ในบุญพิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญเลี้ยงพระ การถวายสังฆทาน ท้ายสุดของพิธีการทำบุญนั้น ๆ คือการรับพรจากพระสงฆ์ ซึ่งโดยปกติพระท่านจะกล่าวคำขึ้นต้นว่า ยะถา วาริวะหา ปูรา พระสงฆ์ทั้งนั้นรับพร้อมกันว่า สัพพีติโย วิวัชชันตุ….จบที่…อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง คือบทที่พระสงฆ์ไทยใช้ทุกงานจึงเรียกว่า สามัญญานุโมทนาคาถา บทความนี้เรามาหาที่มาที่ไปของบท ยะถา วาริวะหา ปูรา…….บท สัพพีติโย วิวัชชันตุ บท อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน ว่าแปลว่าอะไร มีที่มาอย่างไร
อนุโมทนาวิธี
อนุโมทนารัมภคาถา
ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา
มะณิ โชติระโส ยะถา…..
คำแปล
ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด
ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น
ขออิทธิผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน
ขอความดำริทั้งปวงจงบริบูรณ์ เหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ (และ) เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว
สามัญญานุโมทนาคาถา
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภวะ
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ฯ
คำแปล
ความจัญไร ทั้งปวง จงบำราศไป โรคทั้งปวงของท่านจงหาย
อันตรายทั้งปวง จงอย่ามีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุขและมีอายุยืน
ธรรมะ ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์
แต่ละบทมีที่มาอย่างไร
ยะถา วาริวะหาปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ
บทนี้เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาใน ติโรกุฑฑสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ภาษาบาลี อักษรไทย พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ สุตฺต. ขุ. ขุทฺทกปาฐ-ธมฺมปทคาถา-อุทานํ-อิติวุตฺตก-สุตฺตนิปาตา
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา
มะณิ โชติ ระโส ยะถา
บทนี้มาใน ประวัติพระอนุรุทธเถระ หรือ อนุรุทฺธตฺเถรวตฺถุ อรรถกถาเล่มที่ ๑๔ ภาษาบาลีอักษรไทย องฺ.อ. (มโนรถ.๑) ข้อที่ ๑๙๒ เป็นคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอนุโมทนาแก่นายอันนภาระผู้ถวายภัตตาหาร
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภวะ
บทนี้ผมยังไม่พบที่มาในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เข้าใจว่าพระอาจารย์ทั้งหลายแต่งขึ้นในภายหลัง นอกจากใช้ในสามัญญานุโมทนาคาถา ยังนิยมสวดต่อท้าย อาฏานาฏิยะปะริตตัง แต่อย่างไรก็ตามท่านน่าจะได้ต้นแบบมาจาก สุเมธกถา ว่าด้วยสุเมธดาบส ในช่วงที่เทวดาได้กล่าวชื่นชมสรรเสริญสุเมธดาบส พระโพธิสัตว์ผู้ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรว่าในอีกสี่อสงไขยแสนกัปป์จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระพุทธโคดม
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ฯ
บทนี้เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า พบใน เรื่องอายุวัฒนกุมาร หรือ อายุวฑฺฒนกุมารวตฺถุ อรรถกถาเล่มที่ ๒๑ ภาษาบาลีอักษรไทย ธ.อ.๔ ปณฺฑิต-สหสฺสวคฺค.
จากที่ผมได้รวบรวมบท ยะถา วาริวะหา ปูรา…….บท สัพพีติโย วิวัชชันตุ บท อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จะเห็นว่าแต่ละบทนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน บางบทมาในพระไตรปิฎก บางบทมาในอรรถกถา บางบทพระอาจารย์ท่านประพันธ์ขึ้น แต่ก็เป็นความฉลาด รอบรู้ของครูอาจารย์ทั้งหลายที่ได้นำบทคาถาจากที่ต่าง ๆ มารวมกันจนได้เนื้อความที่เกี่ยวข้องกันเหมาะแก่การนำมาอนุโมทนา
สรุปจากที่มา
บท ยะถา วาริวะหา ปูรา…… และบท อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน…..เป็นพุทธพจน์ เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า
บท อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ…. เป็นคำกล่าวอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้า
บท สัพพีติโย วิวัชชันตุ….เป็นคำประพันธ์ของพระเถระยุคหลังโดยนำข้อความมาจากพระไตรปิฎกมาตัดแต่งใหม่ให้เหมาะสมต่อบุคคล (ไม่ผิดเพราะตัดแต่งแล้วไม่ได้อ้างว่าเป็นข้อความในพระไตรปิฎกหรือพุทธพจน์)
อีกบทความหนึ่งที่ให้ข้อมูลน่าสนใจ โพสต์โดย khampan.a ยถา วาริวหา คืออะไร
คำค้น
ยะถา วาริวะหา มีที่มาอย่างไร มาจากคัมภีร์ไหน
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง มีที่มาอย่างไร มาจากคัมภีร์ไหน
สัพพีติโย วิวัชชันตุ มีที่มาอย่างไร มาจากคัมภีร์ไหน
อะภิวาทะนะสีลิสสะ มีที่มาอย่างไร มาจากคัมภีร์ไหน