นะโม หรือ นโม นั้น เขียนได้ ๒ แบบ ถ้าเขียนแบบไทย ๆ เรา เพื่อให้อ่านง่าย ก็ต้องใส่สระเข้าไปทุกตัวอักษร แต่ถ้าเขียนแบบบาลี สระ อะ หรือ ะ จะไม่ปรากฎรูป ความรู้เบื้องต้นตามหลักการเขียนภาษาบาลีพยัญชนะทุกตัวจะออกเสียงเองไม่ได้ ไม่มีเสียงในตัวเอง เมื่อมีสระอาศัยอยู่ จึงมีเสียง ฉะนั้น ถ้าพยัญชนะตัวไหนอยู่ลอย พึงเข้าใจว่า มีสระอาศัยอยู่ เช่น น ม พ ท อ่านว่า นะ มะ พ ทะ หรือ นโม ก็อ่านว่า นะโม เป็นต้น บทความขอเขียนด้วยคำว่า นโม ตามที่มาเดิม
การตั้ง นโม เป็นกิจกรรมเบื้องต้นของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างเถรวาท ผู้จะบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พึงเปล่งวาจาว่า นโม ก่อน แล้วจึงจะทำกิจนั้น ๆ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ เมื่อจะทำกิจสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น บรรพชาอุปสมบท หรือเริ่มการสักการบูชา ก็กล่าวคำนมัสการว่า “นโม” ก่อน แล้วจึงจะทำกิจนั้น ๆ
คำว่า “นโม” แต่เดิมเป็นคำอุทาน คือเปล่งวาจาออกมาด้วยความเลื่อมใสเบิกบานใจในพระคุณมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น หรือบางทีผู้นั้นมีความเลื่อมใสจับใจอยู่แล้ว มีเหตุมากระทบทำให้ตกใจ จึงได้อุทานว่า “นโม” เป็นต้น ข้อนี้เหมือนอย่างที่ฝรั่งมักจะอุทานว่า “My God” อย่างนี้เป็นต้น
นโม ในพระไตรปิฎก หรือในพระบาลี
ผู้ที่เคยเปล่งวาจา “นโม” นั้น ในพระบาลีกล่าวไว้ ๔ แห่ง คือ ในสักกปัณหสูตร ธรรมเจตียสูตร พรหมายุสูตร และ ธนัญชานีสูตร (คำว่าสูตร เป็นชื่อของพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ อันมีปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎก แต่เดิมนั้นคงไม่ได้มีการตั้งชื่อสูตรไว้ เข้าใจว่ามีการเรียกชื่อสูตรในสมัยที่ทำปฐมสังคายนา การเรียกชื่อพระสูตร เรียกตามเหตุการณ์บ้าง เช่น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เรียกตามเนื้อหาบ้าง เช่น อนัตตปริยายสูตร เรียนตามบุคคลที่เป็นตัวเอกในเรื่องบ้าง เช่น สิงคาลกสูตร เรียกตามสถานที่ที่ทรงแสดงธรรมบ้าง เช่น เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร))
ในสักกปัณหสูตร เล่าว่า ครั้งหนึ่งพระศาสดาประทับอยู่ ณ อินทศาลคูหา ภูเขาเวทยิกบรรพต ท้าวสักกะพร้อมด้วยเทวบริวารเป็นจำนวนมาก เสด็จมาเฝ้าทูลถามปัญหา พระศาสดาทรงชี้แจงให้ท้าวเธอสิ้นสงสัย ท้าวสักกะมีพระทัยโสมนัสยินดียิ่ง ทรงเปล่งพระอุทานว่า “นโม” เป็นต้น
ในธรรมเจตียสูตร เล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวธรรมเจติยปริยายแสดงความเลื่อมใส จบแล้วทรงเปล่งอุทานว่า “นโม” เป็นต้น
ในพรหมายุสูตร เล่าว่า อาจารย์ใหญ่ของพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อ พรหมายุ เป็นผู้มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี อยู่ ณ เมืองมิถิลานคร ได้ฟังกิตติศัพท์สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้ส่งมาณพคนหนึ่งชื่อ อุตรมาณพ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ ไปสืบความดูให้รู้แน่ว่าพระองค์จะทรงพระคุณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงดังคำเล่าลือหรือไม่ อุตรมาณพไปเฝ้าพิจารณาดูมหาบุรุษลักษณะในพระกาย เห็นครบถ้วนตามตำราในลักษณมนต์ แต่ยังเฝ้าสะกดรอยดูพระอิริยาบถอยู่อีก ๗ เดือน จึงกลับไปบอกเล่าให้อาจารย์พรหมายุฟัง
เมื่อพรหมายุได้ฟังแล้ว เกิดความเลื่อมใส ลุกขึ้นจากอาสนะทำผ้าห่มเฉียงบ่า ยกมืออัญชลีประณม ผันหน้าสู่ทิศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ เปล่งอุทานว่า “นโม” เป็นต้น ด้วยความเลื่อมใส
ในธนัญชานีสูตร เล่าว่า นางธนัญชานีพราหมณี เป็นพระโสดาบันอริยสาวิกา พราหมณ์ผู้เป็นสามีขอให้งดคำว่า นโม ในวันเลี้ยงพวกพราหมณ์ แต่ในขณะที่นางยกภาชนะใส่ข้าวปายาสพลัดมือตกลง นางก็อุทานด้วยความตกใจว่า “นโม ตสฺส” ทำให้พราหมณ์ผู้เป็นสามีโกรธเคืองเป็นอย่างมาก
ส่วนที่ว่า ใครจะเป็นผู้กล่าว “นโม” ขึ้นก่อนนั้น ยืนยันไม่ได้ เพราะในพระสูตรไม่ได้ระบุไว้แน่ชัด เพียงแต่อ้างว่า ครั้งหนึ่ง สมัยหนึ่ง เท่านั้น
นโม อรรถกถา
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เด็กคนหนึ่งในแคว้นมคธไปหลงทางในป่า เวลากลางคืนต้องนอนที่โคนไม้ ครั้นเวลาดึก มีอมนุษย์ ( อาจจะหมายถึงปีศาจ ยักษ์ หรือมนุษย์ด้วยกันเองที่มีนิสัย มีความประพฤติไม่เหมือนทั่วไป อาจเป็นคนที่เลวหรือทำชั่วมากกว่าคนอื่น สามารถพูดได้ว่า คนนี้เป็นอมนุษย์ มีจิตใจโหดร้ายไม่ใช่คน) ตนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเด็กกำลังนอนหลับอยู่ ก็ตรงเข้าดึงขาเพื่อจะกินเป็นอาหาร เด็กตื่นขึ้นตกใจ ร้องว่า “นโม ตสฺส” พออมนุษย์ได้ยินดังนั้น ก็ตกใจปล่อยเด็ก แล้วรีบหนีไป นี้เป็นเรื่องเล่าในชั้นอรรถกถา หลังจากพระบาลี ๔ พระสูตรที่กล่าวข้างต้น
นโม ในคัมภีร์ฎีกา (ฎีกา นโม)
คัมภีร์ฎีกา คือคัมภีร์ที่อธิบายความในคัมภีร์อรรถกถาของอรรถกถาจารย์ที่ได้ไขความในพระไตรปิฎกไว้ คัมภีร์ชั้นฎีกาจัดเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์อรรถกถาที่ขยายความในพระไตรปิฎก เรียกว่า คัมภีร์ชั้นสาม ในฎีกานโมมีเนื้อความว่า
นโม สาตาคิรี ยกฺโข ตสฺส จ อสุรินฺทโก
ภควโต มหาราชา สกฺโก อรหโต ตถา
สมฺพุทฺธสฺส มหาพฺรหฺมา เอเต ปญฺจ นมสฺสเร
แปลว่า…
สาตาคีรียักษ์กล่าวว่า “นโม”
อสุรินทราหูว่า “ตสฺส”
ท้าวจตุมหาราชว่า “ภควโต”
ท้าวสักกะว่า “อรหโต”
และท้าวมหาพรหมว่า “สมฺพุทฺธสฺส”
ท่านทั้ง ๕ นี้ ได้กล่าวถวายบังคม สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า (ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าเป็นการเรียงผู้ที่กล่าว นโม จากผู้ที่มีศักดิ์น้อยไปยังผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่า เป็นความตั้งใจให้เป็นแบบนั้นหรือไม่) ดังนี้ เนื้อความของ “นโม” นั้นว่า…
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตำรานี้ว่าท่านทั้ง ๕ ได้กล่าว นโม เป็นหนแรกใน โลก แต่เมื่อคำนึงว่า หนังสือประเภทฎีกานั้นมีอายุภายหลังพระบาลีมาก ก็ทำให้ฟังเอาเป็นแน่ไม่ได้
นโม กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม
มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาราธนาพระเถรานุเถระให้ค้นหาพุทธวจนะที่แปลก เป็นข้อสอนเตือนสติผู้ได้พบเห็น เป็นข้อความสั้น ๆ เพื่อให้จดจำง่าย นัยว่าจะโปรดให้คัดติดไว้ในที่ต่าง ๆ ในบริเวณพระราชฐาน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ก็ได้รับอาราธนาด้วย ท่านเขียนคำว่า “นโม” ใส่กระดาษส่งเข้าไปถวาย พร้อมทั้งถวายพระพรว่า ธรรมะสูง ๆ และลึกซึ้ง พระเถรานุเถระที่เป็นพระธรรมกถึก มีความรู้ดี แตกฉานในพระสุตตันตปิฎก คงจะคัดส่งเข้ามาถวายหมดแล้ว เหลือแต่ “นโม” คำนี้ไม่มีใครนึกถึง …เรื่องที่เล่ามาเป็นทำนองนี้
นโม กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือมุตโตทัย ถึงที่มาของ “นโม”
เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใด ๆ ก็ดีจึงต้องตั้ง นโม ก่อนจะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย……
นะ คือ ธาตุน้ำ ซึ่งมาจากแม่
โม คือ ธาตุดิน ซึ่งมาจากพ่อ
ทั้งสองธาตุนี้ผสมกันจึงเกิดเป็นตัวเรา โดยมีธาตุไฟและธาตุลมเข้ามาอาศัยภายหลัง นโม จึงสำคัญเพราะเป็นธาตุตั้งต้น และเมื่อครั้งหมดธาตุลมและธาตุไฟ ทุกอย่างก็จะสลายคืนธรรมชาติ……
พระอาจารย์เจ้าแต่โบราณทั้งลาย ตั้ง นะโม นมัสการไว้ก่อนนั้น เพื่อปรารถนาเหตุ ๔ ประการ คือ:-
๑. ปรารถนาจะให้นักปราชญ์ทั้งหลายทราบว่า ประพฤติอย่างนี้ใกล้ต่อวงศ์แห่งพระอริยะผู้ประเสริฐ
๒. เพื่อป้องกันสรรพอันตราย
๓. เพื่อจะชำระสันดานให้หมดจด
๔. เพื่อจะให้ชีวิตอิทรีย์ของตนเป็นแก่นสาร
นโม ใคร ๆ ก็กล่าวได้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี ใครจะกล่าวก่อนหรือกล่าวทีหลัง ก็ไม่น่าจะถือเป็นข้อกังวล ใคร ๆ ก็ว่า “นโม” กันทั้งนั้น จนกลายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ควรประมาท พิธีการที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์ นิยมว่าต้องสวดนโม ๘ บท ที่เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกจากนั้น เกจิอาจารย์ในทางเครื่องรางของขลัง ได้จัดทำแหวนชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า “แหวนนโม” นัยว่าเมื่อสวมแหวนนโมประจำอยู่แล้ว สามารถป้องกันอันตรายได้ดี เป็นที่นิยมเชื่อถือกันอยู่
อนึ่ง ในสมัยก่อน มีคาถาอยู่บทหนึ่ง เป็นคาถาสำหรับว่าเวลาลงอาบน้ำในแม่น้ำ (สมัยนั้นห้องน้ำยังไม่มีใครรู้จัก) คาถานั้นยึด นโม เป็นหลัก เช่นว่า
“นโม นมัตถ์ ขจัดออกไป สัตว์ร้ายอย่าใกล้กายามณฑล”
ทำนองนี้ นัยว่าเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายในแม่น้ำลำคลอง เช่น จระเข้ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คำ “นโม” จึงกลายเป็นคำบอกความเคารพความเลื่อมใส หรือเป็นคำนมัสการ เป็นคำที่มีอำนาจ มีตบะเดชะ เป็นเครื่องช่วยกำลังใจได้อย่างดีในเวลาเผชิญอันตราย
ส่วนคำอุทานในเวลาตกใจเสียใจ หรือปลงธรรมสังเวช ใช้เอ่ยนามพระพุทธเจ้าโดยตรงทีเดียว เช่นที่ว่า “พุทโธ่ ๆ” บางทีก็ว่า “อพิโธ่” บางทีก็ว่า “ปั๊ดโธ่” หรือ “ปู้โธ่” บางรายก็ว่า “พิโธ่ พิถัง” อะไรเหล่านี้ ก็น่าจะเลอะ เลือนมาจากคำว่า “พุทฺโธ พุทฺธํ” (พุทโธ พุทธัง) ทั้งนั้น
อานิสงส์การสวดบทนมัสการพระพุทธเจ้า
๑. น้อมใจจนให้เกิดความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณที่พระพุทธเจ้ามีต่อตน ให้รู้สึกว่าตนได้ดิบได้ดี อยู่เย็นเป็นสุข ไกลทุกข์เดือดร้อน ก็เพราะมีพระพุทธเจ้าสอนไว้ ให้มีใจปฏิบัติตาม
๒. ให้รู้สึกว่าได้คบหาสมาคมกับพระพุทธเจ้าด้วยใจ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของใจ นึกถึงพระพุทธเจ้าครั้งใด พระพุทธเจ้าก็ปรากฏที่ใจทุกครั้ง
๓. ให้การปฏิบัตินั้นสำเร็จเป็นปฏิบัติตามพระพุทธองค์ ย่อมได้เป็นผู้เบิกบาน หายงมงาย ชนเหล่าใดระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดมบรมศาสดา ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
ที่มา : หนังสือ ภาษาวัด