“ฌาปนกิจ” ภาษาบาลีแท้ แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร
วันนี้ 24 พ.ค.25 65 ทราบว่ามีพิธีฌาปนกิจดาราสาว “แตงโม นิดา” ผู้ล่วงลับ ซึ่งจัดขึ้น ณ คริสตจักรเมธอดิสท์รังสิตคลองสี่ จ.ปทุมธานี
คำว่า “ฌาปนกิจ” เป็นภาษาบาลี และภาษาบาลีก็เป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก นอกจากนั้นยังเป็นภาษาที่ใช่ในคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้น คำว่า “ฌาปนกิจ” จึงเป็นคำในพระพุทธศาสนา
ผมพยายามหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ฌาปนกิจ” ที่ตรงตามรากศัพท์เดิมว่ามาจากธาตุอะไร ลงปัจจัยอะไร ทำไมจึงกลายเป็น “ฌาปนกิจ” และมีความหมายดั้งเดิมนั้นเป็นอย่างไร จนได้เจอบทความของท่านทองย้อย แสงสินชัย ที่ได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ซึ่งท่านเขียนไว้ดีมาก ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้
ฌาปนกิจ
อ่านว่า ชา-ปะ-นะ-กิด
ประกอบด้วย ฌาปน + กิจ
(๑) “ฌาปน” (ชา-ปะ-นะ)
รากศัพท์มาจาก ฌาปฺ (ธาตุ = เร่าร้อน, เผาไหม้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฌาปฺ + ยุ > อน = ฌาปน แปลว่า การจุดไฟ, การเผา (setting fire to, consumption by fire)
(๒) “กิจ”
บาลีเป็น “กิจฺจ” (กิด-จะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ กรฺ และ ร ที่ ริจฺจ (ริจฺจ ลบ ร = อิจฺจ)
: กรฺ > ก + ริจฺจ > อิจฺจ : ก + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)
“กิจฺจ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “กิจ” (กิด)
ฌาปน + กิจฺจ = ฌาปนกิจฺจ > ฌาปนกิจ แปลว่า กิจด้วยการเผา, กิจคือการเผา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฌาปนกิจ : (คำนาม) การเผาศพ.”
อภิปราย :
๑ ตามศัพท์ “ฌาปนกิจ” แปลว่า กิจด้วยการเผา หรือ กิจคือการเผา ยังไม่ได้ระบุว่าเผาอะไร
๒ “ฌาปนกิจฺจ” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ ถ้าหมายถึง “การเผาศพ” จะมีคำระบุชัดลงไปว่า “สรีรชฺฌาปนกิจฺจ” (สะ-รี-รัด-ชา-ปะ-นะ-กิด-จะ, = สรีร + ฌาปน + กิจฺจ) แปลว่า “กิจคือการเผาร่าง” = การเผาศพ
๓ บางแห่งแม้จะมีเฉพาะคำว่า “ฌาปนกิจฺจ” และหมายถึง “การเผาศพ” แต่ก็จะมีคำที่เป็นบริบทบอกให้รู้ว่าเผาใครหรือเผาอะไร เช่น “สิริมาย ฌาปนกิจฺจํ” = กิจคือการเผานางสิริมา (ในข้อความนี้ถ้าไม่มีคำว่า “สิริมาย” มีแต่ “ฌาปนกิจฺจํ” ก็จะไม่รู้ว่าเผาอะไร)
๔ ในภาษาไทย คำว่า “ประชุมเพลิง” หรือ “พระราชทานเพลิง” ก็ถอดความออกมาจากคำว่า “ฌาปนกิจ” นั่นเอง แม้สำนวนที่เป็นภาษาปากว่า “ใส่ไฟ” ก็สืบเนื่องมาจากคำว่า “ประชุมเพลิง” อีกต่อหนึ่ง
๕ ในภาษาไทย มีปัญหาว่า คำว่า ประชุมเพลิง หรือ พระราชทานเพลิง จะต้องมีคำว่า “-ศพ” ต่อท้ายด้วยหรือไม่
ถ้าดูจากหมายรับสั่งในการพระราชทานเพลิงศพ จะเห็นว่าในหมายใช้คำว่า “พระราชทานเพลิงศพ” ต่อด้วยชื่อผู้ตาย ไม่ใช่ พระราชทานเพลิง-แล้วต่อด้วยชื่อผู้ตาย
๖ เราใช้คำว่า “ฌาปนกิจ” ในความหมายว่า “การเผาศพ” จนติด คือเข้าใจอย่างนั้นไปหมดแล้ว อย่างที่เรียกว่าผิดจนถูก จะแก้ให้ถูก ถูกก็จะกลายเป็นผิดไปเสีย นอกจากจะช่วยกันอธิบายแก้ต่างให้ผิดเป็นถูก ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดี
: เผาอะไรก็ไม่วิเศษ
: เท่ากับเผากิเลสของตัวเอง
ตามที่ท่านอาจารย์ทองย้อย แสงสินชัยได้อธิบายไว้ คำว่า “ฌาปนกิจ” จึงแปลว่า กิจด้วยการเผา, กิจคือการเผา ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเผาอะไร และคำว่า “ฌาปนกิจ” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฝัง หรือ การกลบ