วิธีนั่งสมาธิภาวนา ตามแบบหลวงปู่มั่น
วิธีนั่งสมาธิภาวนา
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน องค์ท่านเมตตาสอนว่า การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจ คือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง
การนั่งสมาธิภาวนา คือการทำจิตใจของตนให้ตั้งมั่น ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส ทำใจให้สงบสบาย หลวงปู่มั่น องค์ท่านกล่าวว่า การภาวนา คือการอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุขใจ ที่ยังมิได้รับการอบรมจากการภาวนา
ก่อนอื่นที่เราจะนั่งสมาธิภาวนา ให้หาสถานที่อันเป็นมุมสงบ นั่งเข้าที่เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น ไม่เอียงซ้ายนัก ไม่เอียงขวานัก ไม่ก้มนัก ไม่เงยนัก ทำตัวให้สบายๆ ดูท่าการประทับนั่งของพระพุทธรูปเป็นแบบอย่าง (หากไม่สะดวกที่จะนั่งอยู่ขัดสมาธิอยู่กับพื้น ก็ให้นั่งบนเก้าอี้หรืออะไรก็ได้ตามแต่สะดวก) เราเริ่มฝึกหัดนั่งใหม่ๆ อาจจะปวดแข้งเจ็บขาบ้างเป็นธรรมดา แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ให้พยายามอดทนต่อสู้กับเวทนาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น หากสู้ไม่ไหวจริงๆ ให้สลับสับเปลี่ยนอิริยาบถ ออกไปเดินจรงกรมเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวด
เมื่อนั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ให้กล่าวคำอธิษฐานภาวนา เพื่อเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระสงฆ์ กล่าวตามดังนี้
สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระสงฆ์ บูชาคุณบิดามารดา บูชาคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลาย ขอจงเป็นพลวปัจจัยแด่พระนิพพานของข้าพเจ้า และขอให้ข้าพเจ้ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้แจ้งถึงพระนิพพาน เอาชนะกิเลสความไม่ดีทั้งหลายที่อยู่ภายในใจได้ตลอดกาลนานเทอญ
ภายหลังจากที่กล่าวคำอธิษฐานเสร็จ ให้กำหนดคำบริกรรมภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าว่า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า ธัม หายใจออก โม หายใจเข้า สัง หายใจออก โฆ และให้ระลึกคำบริกรรมภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ หน แล้วให้ระลึกเอาคำบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ แต่เพียงคำเดียว โดยตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้า พุท ก็กำหนดรู้ ลมหายใจออก โธ ก็กำหนดรู้ สติกำหนดอยู่กับคำบริกรรมภาวนา หากจิตคิดแส่สายไปทางอื่น ก็ดึงจิตกลับมาให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น หากยังไม่ได้ผล ให้เร่งคำบริกรรมภาวนาเร็วๆ พุทโธๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ให้หมั่นกระทำบำเพ็ญอยู่เป็นประจำ การทำครั้งสองครั้งอยากจะให้จิตสงบก็เป็นไปได้ยาก หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมักจะสอนลูกศิษย์ที่มานั่งสมาธิภาวนากับองค์ท่านเสมอว่า เหมือนกะเราปลูกต้นไม้ เราต้องรักษาต้นรักษาโคนมัน ใส่ปุ๋ยรดน้ำ โคนมันดีต้นมันก็ต้องดี ดอกผลไม่มีใครบังคับมันเกิดเอง ต้นมันดีดอกผลมันดี อันนี้เอาอะไรเป็นต้น คือดวงใจเป็นต้น เมื่อใจเราดีแล้ว ทำอะไรก็ดี หาอะไรก็ดี เมื่อใจไม่ดีแล้ว นึกพุทโธ พุทโธ ตัดมันเสีย
คำบริกรรมภาวนานั้นจะใช้บทใดก็ได้ตามความชอบ บางท่านจะใช้กรรมฐานห้าเป็นคำบริกรรม คือ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง) หรือระลึกมรณัสสติเป็นอารมณ์ คือ ตาย ตาย ตาย ฯลฯ
ที่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนให้ใช้คำบริกรรมภาวนาบทว่า พุทโธ นั้น เพื่อต้องการให้น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาไว้ที่ใจ ธัมโม น้อมเอาคุณของพระธรรมเจ้ามาไว้ที่ใจ สังโฆ น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาไว้ที่ใจ ท่านถึงว่า พระอยู่ที่ใจ คือมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเรานั่นเอง
เมื่อจะเลิกจากการนั่งสมาธิภาวนา ให้ยกมือประนมขึ้นระหว่างคิ้วตรงศีรษะครั้งหนึ่ง พร้อมกับกล่าวคำว่า สาธุ ภายในใจ ต่อจากนั้นตั้งใจแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ครั้นเมื่ออธิษฐานเสร็จ ก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้กระทำบำเพ็ญในครั้งนี้ ไปให้กับผู้มีอุปการะคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย กล่าวตามดังนี้
ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิภาวนา ข้าพเจ้าขอแผ่ส่วนบุญไปให้แก่บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย เทวาอารักษ์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย พระอินทร์ พระพรหม ยม ยักษ์ ครุฑ คนธรรภ์ กุมภัณฑ์ นาคทั้งหลาย รุกขเทวดา อากาศเทวดา ภุมเทวดา เปรต ผี อสุรกายทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิตอยู่และหามีชีวิตไม่ ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ อย่าได้มีเวรมีภัย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงอยู่เป็นสุขเสมอเถิด ขอจงได้รับส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำบำเพ็ญในครั้งนี้ด้วยเทอญ.
วิธีเดินจงกรม
การเดินจงกรม คือการเดินภาวนา เพื่อเป็นอุบายให้สงบใจ เดินกลับไปกลับมาพร้อมกับกำหนดคำบริกรรมภาวนาเหมือนวิธีการนั่งสมาธิ คำอธิษฐานก็ใช้แบบเดียวกัน เปลี่ยนแต่ตรงคำว่า นั่งสมาธิภาวนา เป็น เดินจงกรมภาวนา เวลาจะเดินจงกรม ให้กำหนดทิศทางที่จะเดิน แล้วไปยืนตรงต้นทาง ยกมือประนมขึ้นระหว่างคิ้วกล่าวคำอธิษฐาน ครั้นจบแล้ววางมือลง เอามือขวาทับมือซ้ายวางทาบไว้ใต้สะดือ ทอดตาลงเบื้องต่ำไม่แลซ้ายแลขวา ทำท่าสำรวมกาย ก้าวเดินขาขวาบริกรรมคำภาวนาว่า พุท ก้าวเดินขาซ้ายบริกรรมคำภาวนาว่า โธ บริกรรมภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ หนแล้ว ให้กำหนดเอาคำบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ แต่เพียงคำเดียว ครั้นพอถึงปลายทางที่เรากำหนดไว้แล้ว หมุนตัวกลับไปทางขวามือ เดินภาวนากลับไปกลับมา การกำหนดคำบริกรรมภาวนานั้น จะกำหนดอยู่ที่เท้าเวลาเดินก็ได้ หรือกำหนดไว้ในใจก็ได้ตามชอบ ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับแต่ประการใด
ส่วนการกำหนดทิศทางเดินจงกรมนั้น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านกล่าวไว้ว่า ทางเดินจงกรมตามที่ท่านกำหนดรู้ไว้ และปฏิบัติตามเรื่อยมานั้นมีสามทิศด้วยกัน คือตรงไปตามแนวตะวันออก ตะวันตกหนึ่ง ไปตามแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้หนึ่ง และไปตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่ง การเดินจงกรมก็เดินไปตามแนวทั้งสามที่กำหนดไว้ในแนวใดแนวหนึ่ง
ความสั้นยาวของทางจงกรมแต่ละสายนั้น ท่านว่าตามแต่ควรสำหรับรายนั้นๆ ไม่ตายตัว กำหนดเอาเองได้ตามสมควร แต่อย่างสั้นท่านว่าไม่ควรให้สั้นกว่าสิบก้าว สำหรับเวลาอยู่ในที่จำเป็นหาทางเดินมิได้ การเดินไม่พึงเดินไกวแขน ไม่พึงเดินเอามือขัดหลัง ไม่พึงเดินเอามือกอดอก ไม่พึงเดินมองโน้นมองนี้อันไม่เป็นท่าสำรวม
การนั่งสมาธิภาวนา หรือการเดินจงกรมนั้น เราจะทำที่ไหนก็ได้ ที่วัด ที่บ้าน ในที่ทำงาน ในร้านอาหาร ในช๊อปปิ้งมอลล์ ทำการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ทำภาวนาได้ทั้งนั้น มีสติระลึกขึ้นมาได้ก็กำหนด พุทโธ ทันทีเลยไม่ต้องรอให้เสียเวล่ำเวลา ก้าวขาขวา พุท ก้าวขาซ้าย โธ เรียกว่าภาวนาได้ทุกเมื่อไม่มีกาลเวลา จึงสมดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีฤดู ทำได้เสมอ
ขอจบลงด้วยโอวาทธรรมของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เมื่อเหล่าท่านทั้งหลายได้พากันสดับตรับฟังแล้ว ในโอวาทศาสนีย์ธรรมะคำสั่งสอนนี้ ซึ่งแสดงโดยย่นย่อพอเป็นเครื่องปฏิบัติ ประดับสติปัญญาบารมีของท่านทั้งหลาย ให้พากันโยนิโสมนสิการ กำหนดจดจำ นำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนของตน ให้เป็นไปในศีล เป็นไปในธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่นี้ต่อไป พวกท่านทั้งหลายจะประสบแต่ความสุข ความเจริญงอกงาม ดังได้แสดงมา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้