เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 มีพระรูปหนึ่งนามว่า พระธรรมกร ฐานธัมโม วัย 68 ปี เจ้าสำนักภูหินกองบนเขาภูพาน บ้านนาแค ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ได้ลาสิกขาบทกลับมานุ่งขาวห่มขาวแล้วใช้เครื่องกิโยติน ตัดคอตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นการถวายหัวเป็นพุทธบูชาแด่พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันคล้ายวันเกิดของตน
จากเหตุการณ์นี้หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อที่ได้รับมาจากคัมภีร์อนาคตวงศ์ เป็นหนังสือที่ว่าด้วยวงศ์ของพระพุทธเจ้าองค์จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล ๑๐ พระองค์
คัมภีร์อนาคตวงศ์มีอยู่ 2 ฉบับ (ไม่แน่ใจว่าฉบับแบบพม่ามีไหม) ฉบับแรกเป็นภาษาบาลีกวีนิพนธ์มีความยาว 142 คาถา ( 1 คาถามีประมาณ 32 พยางค์) โดยพระกัสสปเถระชาวอินเดียใต้ (ไม่ใช่พระมหากัสสปะสมัยพุทธกาล) ผู้มีชีวิตราว พ.ศ. 1703-1773 เนื้อหาเล่าว่าพระโคตมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าให้พระสารีบุตรฟังถึงพระศรีอริยเมตไตรยที่จะมาตรัสรู้ในภายหน้า คัมภีร์อนาคตวงศ์นี้น่าจะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนพระอุปติสสเถระพระภิกษุชาวลังกาได้รจนา “อมตรสธารา” ขึ้นอีก 2 ฉบับ เป็นอรรถกถาและฎีกา อย่างละฉบับ เพื่อขยายความคัมภีร์อนาคตวงศ์ที่พระกัสสปเถระแต่งไว้
คัมภีร์อนาคคตวงศ์ฉบับที่สองเป็นวรรณคดีแบบร้อยแก้ว (ผมไม่ทราบข้อมูลว่าแต่งเป็นภาษาอะไร น่าจะเป็นภาษาไทย) ถูกประพันธ์ขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ไม่ทราบผู้แต่ง เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระสารีบุตรฟังถึงพระพุทธเจ้า 10 พระองค์ในอนาคต สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ “ทสโพธิสัตตุปปัตติกถา” ของลังกาที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน
คัมภีร์อนาคตวงศ์ ฉบับร้อยแก้ว ฉบับที่พบในประเทศไทย แบ่งเนื้อหาออกเป็น 10 อุเทศ ดังนี้
อุเทศที่ 1 เรื่อง พระศรีอริยเมตไตรยสัมพุทธเจ้า
อุเทศที่ 2 เรื่อง พระรามสัมพุทธเจ้า
อุเทศที่ 3 เรื่อง พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า (พระเจ้าปเสนทิโกศล)
อุเทศที่ 4 เรื่อง พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า (พญามาร)
อุเทศที่ 5 เรื่อง พระนารทสัมพุทธเจ้า (พญาอสุรินทราหู)
อุเทศที่ 6 เรื่อง พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า (โสณพราหมณ์)
อุเทศที่ 7 เรื่อง พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า (สุภพราหมณ์)
อุเทศที่ 8 เรื่อง พระนรสีหสัมพุทธเจ้า (โตไทยพราหมณ์)
อุเทศที่ 9 เรื่อง พระติสสสัมพุทธเจ้า (ช้างธนบาล)
อุเทศที่ 10 เรื่อง พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า (ช้างปาลิไลย)
ภาพข้อความในคัมภีร์อนาคตวงศ์ ผมอ่านไม่ออก แต่ที่มาบอกว่าเป็นอักษรขอมไทย เป็นภาษาไทย-บาลี เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นคัมภีร์อนาคตวงศ์ที่พบในประเทศไทย ภาพประกอบนี้ได้จาก…อนาคตวงศ์ จากเว็บไซต์ www.sac.or.th
เนื้อหาคัมภีร์อนาคตวงศ์อักษรไทย ภาษาบาลี
เนื้อหาคัมภีร์อนาคตวงศ์ แปลไทย โดย ประภาส สุระเสน จากหนังสือ พระคัมภีร์อนาคตวงศ์ (แปลไทย)
ภาพข้อความข้างบน เป็นการกล่าวถึงพระศรีอาริย์ ผมก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าคนเขียนนำข้อมูลมาจากไหน อาจจะเป็นการสรุปมาจากคัมภีร์อนาคตวงศ์ หรืออ้างว่านั่งสมาธิรู้เห็นเองก็ได้ แต่ที่ผมนำมาประกอบบทความเพื่อให้เข้าใจว่าแม้พระโพธิสัตว์ก็เข้าสู่อบายภูมิมีนรกเป็นต้นได้เช่นกัน นั่นแสดงว่าพระโพธิ์สัตว์ก็สามารถทำอะไรผิดพลาดหรือทำอกุศลกรรมอันเป็นเหตุให้ถึงอบายภูมิได้ อย่างน้อยภูมิเดรัจฉาน หนักหน่อยก็นิรยภูมิอันได้แก่นรก ที่มา https://sites.google.com/a/sapit.ac.th/muttothai/xnakht-wngs
ผมเองยังไม่ได้ศึกษาคัมภีร์อนาคตวงศ์อย่างละเอียด เข้าใจว่าเป็นคัมภีร์ที่แสดงถึงการบำเพ็ญพระบารมีชนิดที่คนอื่นทำได้ยากยิ่งของเหล่าพระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้า แต่อย่างไรก็ตาม พระโพธิ์ก็ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า อาจจะปฏิบัติผิดปฏิบัติถูก ลองผิดลองถูก พูดผิดพูดถูกได้บ้าง บางครั้งพระโพธิสัตว์เองก็พลาดพลั้งสู่อบายภูมิก็มี (มีแต่พระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นที่ปิดประตูอบายภูมิแล้ว)
ตัวคัมภีร์เองก็อาจจะต้องการแสดงความเป็นมาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นว่าเคยเกิดเรื่องแบบนี้ เคยทำแบบนี้มาแล้ว เหมือนคราวที่พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษต้องการแสวงหาหนทางตรัสรู้ ในลำดับแรกจึงทรงกระทำตามคตินิยมของพวกนักบวชในสมัยนั้นโดยการทรมานเป็น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์(ฟัน), กดพระตาลุ (เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา(ลิ้น)ไว้ให้แน่นจนพระเสโท (เหงื่อ)ไหลโซมจากพระกัจฉะ(รักแร้) ครั้นทรงเห็นว่าการกระทำเช่นนี้มิใช่หนทางตรัสรู้จึงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะ-ปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) แม้ได้เสวยทุกข์ทรมานอย่างแรงกล้าก็มิได้ทรงย่อท้อ ครั้นทรงเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ มิใช่หนทางตรัสรู้จึงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๓ ทรงอดพระกระยาหาร ทรงผ่อนการเสวย ลดอาหารให้น้อยลง ๆ จนในที่สุดไม่เสวยเลย จนพระวรกายซูบผอมเหี่ยวแห้ง พระฉวีเศร้าหมองพระอัฐิและพระนหารุ(กระดูกและเส้นเอ็น) ปรากฏทั่วพระวรกาย แม้เสวยทุกข์ทรมานอย่างแรงกล้าก็มิได้ทรงย่อท้อ จนวันหนึ่ง ทรงอ่อนพระกำลังอิดโรยโหยหิวจนหมดสติล้มลง
แต่ทั้งหมดที่พระองค์บำเพ็ญมาก็ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการลองผิดลองถูกของพระบรมโพธิสัตว์ แต่คัมภีร์ก็ต้องบันทึกไว้ว่าพระองค์เคยทรงทำเช่นนี้มาก่อน
คัมภีร์อนาคตวงศ์ก็เช่นกัน ผู้ประพันธ์ประสงค์ที่จะให้เรารับทราบความเป็นมาของเหล่าพระโพธิสัตว์เท่านั้น ต้องการให้ทราบถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงให้เราปฏิบัติตามทั้งหมด
หากข้อความใด รูปภาพใดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โปรดแจ้งให้ทางเราได้รับทราบ ทางเราจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนนั้น ๆ และขอขอบคุณข้อมูลจากที่ต่าง ๆ ซึ่งจะได้ระบุไว้่ข้างล่างบทความนี้
รวบรวมข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/อนาคตวงศ์
https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=80
https://web.facebook.com/jijaruni/posts/749558525975821/?_rdc=1&_rdr
https://sites.google.com/a/sapit.ac.th/muttothai/xnakht-wngs
http://www.watthumpra.com/buddha3-prasuti/prasuti29-tookkarakiriya.html