เล่านิทานก่อนครับ นิทานหมายถึงเหตุที่มาที่ไป หรือต้นเหตุแห่งที่มา ไม่ใช่เรื่องแต่ง ถ้าเรื่องแต่งคือนิยาย ถ้าเรื่องนั้นแต่งขึ้นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริง ถือว่าเป็นการโกหกหลอกหลวง แต่นิทานของผมเครื่องต้นเหตุแห่งการได้มาของพระคงองค์นี้
พระคงองค์นี้ เดิมที่อยู่ในบ้านของคนมีฐานะ เจ้าของเดียวกันกับพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ ของดีที่เจ้าของเดิมให้ไว้ ซึ่งเขาได้บันทึกไว้ว่า พระคงกรุเก่า ผมก็ดูไม่ขาดหรอกครับว่าพระคงกรุเก่าจริง ๆ ไหม แท้ไหม แต่ความเป็นมาเป็นอย่างนี้ ซึ่งอาจจะเป็นพระคงกรุเก่าจริง ๆ ก็ได้ หรือเจ้าของเดิมอาจจะถูกหลอกมาก็ได้ หรือมีความเข้าใจหรือเชื่อมั่นว่าเป็นพระคงกรุเก่าจริง ๆ ก็ได้
ลักษณะของพระคงองค์นี้ น่าจะถูกเลี่ยมทองมา หรือไม่เช่นนั้นก็เคยอยู่ในตลับทองมา แต่ลูกหลานอาจจะแกะทองออกไปขายเหลือไว้แต่พระก็เป็นได้ ดูจากลักษณะของการเลี่ยมแล้ว เป็นการเลี่ยมที่เรียบร้อย คือเลี่ยมเพื่อหุ้มทองจริง ๆ ไม่ใช่เลี่ยมหลอก ๆ หรือเลี่ยมเพื่อรักษาเนื้อพระไว้ชั่วคราวเท่านั้น
พระคง เป็นพระกรุถือว่าเป็นพระพิมพ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองลำพูน เป็นที่นิยมมาแต่โบราณ มีตำนานกล่าวขานไว้ว่า….
พระคงลำพูนสันนิษฐานว่าถูกค้นพบมานานนับร้อยปี น่าจะสมัยเดียวกับตุ๊เจ้าแสน วัดประตูลี้ ท่านกำลังรวบรวมพระเครื่องและพระพิมพ์ที่ถูกขุดพบจากกรุต่าง ๆ ในเมืองลำพูน เมื่อขุดพบแล้วส่วนหนึ่งได้นำเข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ตามเดิม ท่านพระอาจารย์ทา วัดพระคงฤาษี กล่าวว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ครูบาคัมภีระได้พบพระคงที่ถูกฝังจมเดินเรี่ยราดในบริเวณอุปจารของวัด (บริเวณรอบวัด หรือบริเวณใกล้ ๆ รอบวัด, บริเวณที่ดินที่ติดกับวัด) ท่านจึงได้รวบรวมพระคงได้นับพันองค์จากนั้นได้นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์พระคงและที่ใต้พื้นพระอุโบสถ (ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก น่าจะที่ตั้งพระประธาน)
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการเปิดกรุพระคงเพื่อแจกเป็นขวัญกำลังใจให้ทหารในกองทัพพายัพซึ่งได้มาตั้งฐานทัพอยู่ในเมืองลำพูนขณะนั้น
ต่อมา ได้มีการเปิดกรุพระคงครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางวัดพระคงฤาษีได้ทำการซ่อมพื้นที่พระอุโบสถได้พบพระคงสีต่าง ๆ จำนวนมากนับหมื่นองค์ พระคงที่นำออกในครั้งนี้เรียกว่า พระคงกรุใหม่ และทางวัดได้นำพระคงที่พบนั้นออกให้เช่าบูชาเพื่อนำรายได้บูรณะอุโบสถด้วย
พระคงเป็นพระพิมพ์ที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด มีความงดงามอีกพิมพ์หนึ่งในบรรดาพระเครื่องสกุลลำพูนด้วยกันทั้งหมด เป็นพระเนื้อดิน องค์พระพุทธเป็นปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานบัวเม็ดเรียงอยู่ด้านหน้าใต้ซุ้มโพธิ์ เป็นพระพิมพ์ที่สร้างได้อย่างงดงาม
สันนิษฐานว่า พระคงน่าจะสร้างในยุคสมัยเดียวกันกับพระรอด คือประมาณเมื่อ 1200-1300 ปีมาแล้ว (ประมาณ ศตวรรษที่ 13-14 ) แต่ผมรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมจึงพบเจอพระคงง่ายกว่าพระรอด หรือเพราะว่าพระรอดเป็นพระเครื่องในชุดเบญจภาคี หรือเพราะพระรอดมีราคาแพง หรือต้องการให้พระรอดมีราคาแพงจึงต้องเป็นพระเครื่องหายาก
พุทธคุณพระคง
โดยส่วนตัวผม เชื่อว่าพระคงน่าจะมีพุทธคุณไม่แตกต่างจากพระสกุลลำพูนอื่น ๆ มีพระรอดเป็นต้น เชื่อว่าพุทธคุณโดดเด่นด้านแคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันภัย คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยมตามแบบพระพุทธทั่วไป