คำว่า “กายสิทธิ์” “ธนสิทธิ์” “ทนสิทธิ์” ผมได้ยินในวงการพระเครื่อง เครื่องรางของขลังบ่อย ๆ โดยมากพูดตาม ๆ กัน แต่ไม่ค่อยรู้จักที่มาของคำ บางคนไม่รู้ด้วยว่าต้องอ่านว่าอย่างไร แต่ก็อยากพูด เพราะพูดแล้วเหมือนเป็นคนมีความรู้ดี มีความน่าเชื่อถือ
สิทธิ อ่านว่า สิด-ทิ เติมการันต์ ( ์ ) ที่ -ธิ อ่านว่า สิด แปลตามตัวอักษรตามความหมายเดิมของภาษาบาลีว่า “ความสำเร็จ” ผมจะไม่นำความหมายจากพจนานุกรมอื่น ๆ มากล่าวนะครับ เพราะตามพจนานุกรม โดยมากให้ความหมายมากกว่าการแปลตามศัพท์เดิม และให้ความหมายจากการนำมาใช้ในภาษานั้น ๆ เช่น หากนำ สิทธิ์ มาใช้ในภาษาไทย อาจจะหมายถึง “อำนาจอันชอบธรรม”
กายสิทธิ์ เป็นคำสมาสบาลี+บาลี มาจากคำว่า กาย+สิทธิ เขียนแบบไทยว่า กายสิทธิ์ อ่านว่า กาย-ยะ-สิด แปลว่า ความสำเร็จทางกาย หากนำมาใช้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ก็จะหมายถึง เครื่องรางที่มีคุณทางด้านคุ้มครองกาย ซึ่งแล้วแต่เครื่องรางนั้น ๆ จะแสดงคุณออกมา เช่น แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี หนังเหนียว ยิงไม่ออก ยิงไม่เข้า ฟันไม่ระคายผิว ซึ่งเป็นลักษณะของการคุ้มครองทางกายทั้งนั้น
ธนสิทธิ์ เป็นคำสมาสบาลี มาจากคำว่า ธน (อ่านว่า ธะนะ แปลว่าทรัพย์)+สิทธิ เขียนแบบไทยว่า ธนสิทธิ์ อ่านว่า ทะ-นะ-สิด แปลว่า ความสำรวจทางทรัพย์, ความสำเร็จซึ่งทรัพย์, ความสำเร็จในทรัพย์ ได้ทั้งนั้น หากนำมาใช้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ก็จะหมายถึง เครื่องรางที่มีคุณทางเรียกทรัพย์ ส่งเสริมโภคทรัพย์ ส่งเสริมลาภ ส่งเสริมการทำมาหากินเลี้ยงชีพ
“ทนสิทธิ์” แปลว่าอะไร มาจากไหน อ่านว่าอย่างไร
ทนสิทธิ์ คำนี้ยังไม่มีในพจนานุกรมไทย ทน จะอ่านว่า ทน หรือ ทะนะ ก็ตาม เท่าที่ทราบไม่มีในภาษาบาลี ฉะนั้น ทน (อ่านว่า ทน) จึงน่าจะเป็นภาษาไทย
ทน ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
เป็นกิริยา แปลว่า อดกลั้นได้ ทานอยู่ได้ เช่น ทนด่า ทนทุกข์ ทนหนาว ไม่แตกหักหรือบุบสลายง่าย เช่น ของดีใช้ทน ไม้สักทนกว่าไม้ยาง.
เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า แข็งแรง มั่นคง เช่น ฟันทน อึด เช่น วิ่งทน ดํานํ้าทน.
ทนสิทธิ์ จึงเป็นคำสมาส ไทย+บาลี ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก โดยมากคำสมาสจะเป็นบาลีหรือสันสกฤตทั้งหมด ตอนนี้เข้าใจว่า คำว่า ทนสิทธิ์ ตกอยู่ในภาษาพูดในกลุ่มเฉพาะมากกว่าภาษาเขียน เหมือนคำว่า “อารามบอย” (อารามะ+บอย)เป็นคำสมาสบาลี+อังกฤษ ซึ่งโดยมากใช้เป็นภาษาพูดหรือภาษาแสดงตลกมากกว่า
ทนสิทธิ์ หากจะอ่าน ควรอ่านตามเสียงเดิม คือ ทน (อ่านว่า ทน) + สิทธิ์ (อ่านว่า สิด)
ทนสิทธิ์ อ่านว่า ทน-สิด แต่จะขัดกับการออกเสียงของคนไทย จึงอ่านว่า ทน-นะ-สิทธิ์ (หรืออาจจะเข้ากฎอื่นก็ได้ ผมไม่แน่ใจ) เทียบได้กับคำสมาสเหล่านี้
คำสมาสบาลี+ไทย คุณค่า = คุณ ภาษาบาลีอ่านว่า คุ-นะ อ่านแบบไทยว่า คุน + ค่า ภาษาไทยอ่านว่า ค่า เป็น คุณค่า อ่านว่า คุน-ค่า หรือ คุน-นะ-ค่า
คำสมาสบาลี+ไทย พลเรือน = พล ภาษาบาลีอ่านว่า พะละ อ่านตามแบบไทยว่า พน + เรือน ภาษาไทย อ่านว่า เรือน เป็น พลเรือน อ่านว่า พน-ละ-เรือน
อีกคำเป็นสมาสที่เป็นภาษาไทย+บาลี ทุนทรัพย์ = ทุน ภาษาไทยอ่านว่า ทุน + ทรัพย์ ภาษาสันสกฤต อ่านว่า ซับ เป็น ทุนทรัพย์ อ่านว่า ทุน-นะ-ซับ
ทนสิทธิ์ ถ้าแปลตรงตัว น่าจะแปลว่า ความสำเร็จทน หรือความสำเร็จที่ต้องทน เพราะคำว่าทนใช้เป็นคำวิเศษณ์ของสิทธิ์ซึ่งเป็นคำนาม
ทนสิทธิ์ หากจะแปลเพื่อให้เข้ากับเครื่องรางของขลัง ก็คงต้องแปลว่า ความสำเร็จทางด้านคงทน หมายถึงเครื่องรางที่ให้คุณทางด้านคงทน คงกระพันชาตรี ซึ่งก็จะจัดเข้าในกลุ่มเครื่องราง “กายสิทธิ์” คือคุ้มครองกายนั่นเอง
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายคำที่ลงท้ายด้วยสิทธิ์ หากนำมาใช้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ก็จะได้ความหมาย ดังต่อไปนี้
ชยสิทธิ์ เครื่องรางที่มึคุณส่งเสริมด้านชัยชนะ ข่มศัตรู ชนะคู่กรณี มหาระงับ
วาจาสิทธิ์ ไม่ค่อยมีใครนำมาใช้กับเครื่องรางเท่าไหร่ เห็นแต่ใช้กับคาถาอาคม แต่ก็สามารถใช้กับเครื่องรางที่ส่งเสริมการพูดแล้วให้คนหลงใหลคล้อยตามได้ เช่น นกสาลิกา สีผึ้งวาจาสิทธิ์ทั้งหลาย
มโนสิทธิ์ เครื่องรางส่งเสริมการขอพรหรือการอธิษฐานให้เป็นไปตามความปรารถนา