ทำบุญสามารถสะเดาะเคราะห์หรือลบล้างกรรมเก่าที่ไม่ดีได้ไหม นี่คือเป็นคำถามจากหลายคน แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นคำถามจากคนที่ไม่ค่อยได้ทำบุญ หรือมั่นใจว่าตนเองมีบุญมากพอแล้ว มั่นใจว่าตนเองปฏิบัติตามคำสอนได้อย่างถูกต้องแล้ว
คำว่า ทำบุญ ความหมายง่าย ๆ ก็คือการทำความดี ทางกาย วาจา และใจ เขตบุญในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ต้องอยู่ในกรอบ 3 ประการหลักนี้
คำว่า สะเดาะ ท่านให้ความหมายอยู่ 2 ประการ ได้แก่
- ทำให้หลุดออกด้วยคาถาอาคม. ตัวอย่าง “สะเดาะกลอน สะเดาะโซ่ตรวน”
- ทำให้หมดไป หรือบรรเทาเบาบางลง. ตัวอย่าง “ทำบุญสะเดาะเคราะห์”
คำว่า เคราะห์ ท่านให้ความหมายอยู่อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
- ใช้เรียกเรียกดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ตามหลักดาราศาสตร์
- ใช้เรียกดาวเฉพาะ 9 ดวง เรียกว่าดาวนพเคราะห์ ตามหลักโหราศาสตร์
- สิ่งที่นำผลมาให้แก่บุคคลโดยอยู่นอกเหนือเหตุผล. “เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย”
- มักใช้ในทางไม่ดี. “ฟาดเคราะห์ มีเคราะห์”
คำว่า กรรม ท่านให้ความหมายดังนี้
- การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือในอนาคต, ผลของการกระทำ, เช่น กรรมตามสนอง, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา เช่น ทำกรรมดี ทำกรรมชั่ว.
- เคราะห์, บาป, เช่น กรรมของสัตว์โลก.
- ความตายในคำว่า ถึงแก่กรรม.
- การ, การกระทำ, กิจ, เช่น พลีกรรม กิจกรรม.
- ในด้านไวยากรณ์ หมายถึง ผู้ถูกกระทำ เช่น แมวจับหนู หนูเป็นกรรมของประโยคนี้.
ทำบุญสะเดาะเคราห์กรรม ความหมายโดยรวม จึงน่าจะเป็นว่า ทำบุญหรือทำความดีเพื่อให้กรรมที่ไม่ดีหลุดพ้นไปหรือเบาบางลงไป
บทความนี้ผมจะไม่กล่าวว่าทำบุญอย่างไร โดยวิธีใด แต่อย่างที่เข้าใจง่าย ๆ บุญในทางพระพุทธศาสนา ต้องอยู่ในทาน ศีล ภาวนา ถ้าอยู่ในเขตบุญสามประการนี้ คุณจะไปให้ทานที่ไหนในต่างประเทศ รักษาศีลในบ้านในป่าในวัดในต่างประเทศ ภาวนาในห้องนอน ในบ้าน ในป่า ในต่างประเทศ ก็ได้บุญทั้งนั้น เป็นหญิงหรือชาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ได้บุญเช่นกัน ขอให้ถูกวิธีเท่านั้นเอง
ประเด็นต่อมา สามารถสะเคราะห์กรรมได้ไหม สามารถแก้กรรมเก่าได้ไหม ลบล้างกรรมเก่าได้ไหม ถ้าให้ตอบตรง ๆ ตามความเข้าใจของผมที่ได้ศึกษามา ก็คือแก้ไม่ได้ ลบไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำบุญนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรรมเก่านะครับ อย่าไปคิดว่าไหน ๆ ก็ทำชั่วแล้วแก้ไม่ได้แล้วก็ทำชั่วให้สุด ๆ ไปเลย นั่นเป็นการทำที่เพิ่มความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด
เราลบล้างกรรมเก่าไม่ได้ แก้กรรมชั่วที่เคยทำมาแล้วไม่ได้ แต่เราสามารถทำกรรมดีหรือบุญที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ ให้มีกำลังมากกว่า ให้มากกว่า จนกรรมเก่านั้นไม่มีโอกาสให้ผล กรรมเก่าก็ยังเป็นกรรมเก่า แต่มันมีโอกาสให้ผลหรือส่งผล เพราะเราทำความดีมากกว่า ทำบุญให้มีอำนาจมากกว่า กรรมไหนมากกว่า กรรมนั้นก็ส่งผลก่อน เราทำกรรมดีมากกว่า กรรมดีนั้นก็จะข่มกรรมชั่วไม่มีโอกาสให้ผล หรืออาจจะกลายเป็นอโหสิกรรมไปก็ได้ มีตัวอย่างมากมาย อย่าง พระองคุลิมาลฆ่าคนเป็นร้อยเป็นพันแต่ก็ไม่ตกนรกเพราะกรรมดีคืออรหัตผลมีกำลังมากกว่า ปิดประตูอบายทั้งปวง กลายเป็นอโหสิกรรม มีแต่เศษกรรมเล็กน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสส่งผล เช่น เดินไปไหน อาจจะโดนด่าหรือโดนขว้างด้วยท่อนไม้เพราะชาวบ้านยังเข้าใจว่าเป็นโจรอยู่ ส่วนอบายภูมิไม่มีอโอกาสให้ผลแน่นอน
มีพระบรมราโชวาทว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
การกระทำ หรือกรรมก็เหมือนกัน เราไม่สามารถล้างกรรมเก่าได้ก็จริง แต่เราสามารถทำกรรมใหม่ซึ่งเป็นกรรมดีก็คือทำบุญนั่นเอง ให้บุญมีกำลังมากกว่า และให้บุญนั้นส่งผลข่มกรรมชั่ว ไม่ให้กรรมชั่วมีโอกาสส่งผลได้
ฉะนั้น การทำบุญไม่ขาดทุน ทำบุญบ่อย ๆ ทำให้บุญให้มาก ทำบุญให้มีกำลังข่มกำชั่วไว้ด้วยบุญนั้น