วรรณกรรมท้องถิ่นอีสานมีอยู่มากมาย และมีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป เนื่องจากมีการผสมผสานกับคติความเชื่อ และความเป็นมาเมื่อสมัยโบราณเข้าไปด้วย ทำให้วรรณกรรมท้องถิ่นแต่ละเรื่อง สื่อให้เห็นถึงประเพณีและความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ ไปด้วย วันนี้เรามีวรรณกรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจอีกหนึ่งเรื่องมาเล่าให้ฟัง นั่นคือ เรื่องตำนานท้าวกำพร้าผีน้อย จะน่าสนใจแค่ไหนนั้น ตามไปดูกันเลย
ตำนานท้าวกำพร้าผีน้อย
เรื่องท้าวกำพร้าผีน้อยนี้ ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื่องจากเชื่อว่าเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่จุติลงมาเกิด ณ เมืองอินทปัตย์ ซึ่งต้องมาเกิดเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก อีกทั้งต้องตกระกำลำบากเป็นขอทานเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ด้วยความเป็นคนขยัน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ จึงทำให้เป็นเด็กที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยการหาเลี้ยงชีพด้วยการขอทานนั้น บางคนก็เมตตาให้ทาน บางคนก็รังเกียจและกลั่นแกล้งก็มีเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของท้าวกำพร้าผีน้อย
ในเมืองแห่งหนึ่งชื่อเมืองอินทปัตย์ มีเด็กน้อยกำพร้าพ่อแม่คนหนึ่ง ใช้ชีวิตและเลี้ยงชีพของตนเองด้วยการขอทานกิน กระทั่งเติบโตเป็นหนุ่ม แล้วจึงออกจากเมืองเพื่อมาทำไร่ทำนาในที่แห่งหนึ่ง เมื่อปลูกพืชไว้เจริญงอกงามจะมีสัตว์ต่างๆ มากิน แม้เขาจะไล่อย่างไรก็ไม่สามารถไล่ให้หมดไปได้ หรือแม้แต่จะเอาอะไรมาดักสัตว์ก็ขาดไปทั้งหมด เขาจึงไปขอสายไหมจากย่ากำสวน ซึ่งเป็นคนสวนของพระราชา มาดักทำให้เขาสามารถจับช้างได้ เมื่อช้างโดนจับและกลัวความตายจึงร้องขอชีวิต และบอกว่าจะให้ของวิเศษคือ งาข้างหนึ่ง ช้างตัวนั้นจึงถอดงาให้ท้าวกำพร้าหนึ่งข้าง
ท้าวกำพร้าผีน้อย นำงาช้างมาไว้ที่บ้านของตน
ท้าวกำพร้าผีน้อยได้ปล่อยช้างเชือกนั้นไป และได้นำงาช้างข้างหนึ่งที่ได้มานั้น กลับมาเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง ต่อมาเขาดักได้เสือ เสือก็กลัวเขาและยอมเป็นลูกน้อง โดยบอกว่าหากมีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นเขาจะมาช่วยเหลือ หลังจากนั้นดักได้อีเห็น อีเห็นก็ยอมเป็นลูกน้อง รวมทั้งจับได้พญาฮุ้งหรือนกอินทรีย์ พญาฮุ้งก็ยอมเป็นลูกน้องเช่นกัน และตัวสุดท้ายคือผีน้อย ที่มาขโมยกินปลาหน้าไซ ผีน้อยก็ยอมเป็นลูกน้องเช่นกัน และนั่นคือที่มาของคำว่าท้าวกำพร้าผีน้อย ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี
ได้พบนางสีดาและอยู่กินเป็นสามีภรรยา
เมื่อท้าวกำพร้าผีน้อยได้เอางาช้างมาไว้ที่บ้านระยะหนึ่ง จึงเกิดความแปลกใจและสงสัย เพราะมักจะมีคนมาทำอาหารไว้ให้ตนเองอยู่ตลอด เมื่อท้าวกำพร้าผีน้อยรู้ว่ามีหญิงคนหนึ่งชื่อนางสีดา อาศัยอยู่ในงาช้างนั้นซึ่งเป็นผู้คอยทำอาหารเตรียมไว้ให้ เขาจึงได้ทุบงาช้าง เพื่อไม่ให้นางสีดาหลบเข้าไปอยู่ในนั้นอีก นางสีดาจึงอยู่กินเป็นสามีภรรยากับท้าวกำพร้าผีน้อยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ท้าวกำพร้าผีน้อยไม่ได้ไปขอทาน
ท้าวกำพร้าผีน้อยไม่ได้เข้าไปขอทานในหมู่บ้านเป็นระยะเวลานานแล้ว ชาวบ้านจึงเกิดความสงสัย และได้พากันมาซุ่มแอบดูที่กระท่อม จึงได้เห็นนางสีดาผู้มีความงดงาม ชาวบ้านต่างพากันตกตะลึงในความงาม และได้เล่าขานต่อกันไปเกี่ยวกับรูปโฉมงดงามของนางสีดา กระทั่งรู้ไปถึงพระยาพิมพ์ทอง เจ้าผู้ครองนครเมืองอินทปัตย์ ซึ่งเป็นผู้มีนิสัยอันธพาล จึงต้องการอยากเห็นว่างดงาม ดั่งเช่นชาวบ้านเล่าลือหรือไม่
พระราชามีใจรักต่อนางสีดา
กระทั่งเมื่อพระราชาได้มีโอกาสเห็นนางสีดา ก็บังเกิดเป็นความรักใคร่ และอยากได้นางมาเป็นคู่ครองของตนเอง แต่เกรงว่าตนเองจะได้รับการติฉินนินทาหากไปแย่งมา ดังนั้น จึงท้าแข่งขันกับท้าวกำพร้าผีน้อย หากแพ้ต้องมอบนางสีดาให้กับพระราชา และหากพระราชาแพ้จะยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง โดยมีการแข่งขันชนวัว ชนไก่ และการแข่งเรือ ผลปรากฎว่าท้าวกำพร้าผีน้อยชนะทุกครั้ง เนื่องจากวันที่ชนวัวนั้นเสือได้แปลงร่างมาช่วย วันที่ชนไก่อีเห็นก็แปลงร่างมาช่วยกัดไก่ของพระราชาตาย เมื่อถึงวันแข่งเรือพญาฮุ้งแปลงเป็นเรือและได้ทำให้เรือล่ม จากนั้นได้กินคนทั้งหมด
วิญญาณของพระราชาร่วมมือกับบ่างลั่ว
เมื่อพระราชาตายแล้วก็ได้ร่วมมือบ่างลั่วตัวหนึ่ง โดยให้บ่างลั่วเรียกวิญญาณนางสีดา ซึ่งการเรียกวิญญาณของนางสีดาครั้งแรกทำให้นางไม่สบาย ครั้งที่ 2 สลบไป ครั้งที่ 3 นางสีดาจึงตาย และวิญญาณได้มาอยู่กับวิญญาณผีพระราชา ส่วนท้าวกำพร้าได้ปรึกษากับผีน้อยเกี่ยวกับเรื่องนางสีดา ผีน้อยจึงบอกท้าวกำพร้าว่าอย่าเพิ่งเผา เดี๋ยวจะตามลงไปดูว่าวิญญาณของนางว่าอยู่ที่ใด จากนั้นจึงตามไปดูและทำให้ผีน้อยรู้เรื่องทั้งหมด
ผีน้อยตีสนิทกับบ่างลั่ว
เมื่อรู้เหตุการณ์เกี่ยวกับวิญญาณของนางสีดาแล้ว ผีน้อยจึงวางแผนในการจับบ่างลั่วตัวนั้น โดยสานข้องใส่ปลาด้วยไม่ไผ่ แล้วให้บ่างลั่วเข้าไปข้างใน และจึงให้ยันดูว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้ข้องแตก ต่อจากนั้นจึงใช้ลวดสานแทนเพื่อให้บ่างลั่วยันดู ปรากฎว่าคราวนี้ข้องไม่แตก จึงรีบหาฝามาปิด และนำบ่างลั่วไปให้ท้าวกำพร้าเพื่อให้เรียกวิญญาณนางสีดากลับมา โดยการเรียกครั้งแรกมีการเคลื่อนไหว ครั้งที่ 2 ฟื้นขึ้น และครั้งที่ 3 มีลมหายใจกลับมาเป็นปกติทุกอย่าง
ท้าวกำพร้าผีน้อยตัดลิ้นบ่างลั่ว
เมื่อทุกอย่างเป็นปกติแล้ว ท้าวกำพร้าผีน้อยจึงหลอกขอดูลิ้นที่ใช้ในการเรียกวิญญาณคน ซึ่งบ่างลั่วได้แลบลิ้นออกมาให้ดู ท้าวกำพร้าผีน้อยจึงตัดลิ้นบ่างลั่วตัวนั้น เนื่องจากกลัวว่าจะไปร้องเอาวิญญาณของนางสีดาไปอีก ทำให้บ่างลั่วร้องไม่ชัดตั้งแต่นั้นมา ต่อจากนั้นมาท้าวกำพร้าผีน้อยก็ได้อยู่กับนางสีดา และปกครองเมืองแทนพระราชาที่ตายไปแล้วอย่างสงบสุข วรรณกรรมเรื่องท้าวกำพร้าผีน้อย ถือว่าเป็นวรรณกรรมอีสานที่มีการสอดแทรกเรื่องกรรม บาปบุญคุณโทษ ใครทำกรรมอะไรไว้ย่อมได้รับผลอย่างนั้น รวมทั้งความเชื่อเรื่องภพชาติตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาด้วย จึงควรช่วยกันรักษาวรรณกรรมเรื่องนี้ให้สืบต่อยังคนรุ่นหลังตลอดไป