ธรรมะบ้าง อย่าได้มัวแต่ไปเที่ยวกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกบ้าน มองเข้ามาข้างในบ้าน รอบข้างตัวเรา มีแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ซึ่งมีชีวิตอยู่ สามารถพูดคุยกับเราได้ สนทนากับเราได้ ให้พรแก่เราได้ ให้อภัยเราได้เสมอ
พุทธภาษิต เกี่ยวกับมารดาบิดา
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีพระพรหม.
ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีเทวดาคนแรก.
ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีอาจารย์คนแรก.
ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีบุคคลผู้ควรนำของมาบูชา.
คำว่า พระพรหม คำว่า บูรพเทวดา (เทวดาคนแรก) คำว่าบูรพาจารย์ (อาจารย์คนแรก) คำว่า อาหุเนยยะ (ผู้ควรนำของมาบูชา) เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้คุ้มครองเลี้ยงดูบุตร แสดงโลกนี้แก่บุตร.”
อิติวุตตก ๒๕/๓๑๓
ในพุทธภาษิตนี้ ไม่มีคำว่า มารดาบิดาเป็นพระอรหันต์นะ มีแต่คำว่า อานุเนยยะ ซึ่งเป็นคุณบททั่วไปของพระอรหันต์ หมายความว่า พระอรหันต์เป็น อาหุเนยยะ (ผู้ควรนำของมาบูชา) แต่ผู้ที่เป็นอาหุเนยยะ (ผู้ควรนำของมาบูชา) ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทุกคนหรอก
วิธีบูชาพระคุณแม่ ในทางโลกแต่ก็ถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรม
ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ตามกำลังความสามารถเรา
พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราต้องเลี้ยงตอบแทนบุญคุณของท่านทั้งสอง ตามฐานะ ตามกำลังที่เราสามารถทำได้ เลี้ยงด้วยทรัพย์สินที่เรามี ไม่ว่าจะแบ่งเงินทองที่เราได้มาให้แก่ท่าน จัดหาสิ่งที่ดีมีประโยชน์สำหรับท่าน
ช่วยประหยัดรายจ่าย
พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาดูแลเลี้ยงดูลูก ๆ ทุกคนให้เติบใหญ่ หากเรายังไม่สามารถตอบแทนบุญคุณของท่านได้ด้วยการหาเงินและสิ่งของมาเลี้ยงดูท่านได้ การประหยัดไม่ทำให้ทรัพย์สินของท่านสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการตอบแทนพระคุณของท่านไว้ได้
รักษาวงศ์ตระกูลของท่านไว้
รักษาวงศ์ตระกูลของท่านไว้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านชื่อเสียงอันดีงาม หรือรักษาทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ไว้ให้คงอยู่หรือทำให้ทรัพย์นั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้น
ดูแลท่านยามป่วยไข้หรือแก่เฒ่า
เมื่อพ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ให้หาหยูกยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยไข้นั้น พาท่านไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตัว ให้สมกับที่ท่านได้เลี้ยงเรามา แม้ยามแก่เฒ่าก็ต้องดูแลท่านจนกว่าชีวิตจะหาไม่
รักษาความสามัคคีในหมู่ญาติพี่น้อง
รักษาความสัมพันธ์สามัคคีอันดีงามระหว่างพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน แต่ถ้าทะเลาะกันแล้ว พี่น้องสมควรให้อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีข้าวปลาอาหารการกินหรือสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรที่จะเผื่อแผ่แบ่งปันกันตามสมควร เมื่อถึงวันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ วันครอบครัว พี่น้องควรมารวมกันที่บ้านแม่
ทำบุญอุทิศให้เมื่อท่านล่วงลับ
ในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราได้ตอบแทนพระคุณท่านอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อท่านได้ล่วงลับจากเราไปแล้ว แม้จะนานแค่ไหนก็ตาม เราควรหมั่นระลึกถึงบุญคุณของท่าน เมื่อมีการ ทำบุญ ให้ทาน หรือสวดมนต์ไหว้พระก็ตาม แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่าน ทำความดีหรือบุญใด ๆ ก็ตามควรที่จะได้อุทิศให้ท่านก่อน
การตอบคุณพระคุณพ่อแม่ในทางธรรม
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้ง ๒ ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่ อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย
ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดา บิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา ฯ
สรุปความก็คือบุตรพึงบำรุงมารดาบิดาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในทางธรรม ด้วยให้ตั้งมั่นใน ศรัทธา ศีล การบริจาคทาน และปัญญา
๑. หากบิดามารดาเป็นผู้ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็จงชักนำท่านให้เกิดความศรัทธา
๒. หากบิดามารดา เป็นผู้ไม่มีศีล ก็จงชักนำท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล
๓. หากบิดามารดาเป็นผู้ตระหนี่ถี่เหนียว ก็จงชักนำท่านให้บริจาคทานหรือการสละทรัพย์ต่าง ๆ
๔. หากบิดามารดาเป็นผู้ขาดปัญญา ก็จงชักนำท่านให้ทำสมาธิภาวนา เพื่อให้ท่านเกิดปัญญา