วันวิสาขบูชาในปี 2566 ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน ซึ่งโดยปกติแล้ว วันวิสาขบูชานั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีอธิกมาส หรือแปดสองหนจึงถูกเลื่อนมาเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธเรารู้จักกันเป็นอย่างดี หากแต่จะมีกี่คนที่ทราบประวัติความเป็นมาและทราบความสำคัญของวันดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ เราจึงนำประวัติ ความหมายและความสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวันวิสาขบูชามาฝาก มาติดตามพร้อมกันเลยค่ะ
ความหมายของวันวิสาขบูชา
คำว่า “วิสาขบูชา” ได้ถูกย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ความหมายของวิสาขบูชาจึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นเอง
กำหนดการจัดวันวิสาขบูชา
ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันวิสาขบูชาจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน แต่หากปีใดมีเดือน 8 สองหนหรือที่เรียกกันว่า “อธิกมาส” การกำหนดวันวิสาขบูชาก็จะถูกเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือประมาณช่วงเดือนมิถุนายน แต่ในบางปีของบางประเทศอาจมีกำหนดวันวิสาขบูชาไม่ตรงกันกับวันของไทย เนื่องจากประเทศนั้น ๆ มีตำแหน่งที่ตั้งแตกต่างจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาเกิดการคลาดเคลื่อน จึงจำต้องเลื่อนไปจัดตามวันเวลาของประเทศนั้น ๆ
ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่มี 3 เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับวิถีชีวิตขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยแต่ละเหตุการณ์ได้เวียนมาบรรจบกันซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 แม้ว่าจะมีระยะเวลาห่างกันยาวนานนับหลายสิบปีก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ที่มีความอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการนั้น ได้แก่
1.เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า
เหตุการณ์สำคัญอันดับแรกก็คือ ตรงกับวันประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความเป็นมาคือ เมื่อพระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนใกล้ประสูติ พระนางได้แปรพระราชฐานไปประทับยังกรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลตามประเพณีที่นิยมในช่วงสมัยนั้น และในขณะที่พระองค์เสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางสิริมหามายาก็ได้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละนั้นในทันใด โดยวันที่ประสูติตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี และเมื่อพระกุมารประสูติมาได้ 5 วัน ก็ได้รับถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” ซึ่งแปลว่า “สมปรารถนา”
ในเวลาต่อมา ข่าวการประสูติของพระราชกุมารแพร่สะพัดไปถึงอสิตดาบสทั้ง 4 ซึ่งเป็นดาบสที่อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และยังมีความเคยคุ้นกันดีกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสเหล่านั้นจึงได้เดินทางไปเข้าเฝ้า เมื่อได้เห็นพระราชกุมารก็ทำนายในทันทีว่า พระราชกุมารองค์นี้คือ ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้กล่าวการพยากรณ์ว่า “พระราชกุมารองค์นี้จักได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพาน ได้ประกาศธรรมอันบริสุทธิ์ และจะเป็นศาสดาเอกแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก โดยไม่มีศาสดาใดยิ่งใหญ่เหนือกว่า” จากนั้นจึงก้มลงกราบแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะเมื่อทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นก็ทรงรู้สึกถึงความอัศจรรย์ใจและเปี่ยมล้นด้วยปีติยิ่งนัก จนถึงกับทรุดพระองค์ลงเพื่ออภิวาทพระราชกุมารตามที่ดาบสได้ทำ
2.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ
ภายหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชได้เป็นเวลา 6 ปี กระทั่งพระชนมายุ 35 พรรษา พระองค์ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ทางฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในช่วงเวลาตอนเช้ามืดของวันพุธ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ก็คือ พุทธคยา อันเป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของประเทศอินเดียนั่นเอง
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มีอะไรบ้าง?
สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็คือ อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนเมื่อจิตเป็นสมาธิถึงระดับฌานที่ 4 พระองค์ก็บำเพ็ญภาวนาต่อจนได้ฌานที่ 3 คือ
ยามต้น : พระองค์ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุติญาณ” คือ ทรงสามารถระลึกชาติทั้งเรื่องในอดีตของตนเองและผู้อื่นได้
ยามสอง : พระองค์ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือ การรู้แจ้งเห็นแจ้งโดยตาทิพย์ ตั้งแต่การเกิดและการดับของทุกสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงสามารถมองเห็นการจุติและอุบัติขึ้นของดวงวิญญาณทั้งหลายได้
ยามสาม (ยามสุดท้าย) : พระองค์ทรงบรรลุ “อาสวักขญาณ” คือ รู้วิธีการกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ 4 ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด
3.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสสู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็ได้แสดงธรรมเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี จนกระทั่งมีพระชนมายุ 80 พรรษา พระพุทธองค์ก็ได้ประทับเพื่อจำพรรษา ณ เวฬุคาม ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นก็ทรงประชวรอย่างหนัก และเมื่อวันเพ็ญเดือน 6 มาถึง พระพุทธองค์กับเหล่าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ได้ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านของนายจุนทะ ตามที่ได้กราบทูลนิมนต์ไว้ และได้ทรงเสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายจากนั้นก็เกิดอาพาธขึ้นอย่างหนัก หากก็ยังทรงอดกลั้น มุ่งหน้าเดินทางไปประทับ ณ ป่าสาละที่เมืองกุสินาราเพื่อดับขันธ์ปรินิพพานต่อไป
เมื่อยามสุดท้ายของคืนวันเพ็ญเดือน 6 มาถึง พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายนั้นย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่นให้บริบูรณ์พร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าสู่การดับขันธ์ปรินิพพาน ท่ามกลางคืนวันเพ็ญเดือน 6 อย่างสงบ
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
จากหลักฐานที่ปรากฎก็ได้พบว่า วันวิสาขบูชา มีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากทางลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 ซึ่งพระภาติกุราช ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้ทรงประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้นทางกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้ทรงสืบทอดประเพณีวิสาขบูชาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สำหรับการเผยแผ่ประเพณีวิสาขบูชาเข้ามาในประเทศไทย คาดว่าเป็นเพราะในสมัยกรุงสุโขทัย ยุคสมัยนั้นประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนากับทางประเทศลังกาอย่างใกล้ชิดมาก เห็นได้จากการมีพระสงฆ์จากทางลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และยังนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติเพื่อเป็นการถ่ายทอดในประเทศไทยร่วมด้วย
การปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัย ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือนางนพมาศ เนื้อความสรุปได้ว่า เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง พระเจ้าแผ่นดิน และเหล่าข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ตลอดจนประชาชนชาวสุโขทัยจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมจุดประทีปโคมไฟให้สว่างไสวทั่งทั้งพระนคร โดยจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ในขณะที่พระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เมื่อครั้นเวลาตกเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์และข้าราชบริพารฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวงเพื่อทรงทำพิธีเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนพสกนิกรชาวสุโขทัยนั้นก็พร้อมเพรียงตั้งใจรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัตสังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร และบริจาคทานแก่คนจนผู้ยากไร้ รวมถึงทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ
หลังจากช่วงสมัยสุโขทัยแล้ว ศาสนาพราหมณ์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทจนทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มากขึ้น จึงทำให้สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่หลักฐานปรากฎว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2360 พระองค์ท่านก็ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) แห่งสำนักวัดราชบูรณะถวายพระพรให้ทรงจัดทำพิธีขึ้นเป็นครั้งแรก พิธีวิสาขบูชาจึงได้ประกอบขึ้นอีกครั้งในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ในปี พ.ศ. 2360 โดยให้จัดขึ้นตามแบบอย่างประเพณีดั้งเดิมทุกประการ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนพร้อมเพรียงกันตั้งใจทำบุญ สร้างกุศลอย่างถ้วนหน้ากันด้วย สำหรับการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาอีกครั้งในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างในการถือปฏิบัติของการประกอบพิธีวันวิสาขบูชามาจนตลอดต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน
วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีด้วยกันหลายวัน แต่หนึ่งในนั้นก็คือ วันวิสาขบูชา เพราะมีเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับการกำเนิดพุทธศาสนา โดยเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงยกให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญ และในวันที่ 13 ธันวาคม ในปีพ.ศ. 2542 ทางองค์การสหประชาชาติก็ได้ยอมรับญัตติที่ประชุม โดยมีการกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกด้วยเช่นกัน โดยเรียกว่า Vesak Day ซึ่งเป็นคำเรียกของทางชาวศรีลังกา ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นเรื่องให้ทางสหประชาชาติรับไปพิจารณา และยังได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย
การที่ทางด้านสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญของโลก ก็เพราะได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงเป็นถึงพระมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย และยังเปิดโอกาสให้คนทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพื่อได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงสำหรับความเป็นไปของชีวิต โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และยังทรงสั่งสอนมนุษย์ทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ อย่างไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา
สำหรับการประกอบพิธีขึ้นในวันวิสาขบูชานั้น แบ่งออกได้เป็น 3 พิธี ดังนี้
1.พิธีหลวง เป็นพระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยประกอบพิธีขึ้นในวันวิสาขบูชา
2.พิธีราษฎร์ เป็นพิธีของประชาชนทั่วไป
3.พิธีของพระสงฆ์ เป็นพิธีที่พระสงฆ์จะทำการประกอบศาสนกิจ
กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันวิสาขบูชา
เนื่องจากวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและยังเป็นวันสำคัญของโลก สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยเรานั้นก็มีกิจกรรมที่ควรแก่การพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่…
1.ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้บุคคลที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร
2.เตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญถวายภัตตาหารพระสงฆ์ที่วัด พร้อมกับปฏิบัติธรรมและฟังพระธรรมเทศนา
3.ปล่อยนก ปล่อยปลา
4.เวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในช่วงเวลาตอนค่ำ เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5.เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นเกี่ยวกับวันสำคัญของทางพระพุทธศาสนา และร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
6.จัดแสดงนิทรรศการ พุทธประวัติ และความสำคัญของวันวิสาขบูชาตามโรงเรียนหรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เพื่อเป็นความรู้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการได้ร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาพร้อมกันด้วย
7.ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการเพื่อเป็นเกียรติและความเป็นสิริมงคล
หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชาที่ชาวพุทธควรแก่การนำมาปฏิบัติ
วันสำคัญใดก็ตาม ล้วนมีหลักการหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับวันสำคัญนั้น ๆ และเช่นกันกับวันวิสาขบูชา เหล่าพุทธศาสนิกชนทุกท่านก็ควรตระหนักและควรยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยหลักธรรมที่ควรแก่การนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชานั้น ได้แก่…
1.ความกตัญญู
การที่เรารู้บุญคุณผู้อื่น ถือเป็นคุณธรรมที่มาควบคู่กันกับความกตเวที โดยหมายถึงการตอบแทนความดีงามสำหรับผู้ที่ทำคุณไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนับได้ว่าเป็นเครื่องหมายของคนที่ทำความดี ทำให้ครอบครัวและสังคมเต็มไปด้วยความสงบสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีก็ยังสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งกับบิดามารดา-ลูก ครูบาอาจารย์-ลูกศิษย์ และนายจ้าง-ลูกจ้าง ฯลฯ
2.อริยสัจ 4
ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือความหมายของอริยสัจ 4 ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ขึ้นในวันวิสาขบูชา ซึ่งได้แก่
2.1 ทุกข์ คือ ปัญหาของการใช้ชีวิต หรือสภาวะที่ทนได้ยาก แต่ทุกข์อันเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ก็คือ การเกิด แก่ เจ็บและตาย เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญด้วยกันทั้งสิ้น ในขณะที่ทุกข์จรก็คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ความยากจนหรือการพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เป็นต้น
2.2 สมุทัย คือ สาเหตุของการเกิดทุกข์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาทุกอย่างล้วนมาจาก “กิเลสตัณหา” คือ ความอยากได้ อยากมี และอยากครอบครองในสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
2.3 นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือการเข้าสู่สภาวะที่จะทำให้ความทุกข์ทั้งหมดดับสิ้นลงไป ด้วยเพราะสามารถดับกิเลสตัณหาอุปาทานได้
2.4 มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ เป็นวิถีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา โดยมีด้วยกัน 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบและตั้งจิตมั่นชอบ
3.ความไม่ประมาท
เพราะความประมาทคือ ต้นเหตุบ่อนทำลายชีวิตและทรัพย์สิน นำมาซึ่งความทุกข์ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดทุกข์อย่างที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ในวันวิสาขบูชาเราจึงควรตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท โดยควรมีสติอยู่กับตัว ทั้งการคิด พูดและทำ ควรเป็นไปโดยสติทั้งสิ้น เพราะสติคือ การระลึกได้ ทำให้เราสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ดำเนินชีวิตอย่างประมาท เพราะฉะนั้น ในวันวิสาขบูชานี้พุทธศาสนิกชนทุกท่านจึงควรน้อมรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ด้วยสติอยู่ตลอดเวลา และควรดำเนินชีวิตภายใต้การรักษาศีลให้บริสุทธิ์พร้อมกัน
นี่ก็คือ ความหมาย ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา จะเห็นได้ว่าวันวิสาขบูชาไม่เพียงสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นวันสำคัญโลกอีกด้วย โดยเป็นวันที่มีการประกอบพิธีพุทธบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณและพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้เมตตาโปรดมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่ควรค่าแก่การรำลึกถึงเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับวิถีความเป็นมาของพระพุทธองค์ถึง 3 ประการ และเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทุกท่านควรนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักธรรมอันดีงามทั้งในวันวิสาขบูชาและวันอื่น ๆ ต่อไป
บทความแนะนำ…คำถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการะ อธิษฐาน วันวิสาขบูชา แบบสั้น ได้ความหมาย