
คำว่า “กายสิทธิ์” “ธนสิทธิ์” “ทนสิทธิ์” ผมได้ยินในวงการพระเครื่อง เครื่องรางของขลังบ่อย ๆ โดยมากพูดตาม ๆ กัน แต่ไม่ค่อยรู้จักที่มาของคำ บางคนไม่รู้ด้วยว่าต้องอ่านว่าอย่างไร แต่ก็อยากพูด เพราะพูดแล้วเหมือนเป็นคนมีความรู้ดี มีความน่าเชื่อถือ
สิทธิ อ่านว่า สิด-ทิ เติมการันต์ ( ์ ) ที่ -ธิ อ่านว่า สิด แปลตามตัวอักษรตามความหมายเดิมของภาษาบาลีว่า “ความสำเร็จ” ผมจะไม่นำความหมายจากพจนานุกรมอื่น ๆ มากล่าวนะครับ เพราะตามพจนานุกรม โดยมากให้ความหมายมากกว่าการแปลตามศัพท์เดิม และให้ความหมายจากการนำมาใช้ในภาษานั้น ๆ เช่น หากนำ สิทธิ์ มาใช้ในภาษาไทย อาจจะหมายถึง “อำนาจอันชอบธรรม”
กายสิทธิ์ เป็นคำสมาสบาลี+บาลี มาจากคำว่า กาย+สิทธิ เขียนแบบไทยว่า กายสิทธิ์ อ่านว่า กาย-ยะ-สิด แปลว่า ความสำเร็จทางกาย หากนำมาใช้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ก็จะหมายถึง เครื่องรางที่มีคุณทางด้านคุ้มครองกาย ซึ่งแล้วแต่เครื่องรางนั้น ๆ จะแสดงคุณออกมา เช่น แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี หนังเหนียว ยิงไม่ออก ยิงไม่เข้า ฟันไม่ระคายผิว ซึ่งเป็นลักษณะของการคุ้มครองทางกายทั้งนั้น
ธนสิทธิ์ เป็นคำสมาสบาลี มาจากคำว่า ธน (อ่านว่า ธะนะ แปลว่าทรัพย์)+สิทธิ เขียนแบบไทยว่า ธนสิทธิ์ อ่านว่า ทะ-นะ-สิด แปลว่า ความสำรวจทางทรัพย์, ความสำเร็จซึ่งทรัพย์, ความสำเร็จในทรัพย์ ได้ทั้งนั้น หากนำมาใช้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ก็จะหมายถึง เครื่องรางที่มีคุณทางเรียกทรัพย์ ส่งเสริมโภคทรัพย์ ส่งเสริมลาภ ส่งเสริมการทำมาหากินเลี้ยงชีพ
ทนสิทธิ์ คำนี้ยังไม่มีในพจนานุกรมไทย ทน จะอ่านว่า ทน หรือ ทะนะ ก็ตาม เท่าที่ทราบไม่มีในภาษาบาลี ฉะนั้น ทน (อ่านว่า ทน) จึงน่าจะเป็นภาษาไทย
ทน ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
เป็นกิริยา แปลว่า อดกลั้นได้ ทานอยู่ได้ เช่น ทนด่า ทนทุกข์ ทนหนาว ไม่แตกหักหรือบุบสลายง่าย เช่น ของดีใช้ทน ไม้สักทนกว่าไม้ยาง.
เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า แข็งแรง มั่นคง เช่น ฟันทน อึด เช่น วิ่งทน ดํานํ้าทน.
ทนสิทธิ์ จึงเป็นคำสมาส ไทย+บาลี ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก โดยมากคำสมาสจะเป็นบาลีหรือสันสกฤตทั้งหมด ตอนนี้เข้าใจว่า คำว่า ทนสิทธิ์ ตกอยู่ในภาษาพูดในกลุ่มเฉพาะมากกว่าภาษาเขียน เหมือนคำว่า “อารามบอย” (อารามะ+บอย)เป็นคำสมาสบาลี+อังกฤษ ซึ่งโดยมากใช้เป็นภาษาพูดหรือภาษาแสดงตลกมากกว่า
ทนสิทธิ์ หากจะอ่าน ควรอ่านตามเสียงเดิม คือ ทน (อ่านว่า ทน) + สิทธิ์ (อ่านว่า สิด)
ทนสิทธิ์ อ่านว่า ทน-สิด แต่จะขัดกับการออกเสียงของคนไทย จึงอ่านว่า ทน-นะ-สิทธิ์ (หรืออาจจะเข้ากฎอื่นก็ได้ ผมไม่แน่ใจ) เทียบได้กับคำสมาสเหล่านี้
คำสมาสบาลี+ไทย คุณค่า = คุณ ภาษาบาลีอ่านว่า คุ-นะ อ่านแบบไทยว่า คุน + ค่า ภาษาไทยอ่านว่า ค่า เป็น คุณค่า อ่านว่า คุน-ค่า หรือ คุน-นะ-ค่า
คำสมาสบาลี+ไทย พลเรือน = พล ภาษาบาลีอ่านว่า พะละ อ่านตามแบบไทยว่า พน + เรือน ภาษาไทย อ่านว่า เรือน เป็น พลเรือน อ่านว่า พน-ละ-เรือน
อีกคำเป็นสมาสที่เป็นภาษาไทย+บาลี ทุนทรัพย์ = ทุน ภาษาไทยอ่านว่า ทุน + ทรัพย์ ภาษาสันสกฤต อ่านว่า ซับ เป็น ทุนทรัพย์ อ่านว่า ทุน-นะ-ซับ
ทนสิทธิ์ ถ้าแปลตรงตัว น่าจะแปลว่า ความสำเร็จทน หรือความสำเร็จที่ต้องทน เพราะคำว่าทนใช้เป็นคำวิเศษณ์ของสิทธิ์ซึ่งเป็นคำนาม
ทนสิทธิ์ หากจะแปลเพื่อให้เข้ากับเครื่องรางของขลัง ก็คงต้องแปลว่า ความสำเร็จทางด้านคงทน หมายถึงเครื่องรางที่ให้คุณทางด้านคงทน คงกระพันชาตรี ซึ่งก็จะจัดเข้าในกลุ่มเครื่องราง “กายสิทธิ์” คือคุ้มครองกายนั่นเอง
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายคำที่ลงท้ายด้วยสิทธิ์ หากนำมาใช้เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ก็จะได้ความหมาย ดังต่อไปนี้
ชยสิทธิ์ เครื่องรางที่มึคุณส่งเสริมด้านชัยชนะ ข่มศัตรู ชนะคู่กรณี มหาระงับ
วาจาสิทธิ์ ไม่ค่อยมีใครนำมาใช้กับเครื่องรางเท่าไหร่ เห็นแต่ใช้กับคาถาอาคม แต่ก็สามารถใช้กับเครื่องรางที่ส่งเสริมการพูดแล้วให้คนหลงใหลคล้อยตามได้ เช่น นกสาลิกา สีผึ้งวาจาสิทธิ์ทั้งหลาย
มโนสิทธิ์ เครื่องรางส่งเสริมการขอพรหรือการอธิษฐานให้เป็นไปตามความปรารถนา