พระอาจารย์และคณะได้ไปเจริญพระพุทธมนต์ฉันภัตตาหารเช้าในการทำบุญเนื่องในงานแต่งงาน เมื่อเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว พิธีกรก็ประกาศว่าขอเชิญคู่บ่าวสาวเสิร์ฟอาหารพระ…………
เมื่อท่านกลับมาที่วัดท่านจึงได้เมตตาอธิบายคำว่า เสิร์ฟ และ ประเคน ต่างกันอย่าง ควรใช้แบบไหน (ตอนที่ท่านเล่าอาจจะไม่ละเอียดมากนัก ผมเขียนอธิบายเสริมเข้ามาในบทความนี้)
เสิร์ฟ เป็นคำมาจากภาษาต่างประเทศ หมายถึง การยกอาหารหรือเครื่องดื่มมาบริการ เช่น บริกรเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้า ซึ่งการเสิร์ฟนี้ ไม่จำเป็นต้องส่งให้ถึงมือ เพียงแต่นำมาวางไว้บนโต๊ะหรือวางไว้ใกล้ ๆ ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว
การประเคน หมายถึงการถวายของ, การส่งของให้พระถึงมือ ของที่ประเคนนั้นต้องไม่ใหญ่หรือหนักจนคนเดียวยกไม่ได้
การประเคนต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ ได้แก่
1. ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ 2. ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง 3. เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ 4. น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย 5. ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ เช่น
จากองค์ประกอบของการประเคนทั้ง 5 ประการนี้ พออธิบายเพิ่มเติมได้ว่า
- ต้องมีการยกสิ่งของที่ประเคนขึ้นพอประมาณ โบราณว่าให้ยกขึ้นพอให้แมวลอดได้ (สมัยก่อนแมวคงมีอยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก จึงมีการใช้แมวมาเปรียบเทียบ แต่ก็ใช้ได้)
- ผู้ประเคนต้องขยับเข้ามาใกล้พระพอประมาณ ไม่ไกลเกินไปจน
- น้อมสิ่งที่จะประเคนเข้ามา ต้องน้อมหรือใช้มือทั้งสองยื่นประครองสิ่งที่จะประเคนเข้ามาหาพระ อย่าให้พระต้องเอื้อมมือไปหยิบหรือเหมือนพระไปหยิบเองจากมือผู้ประเคน
- น้อมสิ่งที่ประเคนด้วยกาย ได้แก่ใช้มือจับน้อมสิ่งนั้นเข้ามา ด้วยสิ่งเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักข้าวใส่บาตรในเวลาพระเดินบิณฑบาต อย่างนี้ก็เรียกว่าประเคนได้เช่นกัน
- พระใช้มือรับเรียกว่ารับด้วยกาย พระใช้สิ่งอื่นรับ เช่น ใช้บาตรรับในเวลาบิณฑบาต หรือใช้ผ้ารับในเวลาผู้หญิงเข้ามาประเคนของพระ
วิธีประเคน ตามลักษณะองค์ 5
นั่งหรือยืนห่างจากพระประมาณ 1 ศอก จับของที่จะประเคนด้วยมือทั้งสอง ยกให้สูงพ้นพื้นเล็กน้อย แล้วน้อมประเคนด้วยความเคารพ ถ้าเป็นบุรุษ พระจะรับด้วยมือทั้งสอง ถ้าเป็นสตรี พระจะทอดผ้าสำหรับประเคนออกมารับ พึงวางของบนผ้านั้นแล้วปล่อยมือ เมื่อประเคนเสร็จแล้วพึงกราบหรือไหว้แล้วแต่กรณี
สรุปความแตกต่างระหว่าง เสิร์ฟ และ ประเคน
- เสิร์ฟ ไม่จำเป็นต้องส่งให้ถึงมือ แต่ ประเคนต้องส่งให้ถึงมือ
- เสิร์ฟ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหัตถบาส แต่การประเคนต้องอยู่ในหัตถบาส
- เสิร์ฟ อาจจะแค่วางไว้ แต่ประเคนต้องมีการน้อมเข้ามา
- เสิร์ฟ ผู้รับจะใช้มือรับหรือให้วางไว้บนโต๊ะก็ได้ (โดยมากก็วางไว้บนโต๊ะ) แต่การประเคน พระผู้รับต้องรับด้วยมือ หรือใช้สิ่งอื่นรับ เช่น บาตร หรือ ผ้า
- การประคนนั้น เป็นหนึ่งในพระวินัยของพระ ซึ่งพระจะฉันสิ่งใด ๆ โดยไม่ประเคนนั้นไม่ได้ ยกเว้นน้ำเปล่า
เพื่อเป็นการปฏิบัติให้ถูก เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์และพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จึงควรใช้คำให้ถูกที่มีความชัดเจนกว่า เจาะจงกว่า ควรใช้คำว่า “ประเคน”