อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) นับว่าเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดในพระพุทธศาสนา เหตุเพราะเป็นสถานที่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม แต่เดิมนั้นพระสงฆ์ใช้เพียงพื้นที่โล่ง ที่ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่โดยการกำหนดตำแหน่ง “สีมา” ในการใช้ทำสังฆกรรม
แต่ในปัจจุบันนี้ มีผู้เข้ามาบวชมากขึ้น และพระอุโบสถยังเป็นประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด เป็นพระประธานของวัดอีกด้วย ซึ่งทำให้มีผู้มาสักการบูชาเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นอาคารถาวร ประดับตกแต่งอย่างสวยงามตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือประเทศนั้น ๆ
ความหมายของโรงอุโบสถ
- อุโบสถ เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง โรงอุโบสถ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปตามภาษาพูดว่า โบสถ์
- โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้การอุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถ้าศาสนาอื่นนำไปใช้ นั่นเป็นการเรียกเลียนแบบ
- โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางท้องถิ่นเรียกว่า สีมา หรือเรียกย่อว่า สิม
- โบสถ์ เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนอันพระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นกรณีพิเศษแล้ว เรียกว่า วิสุงคามสีมาซึ่งก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยนั้นจะต้องพิธีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมาก่อน
เราควรถวายโรงอุโบสถในโอกาสใด
ในปัจจุบันนี้การสร้างโรงอุโบสถนั้น ต้องใช้งบประมาณมากมายหลายล้านบาท จึงยากยิ่งที่คนใดคนหนึ่งจะเป็นเจ้าภาพถวายทั้งหมด ซึ่งโดยมากแล้วเมื่อวัดนั้น ๆ จะสร้างอุโบสถก็ได้อาศัยเงินจากการทำบุญของพุทธศาสนิกชนทั่วไปคนละเล็กละน้อย หรือบางวัดก็มีเจ้าภาพในการจัดผ้าป่า กฐินเพื่อสมทบทุนในการสร้างโรงอุโบสถ ซึ่งถ้าเราได้ทราบข่าวว่า วัดไหนจะสร้างอุโบสถหรือกำลังสร้างอุโบสถ เราก็ไปร่วมบริจาคทำบุญสร้างอุโบสถกับทางวัดนั้น ๆ ได้ตามศรัทธาของเราเอง หรือเมื่อวัดนั้น ๆ สร้างอุโบสถแล้ว ก็จะมีพิธีถวายโรงอุโบสถ ผูกพัทธสีมา ถึงแม้ว่าเราไม่ได้มีส่วนในการบริจาคถวายเพื่อสร้างอุโบสถแต่แรกเริ่ม แต่เราก็สามารถไปร่วมงานถวายโรงอุโบสถแก่วัดนั้นได้เช่นกัน
คำถวายโรงอุโบสถ หรือคำถวายโบสถ์
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง เอตัง อุโปสะถาคารัง สะปะริวารัง จาตุททิสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ อาคะตานาคะตัสสะ อุโปสถะถาทีนิ กัตตะวา สันนิปาตัตถายะ พุทธะสาสะเน นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง จาตุททิสัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ อาคะตานาคะตัสสะ อุโปสะถาทีนิ สังฆะกัมมานิ กัตตะวา สันนิปาตัตถายะ พุทธะสาสะเน อุโปสะถาคารัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายโรงพระอุโบสถหลังนี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์เป็นสถานที่ประชุมกระทำสังฆกรรมทั้งหลาย มีอุโบสถกรรม เป็นต้น สำหรับพระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มา ขออานิสงส์แห่งการถวายโรงพระอุโบสถไว้ ในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์เป็นสถานที่ประชุมกระทำสังฆรรมทั้งหลายมีอุโบสถกรรมเป็นต้น สำหรับพระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มานี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ
อานิสงส์แห่งการถวายโรงอุโบสถ หรือถวายโบสถ์
อานิสงส์แห่งการสร้าง ร่วมสร้าง ถวายหรือร่วมถวายโรงอุโบสถนั้น เชื่อกันว่ามีอานิสงส์มาก เพราะในหนึ่งวัดมีโรงอุโบสถแค่หนึ่งเดียวเท่านั้น และอย่างที่กล่าวข้างต้น อุโบสถเป็นสถานที่ใช้ทำสังฆกรรมต่าง เช่น ทำการอุปสมบท ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่เกิดใหม่ของคนที่อาจจะเคยเป็นคนไม่ดีมาก่อน แล้วมาเกิดเป็นคนดีคือพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทำเป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ของพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้าน เป็นที่รักษาศีลเจริญภาวนา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัด เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด เป็นที่รับและให้ผ้ากฐิน เป็นต้น อานิสงส์แห่งการถวายโรงอุโบสถนั้น สุดแต่จะอธิษฐาน ไม่สามารถบรรยายได้หมด แต่ผมขออวยพรให้ท่านที่ได้ทำบุญถวายโรงอุโบสถ ได้อานิสงส์ อย่างน้อยก็เช่นว่า
- ขอให้เกิดความสงบร่มเย็นเป็นสุขในชีวิตของท่านและครอบครัว ซึ่งเปรียบเสมือนกับว่าท่านได้สร้างบ้านสร้างที่อยู่อาศัยไว้เพื่อตนเองแล้ว
- ขอให้ท่านมีความเจริญก้าวหน้าในด้านทรัพย์สิน เหตุว่าอุโบสถนั้นเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า และ เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ทุกประการ
- ขอให้ท่านมีสติปัญญา มีความเฉลียวฉลาด เหตุเพราะว่าโรงอุโบสถนั้นเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมต่าง ๆ ของพระสงฆ์ เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น การให้อุปสมบท การสวดพระปฏิโมกข์ การทำปวารณา นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาอีกมากมาย
- ขอให้ความสามัคคีปรองดองจงมีขึ้นในครอบครัว บริษัท เพื่อนร่วมงานของท่าน เพราะเหตุว่าโรงอุโบสถนั้น นอกจากจะเป็นที่สำหรับทำสังฆกรรมของพระสงฆ์แล้ว ก็ยังเป็นที่ทำกิจกรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วไปอีกด้วยที่มาร่วมทำบุญต่าง ๆ จึงก่อให้เกิดอานิสงส์อย่างต่อเนื่องไปอีก
คุณธรรมความดีของผู้สร้างโรงอุโบสถ
- การบริจาคเงินสร้างโรงอุโบสถเพียงหนึ่งบาททรัพย์นั้นก็จะอยู่คู่กับอุโบสถสถานไปจนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
- การสร้างโรงอุโบสถถวายวัดถวายแก่สงฆ์ นับว่ามีอานิสงส์มากมายมหาศาล เหตุเพราะว่าวัดหนึ่ง ๆ นั้น มีโรงอุโบสถได้เพียงหลังเดียวเท่านั้น ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการสร้างอุโบสถหนึ่งหลังก็เหมือนการได้สร้างวัดหนึ่งวัด
- การที่จะสร้างอุโบสถสำเร็จได้นั้น ต้องมีอธิฐานธรรม 4 ประการ คือ
3.1 การมีปัญญา คือการเล็งเห็นโทษของความโลภคือการที่คิดว่าจะสร้างคนเดียว เพราะว่าการสร้างอโบสถมีค่าก่อสร้างที่สูงเราต้องช่วยกันทำ แจ้งข่าวป่าวประกาศบอกบุญต่อ ๆ กันไป ซึ่งเป็นการกระจายบุญ แบ่งบุญ แจกบุญ ให้แก่ผู้อื่นด้วย
3.2 การถือสัจจะ คือการพูดจริง ตั้งใจจริง ทำจริง ในการที่คิดจะทำนั้น
3.3 ความเสียสละ คือการร่วมมือร่วมใจกันในการบริจาคทรัพย์สินเพื่อใช้ในการก่อสร้างตามกำลังทรัพย์ของเรา
3.4 การมีอุปสมะ คือความสงบในใจ ไม่ยอมให้อะไรมาทำให้เกิดความท้อแท้ ท้อถอยในการสร้างอุโบสถ จนถึงขั้นต้องเลิกรากลางคัน