ตำนานพญาเต่างอย อำเภอเต่างอย
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อประมาณ 400 ปี (เมื่อพิจารณาดูจากระยะเวลาที่อ้างถึงแล้ว เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา เรื่องเล่านี้ผมยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ อยุธยาได้ทำสงครามกับลาวหรือไม่ เกิดขึ้นในยุคพระมหากษัตริย์ ยังไม่ได้ตรวจสอบ) ไทยได้ทำสงครามกับลาว ลาวพ่ายแพ้ จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทย เมื่อมาถึงบริเวณลำน้ำพุง ซึ่งเป็นลำน้ำขนาดใหญ่และเป็นสถานที่ที่มีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้คนในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่า บริเวณริมฝั่งลำน้ำพุงมีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมในการตั้งรกรากจึงได้ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านตามสถานที่พบเห็นเต่าที่กำลังลอยริมฝั่งแม่น้ำว่า “บ้านเต่างอย” ต่อมาจึงได้เป็นชื่ออำเภอเต่างอย มาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาชาวบ้าน ราชการต้องการที่จะสร้างสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอเต่างอยขึ้นมา ทราบมาว่ามีการนำเรื่องเข้าไปปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนครด้วย หรือเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ต้นคิด จะเห็นว่าการออกแบบมีพระพุทธรูปอยู่ที่เกล็ดเต่าด้วย ส่วนช่วงปั้นนั้นได้จากศูนย์ฝึกศิลปาชีพบ้านกุดนาขามมาสร้างรูปปั้นเต่าขนาดใหญ่ เรียกว่าพญาเต่างอยไว้บริเวณสวนสาธารณะหลังที่ทำการอำเภอเต่างอย
พญาเต่างอยเป็นรูปปั้นเต่าขนาดใหญ่ เกล็ดบนหลังแต่ละเกล็ดมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ผมไม่ได้เดินดูโดยรอบเข้าใจว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปประจำวัน บนหลังพญาเต่างอยประดับดอกบัวปั้น ในดอกบัวมีสร้อยทอง พระ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังถูกบรรจุไว้
คาถาบูชาพญาเต่างอย
ตั้ง นะโม 3 จบ
อิมัง ภันเต พุทธะกัสสโป เถโร มัยหัง
พุทธัง ปะสิทธิ เม
ธัมมัง ปะสิทธิ เม
สังฆัง ปะสิทธิ เม
ยะเต มัยหัง
พุทธัง ปูเชมิ
คำบูชาพญาเต่างอยนี้ ที่ถูกต้องตามศัพท์บาลีน่าจะเป็นแบบนี้ (บางศัพท์อาจจะสะกดแตกต่างจากศัพท์ที่เราเห็นอยู่บนป้ายด้านหน้าพญาเต่างอย เช่น พันเต ที่ถูกต้องเป็น ภันเต) แต่ก็แค่ศัพท์น่าจะถูกต้องเท่านั้น ส่วนรูปประโยคอีกประเด็นหนึ่ง
พิจารณาดูรูปศัพท์แล้ว สิ่งที่เราบูชานั้น ไม่ใช่เต่า แต่เราบูชาพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภัทรกัปป์นี้ พระองค์ทรงจุติลงมาในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระโกนาคมพุทธเจ้าแล้ว โดยนับตั้งแต่อายุมนุษย์ลดลงจากสองหมื่นปีเหลือ 10 ปี แล้วเพิ่มขึ้นจนถึงสองหมื่นปีอีกครั้ง พระองค์จึงเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เหตุที่ท่านนำพระนามของพระพุทธกัสสปะมาเป็นคำบูชาพญาเตางอยนั้น น่าจะด้วยเหตุผลว่า
- กัสสปะ หมายถึง เต่า
- พระพุทธกัสสปะ มีเต่าเป็นสัญลักษณ์
- ประเทศไทยมีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดสกลนคร จึงต้องเชื่อมโยงคำบูชาเข้ากับพระพุทธศาสนา
คำว่า พุทธัง ปะสิทธิ เม ธัมมัง ปะสิทธิ เม สังมัง ปะสิทธิ เม ในป้ายคำบูชาพญาเต่างอย สะกดแบบไทย ๆ เป็น ประสิทธิเม และไม่มี สังมัง ปะสิทธิ เม (ประสิทธิเม) ผมใส่เข้าไป ด้วยเหตุว่าควรที่จะครบพระรัตนตรัย เป็นการอ้างอิงถึงพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ มาประสิทธิหรือประทานพรให้เรา น่าจะเป็นเครื่องสำเร็จได้เร็วกว่า
คำว่า พุทธัง ปูเชมิ แปลว่า ข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า หมายความว่า แม้เราจะบูชาสิ่งใด ๆ หรือมีสิ่งใดเป็นสัญลักษณ์ แต่ในที่สุดเราก็มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้บุคคลผู้สูงสุดที่ควรแก่การบูชา อธิบายว่า แม้เราจะบูชาศาลปู่ย่าตายาย ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ศาลบรรพบุรุษ หรือเทพเจ้าองค์ใดที่ไหนก็ตาม เราไม่ทิ้งพระพุทธเจ้า
อานุภาพของการบูชาพญาเต่างอย
สำหรับผู้ที่สักการบูชาพญาเต่างอยนั้น เชื่อว่า
- ทำให้เป็นผู้มีอายุยืน
- แคล้วคลาดปลอดภัย
- มีความอุดมสมบูรณ์
- นำมาซึ่งโชคลาภ เลื่อนยศตำแหน่ง