Skip to content
พระคุ้มครอง

วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

  • Home
  • ทำบุญ
  • ธรรมะ
  • คาถา
  • นิทาน
  • นำโชค
  • เรื่องผี
  • ตำนาน
  • หนังสือ
  • เรียกจิต
  • ประเพณี
  • ภาษาวัด
  • ทายนิสัย
  • พระเครื่อง
  • เครื่องราง
  • นานาสาระ
  • ยาสมุนไพร
  • พระสายกรรมฐาน
พระคุ้มครอง

วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

ไม้วัวลืมคอก ไม้ในตำนาน “อิ่น” อันลือลั่นของอาจารย์ “เปล่ง”

พระคุ้มครอง, 2 ตุลาคม 20197 กุมภาพันธ์ 2022
เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

“อิ่น” ไม้วัวลืมคอก คือหนึ่งในเครื่องรางที่สร้างชื่อให้กับอาจารย์ เปล่ง บุญยืน จอมขมังเวทย์ด้านมหาเสน่ห์แห่งแดนอีสานใต้ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ แต่ที่เด่นไปกว่านั้นและเป็นที่ยอมรับกันในวงการก็คือ พระขุนแผนทั้ง 6 รุ่น ของอาจารย์เปล่ง ได้แก่

ไม้วัวลืมคอก
ไม้วัวลืมคอก
(ภาพประกอบบทความ)

1.พระขุนแผนมหาเสน่ห์ (ป.1)
2.พระขุนแผนชมตลาด (ป.2)
3.พระขุนแผนสยบมาร
4.พระขุนแผนสะกดทัพ
5.พระขุนแผนพราย 59 ตน
6.พระขุนแผนจอมสุรินทร์

นอกจากนั้นยังมีเครื่องรางอื่น ๆ เป็นต้นว่า ตะกรุดหนังงูเหลือมอาจารย์เปล่ง สีผึ้งพราย อาจารย์เปล่ง ตะกรุดอาจารย์เปล่ง ปลัดขิกอาจารย์เปล่ง แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจอันเป็นเหตุให้ต้องเขียนบทความนี้ นั่นก็คือ อิ่น ไม้วัวลืมคอก คำว่าไม้วัวลืมคอกนี่แหล่ะ ทำให้ผมสงสัยมานานว่าคือไม้ชนิดใดกันแน่ ถ้าเป็นเครื่องรางเล็ก ๆ อย่างอิ่น หรือเศษไม้ติดในสีผึ้งอาจารย์เปล่งก็จะพากันเหมาว่าไม้วัวลืมคอก เหมือนเราเห็นไม้ชิ้นเล็ก ๆ ติดอยู่ในตลับสีผึ้งเขียวหลวงปู่ทาบ ก็จะบอกว่านั่นไม้ไก่กุ๊ก ใช่หรือไม่ใช่ก็เหมากันว่าใช่ไว้ก่อน เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่ใช่

ไม้วัวลืมคอก ไม้ในตำนาน

สำหรับไม้วัวลืมคอกนี้ ผมขอใช้คำว่าไม้ในตำนาน เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าไม้ชนิดไหนกันแน่ แต่เท่าที่ค้นมาในอินเตอร์เน็ตก็จะมีเรื่องเล่าประมาณว่า ไม้วัวลืมคอก หรือไม้ประนมปีเก็ง บางทีก็เขียนว่าปะนมปีเป็งก็มี แต่ไม้ประนมปีเก็งน่าจะถูกว่า เพราะเข้าใจว่าเป็นภาษาเขมรซึ่งภาษาเขมรมักมีเสียง ร ควบกล้ำด้วย ไม้วัวลืมคอกจะขึ้นในป่าลึก บ้างก็ว่าท่านนำมาจากภูเขาควาย ประเทศลาว ว่าให้ไกลเข้าไปอีก ทำให้ตามสืบเสาะหายาก (อาจจะจริงก็ได้นะ ผมก็ไม่แน่ใจว่าบนภูเขาควาย ชาวบ้านขึ้นไปเลี้ยงวัวควายหรือเปล่า หรือวัวควายต้องพยายามขึ้นไปจนเจอต้นไม้วัวลืมคอกหรือเปล่า) เมื่อชาวบ้านไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแล้ว หากว่าวัวควายหลุดเข้าไปในป่า เดินลอดใต้ต้นไม้นี้เข้า (สงสัยเข้าไปในป่าลึกมาก ๆ ก็บอกอยู่ว่าต้นไม้นี้เกิดในป่าลึก ไม่ได้เกิดในทุ่งนากลางสวน วัวคงหมดแรงไปต่อไม่ได้แล้วล่ะครับ) ก็จะไม่หนีไปไหนเดินวนเวียน นอน หมอบ นอนคลอเคลียอยู่บริเวณใต้ต้นไม้นั่นแหล่ะ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตำนานไม้เขาหลง หรือเถาวัลย์หลง ซึ่งหากใครเดินข้ามก็จะหลง หาทางกลับบ้านไม่ถูก แต่ก็เป็นตำนานเหมือนกันครับ ที่บอกว่าเป็นตำนาน ลองเอาไม้นั้นมาเดินข้ามที่หน้าบ้านสิจะหลงทางเข้าบ้านไหมครับ

อีกตำนานไม้วัวลืมคอก อ้างว่า หนังสือเล่มเก่าที่ได้ลงประวัติเกี่ยวกับท่านอาจารย์เปล่ง (เล่มไหนไม่รู้) กล่าวไว้ว่า เมื่อแม่วัวตกลูก ชาวบ้านจะนำลูกวัวไปฝากไว้กับต้นไม้ชนิดนี้ 3 วัน แค่นี้ ไม่ได้บอกไว้ว่าฝากไว้เพื่ออะไร และไม่ได้บอกอีกว่าชาวบ้านแถวไหนที่ทำอย่างนี้ แต่ที่แน่ ๆ แถวบ้านผมไม่ได้ทำอย่างนี้ จากตำนานเรื่องเล่านี้ แสดงว่าต้นไม้วัวลืมคอกนี้ ไม่น่าจะอยู่ในป่าลึก เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เลี้ยงวัว เหมือนจะขัดแย้งกับข้างบนที่บอกว่าอยู่ในป่าลึก
( ที่มา : http://plangbunyuen.blogspot.com/2015/07/ )

เจออีกตำนานล่ะ ไม้วัวลืมคอก ตำนานนี้บอกว่าไม้วัวลืมคอกนี้ เรียกอีกอย่างว่า ไม้วอละแกออย ไม้ลืมหลงก็เรียก ที่มาเล่าสั้น ๆ ว่า “แม่วัวมักจะพาลูกวัวมากิน(ใบไม้ลืมหลง)เพื่อให้หย่านม” ผมก็สงสัยอย่าว่าผมนะ แม่ว่ามันพาลูกไปกินเองหรือ แม่วัวต้องการให้ลูกวัวลืมกินนมหรือลืมแม่หรือ แม่วัวมันคิดได้ขนาดนี้หรือ และเรารู้ได้อย่างไรที่แม่วัวพาลูกวัวไปกินนั้น เพื่อต้องการให้ลูกหย่านม หรือเราคิดไปเอง หรือว่าชาวบ้านนำลูกวัวไปฝากไว้ตามเรื่องเล่าข้างบน (แต่ไม่ได้พูดถึงแม่วัว) และที่มาก็ไม่ได้บอกว่าที่ไหน น่าจะยกให้เป็นที่เขมร ไกลหน่อย ถ้าเป็นแบบนั้นเรียกไม้ลืมหลงถูกแล้วล่ะ และจากตำนานนี้ ทำให้เข้าใจว่า ไม้วัวลืมคอกนี้ ไม่ได้อยู่ในป่าลึก อยู่ในที่ไม่ไกลจากที่วัวควายออกหากิน
ขออนุญาตแนบที่มา ซึ่งที่มาเองก็คง copy มาจากที่อื่นอีกทีนะครับ ถ้าเจ้าของที่มาได้มาอ่านเจอเข้าอย่าว่าผมน๊า ที่วิจารณ์ไป : https://www.facebook.com/684042141652649/posts/1032495626807297/

จากที่อ่านมา ไม่รู้ผมโง่หรือผมคิดมากไปหรือเปล่า ผมก็สรุปไม่ได้ว่าไม้วัวลืมคอกนั้น เป็นไม้ชนิดหนึ่ง เช่น ไม้มะขาม ไม้มะม่วง ใครเห็นก็รู้ทันทีว่านี้ต้นมะขาม ต้นมะม่วง หรือไม้วัวลืมคอกคือไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม้อะไรก็ได้ ที่วัวมักแอบหนีเจ้าของแล้วหลบไปนอนใต้ต้นไม้นั้นเดิม ๆ ไม่ไปไหน นอนรอให้เจ้าของมาตามอยู่นั่นแหล่ะ เรียกว่าไม้วัวลืมคอก จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าไม้วัวลืมคอกนี้ เป็นไม้ชนิดไหนกันแน่ ใครเจอต้นเป็น ๆ ถ่ายรูปส่งมาให้ผมดูด้วยนะครับ

ไม้วัวลืมคอก
ไม้วัวลืมคอก

อานุภาพแห่งไม้วัวลืมคอก

ไม้วัวลืมคอกจะเป็นไม้อะไรก็ตาม แต่อานุภาพหรือสรรพคุณคือทำให้วัวหลง หรือทำให้วัวรักวัวหลงต้นไม้นั้นจนลืมกลับบ้านกลับคอกตนเอง ลืมว่ามีวัวสาววัวหนุ่ม หรือหญ้านุ่ม ๆ น้ำสะอาดรอที่คอก อาจารย์ท่านเห็นคุณสมบัติเห็นปานนั้น จึงได้นำมาสร้างเครื่องราง คืออิ่นไม้วัวลืมคอก นัยว่า เป็นมหาเสน่ห์ มหานิยม มหาเมตตา คนรักคนหลงงงงวย ไม่ไปไหน หากเป็นหนุ่มก็ทำให้สาวหลง หากเป็นสาวก็ทำให้หนุ่มหลงจนลืมบ้านช่อง หากเป็นคู่สามีภรรยาก็จะรักกันเหนียวแน่นไม่ไปไหน หากทำการค้า ลูกค้าก็วนเวียนมาไม่ขาดสาย ในเรื่องโชคลาภ ก็มีโชคมาแวะเวียนไม่ขาดสาย เงินทองที่เราเคยสัมผัสแตะต้องก็จะหลงเราและเวียนมาหาเราอีก นี่ผมพูดเวอร์ยิ่งกว่าต้นฉบับหรือเปล่าไม่รู้ เพราะผมเองก็ยังไม่เคยได้สัมผัส อิ่น ไม้วัวลืมคอก


เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

บทความที่เกี่ยวข้อง

อิ่นคู่ งาแกะอิ่น ทำจากทองคำ เงิน หิน ดิน แก้ว ไม้ งา ให้คุณอย่างไร ยืนหรือนั่ง ท่าไหนดี เครื่องรางมหาเสน่ห์เครื่องรางมหาเสน่ห์ เครื่องรางดึงดูดใจชายหญิง สุดยอดแห่งเครื่องรางในฝัน แมวกวักนำโชคเครื่องรางช่วยทำให้เพิ่มรายได้ขึ้นได้อย่างไร ทำไมคนหันมาสนใจเครื่องรางเมตตามากขึ้น ปู่เจ้าสมิงพราย อ.วรา ปราการ เนื้อผงเสน่ห์ยาแฝดปู่เจ้าสมิงพราย อ.วรา ปราการ เนื้อผงเสน่ห์ยาแฝด คาถาและวิธีใช้
เครื่องราง งั่งมหาเสน่ห์อิ่นอิ่นไม้วัวลืมคอกเครื่องรางเครื่องรางมหาเสน่ห์ไม้วัวลืมคอก

แนะแนวเรื่อง

Previous post
Next post

สวัสดียามเช้า พระคุ้มครอง

  • คลิป VIDEO
  • คอมพิวเตอร์
  • คาถา
  • ดาวน์โหลด
  • ตำนาน
  • ธรรมะคุ้มครอง
  • นานาสาระ
  • นิทาน
  • นิสัยใจคอ
  • บ้านและสวน
  • ประเพณี
  • พระสายกรรมฐาน
  • พระเครื่อง
  • ภาษาวัด ภาษาไทย
  • ยาสมุนไพรโบราณ
  • วัดธรรมยุตในต่างประเทศ
  • ส่งคำอวยพร
  • สังฆทาน
  • สิ่งนำโชค
  • สุขภาพ
  • อาชีพและครอบครัว
  • เครื่องราง
  • เรียกจิต
  • เรื่องผี
  • แนะนำหนังสือ
  • แบ่งปัน
  • ไม้ประดับ ไม้มงคล

เว็บไซต์แห่งนี้ นำเสนอบทความเกี่ยวกับ วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง มนต์คาถา พิธีกรรมต่าง ๆ
ซึ่งทั้งหมด เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นความรู้ เป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา
ทางเราไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่า ความเชื่อเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่
ผู้เขียนบทความ ไม่อาจจะรับรองความเชื่อนั้นว่าจะได้ผลจริง หากท่านนำไปปฏิบัติตาม
หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว

บทความต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ แม้ทางเรานำเสนอโดยการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จึงมาเขียน ฉะนั้น ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความโดยพยัญชนะ