พิธีอัญเชิญพระอุปคุต
พระอุปคุตเป็นพระเถระผู้มีฤทธิ์มาก สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในนครปาตลีบุตราชธานี ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็กลับสู่มหาสมุทร และเชื่อว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุนั้น เมื่อพุทธศาสนิกชนจะจัดงานพิธีที่สำคัญ จึงได้อาราธนาเพื่อมาปกป้องบริเวณงานและเพื่อความสวัสดีมีชัยให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยผู้จัดงานต้องสร้างหออุปคุตขึ้น ซึ่งในอดีตมักสร้างขึ้นโดยทำเป็นร้านไม้ไผ่ชั่วคราวกั้นสามด้านด้วยไม้ไผ่สานลายขัดแตะและทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากน้ำซึ่งมักเป็นหนองหรือสระเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน
ขั้นตอนการอัญเชิญพระอุปคุต
๑. จัดเตรียมหอพระอุปคุต โดยสร้างจากไม้ไผ่ ให้เป็นหอสี่เสา มีฝาปิดสามด้านสูงเพียงตา แล้วนำต้นกล้วย ต้นอ้อยจำนวนสี่ต้นมามัดตามเสา อย่างละต้น
๒. แต่ง ขัน ๕ ขัน ๘ และ ขันหมากเบ็ง ๑ คู่
๓. เตรียมบาตร กาน้ำ ร่ม รองเท้า ผ้าไตร ๑ ชุด และไม้เท้า
๔. เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ที่จะเชิญพระอุปคุต จัดเตรียมสถานที่ให้พระภิกษุนั่งยังอาสนะ ไหว้พระสวดมนต์รับศีลจากพระคุณเจ้าที่อาราธนามา เมื่อรับศีลแล้ว ผู้พาทำพิธีจะพาดำเนินการกล่าวเชิญเทวดาให้มาร่วมงานกล่าวเชิญพระอุปคุต เพื่อจะไปปกปักรักษาในงาน
เมื่อกล่าวเชิญเทวดาแล้ว จึงกล่าวคำเชิญพระอุปคุต ซึ่งมีเนื้อความว่า
“อุกาสะ อุกาสะ ฝูงข้าทั้งหลายภายในมีพระสงฆ์เป็นเค้า ภายนอกมีออกตนเป็นประธาน พากันจัดเครื่องสักการะมากราบไหว้ แก่ยอดให้พระอุปคุตเถร ตนมีฤทธิ์องอาจ นิรมิตรประสาทแก้วกุฏิ กลางนทีแม่น้ำใหญ่ มักใคร่ด้วยพรหมจารี อยู่สุขีบ่โศกเศร้า
บัดนี้ฝูงข้าพเจ้าทั้งหลาย พร้อมกันขอเชิญเจ้ากุตทรงคุณธรรมมาก เป็นอาชแพ้แก่ผีในจักรวาล ขอจงไปปราบมารทั้ง ๕ อันจะมาเบียดเบียนฝูงข้าทั้งหลายให้หายโภยภัยอันตรายทุกส่ า พร้อมพร่ำถ้วนทุกประการ ก็ข้าเทอญ”
๕. พอเสร็จแล้ว ให้ตีฆ้องป่าวเติน ไปยังบริเวณจัดงาน เมื่อถึงถือของทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งไตรจีวร ทั้งบาตร เวียน ๓ รอบแล้ว เอาสิ่งของถือนั่นวางในหออุปคุต
ที่มา : หนังสือธุงผะเหวดอีสาน
มารทั้ง ๕ ได้แก่
๑. กิเลสมาร คือ กิเลสซึ่งทำให้เรามีความประพฤติ และนิสัยไม่ดีต่าง ๆ ในแง่ของมารหมายถึง กิเลสที่คอยขัดขวางไม่ให้เราทำความดี
๒. ขันธมาร คือ ขันธ์ ซึ่งบกพร่องแล้วเป็นมารผลาญตัวเอง ในแง่ของมารหมายถึง ขันธ์ที่คอยกีดขวางการทำความดี เช่น ต้องการฟังธรรมะ แต่หูหนวก ไม่สามารถฟังธรรมได้ เป็นต้น
๓. อภิสังขารมาร คือ ความคิดนึกอันประกอบกับอารมณ์ เป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ
๔. เทวบุตรมาร เทวดาที่เป็นมาร คือ ท้าววสวัตตี จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เป็นต้น
๕. มัจจุมาร คือ ความตายที่ตัดโอกาสการทำความดีของเรา
บทความแนะนำ…
คาถา พระมหาอุปคุต (ผูกผี) คาถาในตำนานที่ผมทราบมาแต่เด็ก
คาถาบูชาพระมหาอุปคุต ของ หลวงปู่สุภา วัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต
คาถาหัวใจเถรอุปคุต คาถาเสกข้าวสาร เสกทรายไล่ผี
พระอุปคุต หลวงพ่อผาง จิตตคุตโต 1 ในพิธีภูธร มหาพุทธาภิเษก ปี 2519
พระอุปคุต ศิลป์เขมร เนื้อสัมฤทธิ์ เก่งจริง