูปแบบแตกต่างกันไปตามความเชื่อและศิลปะของแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นแล้วยังมีความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ทำการสร้างพระเครื่องเนื้อดินแล้ว จะได้บรรลุเป็นพระโพธิ์สัตว์อีกด้วย
ซึ่งการสร้างพระเครื่องในเมืองไทยมีการเฟื่องฟูมากที่สุดในสมัยอยุธยา โดยคนในยุคนั้นเชื่อว่าพระเครื่องเมื่อนำมาติดตัวจะสร้างความเป็นสิริมงคลจากความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุที่นำมาสร้าง และการปลุกเสกของครูบาอาจารย์ อีกทั้งพระเครื่องยังช่วยดลบันดาลให้ชีวิตของผู้ที่เคารพบูชามีความเจริญ แคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในยุคนั้นนอกจากพระเนื้อดินที่ได้รับความนิยมในการสร้างอย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีการสร้างเครื่องรางแบบเก่า เช่น ผ้ายันต์ที่ใช้ผูกแขนหรือคล้องคอที่เรียกว่า ผ้าเจียด หรือตะกรุด เป็นต้น
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้มีรูปแบบความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับอิทธิพลความเชื่อจากชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขาย โดยมิได้มองว่าพระเครื่องเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องรางของขลังที่ช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จในด้าน ๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพุทธคุณที่ทำการปลุกเสกด้วยนั่นเอง
กรรมวิธีการสร้างพระเนื้อดิน
พระเนื้อดินมีกรรมวิธีการสร้างที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ซึ่งคุณค่าทางจิตใจ อันเนื่องจากความมานะและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสร้างพระ ถึงแม้จะใช้ดินในการสร้างที่สามารถหาได้ง่าย เพราะใช่ว่าดินทุกอย่างจะสามารถนำมาสร้างพระเนื้อดินได้ แต่ว่าดินที่จะนำมาสร้างพระเนื้อดินต้องได้รับการคัดเลือกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และผู้สร้างต้องทำพิธีบวงสรวงเพื่อขอบารมีของแม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตหรือทำหน้าที่ปกป้องรักษาอยู่ ณ ที่แห่งนั้นอย่างถูกต้องตามพิธีกรรมและความเชื่อเสียก่อน เพื่อให้ดินที่มีบารมีอภินิหาร และเมื่อนำมาสร้างพระเครื่องแล้ว พระเนื้อดินที่ได้จะมีความศักดิ์สิทธิ์และเต็มไปด้วยพุทธคุณอย่างเต็มเปี่ยม
ดินที่นิยมนำมาสร้างพระมีกี่แบบ
สำหรับดินที่นิยมนำมาใช้ในการสร้างพระเนื้อดินมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
1.ดินเนื้อละเอียด
ดินเนื้อละเอียดที่นำมาสร้างพระเนื้อดินที่นิยมใช้จะเป็นดินที่มีความละเอียดสูงมาก โดยแหล่งที่มาของดินละเอียดมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบด้วยกัน คือ ดินละเอียดตามธรรมชาติที่อยู่ในชั้นดินลึก ๆ ซึ่งดินชนิดนี้จะต้องขุดลงไปค่อนข้างลึกถึงจะได้ดินที่มีเนื้อละเอียดตามธรรมชาติ โดยดินเนื้อละเอียดตามธรรมชาตินิยมนำมาใช้ในการสร้างพระเนื้อดินมากที่สุด กับดินกรองหรือดินละเอียดที่เกิดจากการนำดินหยาบมากรองด้วยตัวกรองที่มีความละเอียดสูง ทำให้ได้เนื้อดินที่มีความละเอียด ซึ่งดินกรองนี้ก็ไม่นิยมนำมาสร้างพระเนื้อดินเท่าใดนัก เพราะเนื้อดินที่ได้เมื่อนำมาสร้างพระจะได้พระที่มีเนื้อดินที่ไม่เสมอ มีรอยระแหงหรือมีลักษณะเป็นผิวคล้ายกับการเคลือบผิวนั่นเอง
2.เนื้อดินหยาบ
ดินเนื้อหยาบเป็นดินที่อยู่บริเวณพื้นผิวดินหรือดินที่เกิดการย่อยสลายของหิน วัชพืชที่ตกลงบนพื้นดินทำให้เนื้อดินมีความหยาบกระด้าง เมื่อนำมาสร้างพระจะทำให้เนื้อพระมีช่องว่างทำให้น้ำซึมผ่านได้มาก แต่ก็เป็นการสร้างพระเนื้อดินที่สะดวก เพราะไม่ต้องขุดดินลงไปก็สามารถนำดินมาสร้างพระได้แล้ว
การสร้างพระเนื้อดินนอกจากจะใช้ดินเป็นวัสดุหลักในการสร้างเนื้อพระแล้ว บางครั้งยังมีการนำของศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเป็นส่วนผสมกับดินด้วย เช่น เนื้อว่าน เส้นผมของครูบาอาจารย์ และกระดูก เป็นต้น
วิธีการทำให้พระเนื้อดินแห้ง ทำได้อย่างไร?
เมื่อเตรียมดินและส่วนผสมสำหรับสร้างพระเนื้อดินเสร็จแล้ว ผู้สร้างจะทำการกดดินลงไปในพิมพ์พระ โดยจะทำการอัดลงไปให้แน่นและนำออกมาทำให้แห้ง ซึ่งการทำให้พระเนื้อดินแห้งมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้
1.การเผา
การเผาพระเนื้อดินก็เหมือนกับการเผาเครื่องปั้นดินเผาทั่วไป โดยใช้ความร้อนในการไล่ความชื้นที่อยู่ในดินให้ออกมาจนหมด ส่งผลให้ได้พระเนื้อดินที่มีความคงตัวและมีความแข็งแรงสูง นอกจากนี้การเผาพระเนื้อดินยังเป็นเอกลักษณ์ให้กับพระเนื้อดินแต่ละที่อีกด้วย เนื่องจากความร้อนที่ทำการเผาพระที่อุณหภูมิต่างกันจะส่งผลให้สีของเนื้อพระที่ออกมาต่างกันนั่นเอง
2.การผึ่ง
การผึ่งพระคือ การสร้างพระเนื้อดินที่ทำให้เนื้อดินแห้งด้วยการตากแดดหรือผึ่งแดดเพื่อไล่ความชื้นออกจากเนื้อดิน ซึ่งเราจะเรียกพระเนื้อดินที่สร้างด้วยการผึ่งแดดหรือตากแดดว่า “พระดินดิบ” โดยพระดินดิบเป็นพระเนื้อดินที่มีความแข็งแรงและการคงตัวที่น้อยกว่าพระเนื้อดินที่ผ่านการเผา และถ้าพระดินดิบแช่หรือสัมผัสกับน้ำเป็นเวลานาน เนื้อดินที่นำมาสร้างพระจะสลายไปกับน้ำได้ ดังนั้นพระดินดิบจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษถึงจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานได้
พระเนื้อดินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
พระเนื้อดินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน มีดังนี้
พระกรุบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระเนื้อดิน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีอายุการสร้าง 400 กว่าปี เป็นพระที่มีชื่อเสียงของจังหวัด มีพุทธคุณโด่นแคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม
2.พระรอด
เป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยทวาราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย) ซึ่งถือเป็นพระเนื้อดินที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด โดยรุ่นยอดนิยม คือ พระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน
เป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยรุ่นยอดนิยม คือ พระกำแพงซุ้มกอ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งพระรุ่นนี้ในปัจจุบันเป็นพระที่พบได้น้อยมาก
เป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา รุ่นยอดนิยม คือ พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก
เป็นพระเนื้อดินที่สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง รุ่นยอดนิยม คือ พระผงสุพรรณ วัดศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
พุทธคุณของพระเนื้อดิน
พระพุทธคุณของพระเนื้อดินมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้สร้างที่สร้างพระเครื่องรุ่นนั้นออกมา ทว่าพระพุทธคุณของพระเนื้อดินส่วนมากจะเป็นของเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี ฟันแทง ยิงไม่เข้า โชคลาภค้าขายรุ่งเรืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากดินมีพระแม่ธรณีคอยปกปักษ์รักษา ดังนั้นเมื่อนำดินมาสร้างเป็นพระเครื่องย่อมมีความหมายของความอุดมสมบูรณ์ และการมีชีวิตที่ผาสุขนั่นเอง
ข้อควรระวังหรือข้อปฏิบัติ
พระเนื้อดินเป็นพระที่สร้างจากดิน ซึ่งแตกหักได้ง่าย ดังนั้นจึงควรระวังห้ามมิให้พระตกจากที่สูงหรือได้รับแรงกระแทกที่รุนแรง เพราะจะทำให้องค์พระแตกหักหรือเสียหายได้ และไม่ควรสัมผัสกับความชื้นหรือน้ำเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เนื้อพระเกิดการสึกหรอได้ โดยเฉพาะพระดินดิบที่ไม่ได้ผ่านความร้อนในการทำให้แห้ง หากสัมผัสกับน้ำหรือความชื้นเป็นระยะเวลานาน เนื้อดินจะเกิดสลายกลายเป็นดินเหลว ทำให้เสียรูปพระได้ พระเนื้อดินถือเป็นพระที่มีความเก่าแก่ที่สุดและมีคุณค่าอยู่หลายรุ่นด้วยกัน โดยเฉพาะพระกรุเก่าที่ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อดิน โดยล้วนแล้วแต่มีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนาและผู้สร้างทุกคนด้วยกันทั้งสิ้น
บทความนี้ นักเขียนได้เรียบเรียงข้อมูลมาจากที่ต่าง ๆ โดยการค้นหาจาก google ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือ copy นอกจากท่านจะเรียบเรียงใหม่ และไม่อนุญาตให้นำไปอ่านเผยแพร่บน youtube.com หรือเว็บไซต์อื่น ๆ